บาลีวันละคำ

อนิจจัง (บาลีวันละคำ 2,649)

อนิจจัง

พระพุทธเจ้าไม่ได้สั่งให้มันไม่เที่ยง

อนิจจัง” (อะ-นิด-จัง) เป็นคำพูดติดปากคนไทย คำนี้บาลีเป็น “อนิจฺจ” (อะ-นิด-จะ) รากศัพท์มาจาก (ไม่, ไม่ใช่) + นิจฺจ

นิจฺจ” (นิด-จะ) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สิ่งที่ไม่เป็นไปตามสภาพ” คือ “ตามสภาพ” แล้ว สิ่งทั้งหลายจะต้องไม่คงทนยั่งยืน สิ่งใดเป็น “นิจฺจ” ก็หมายความสิ่งนั้น “ไม่เป็นไปตามสภาพ

(2) “สิ่งที่ไม่ถึงความพินาศ” คือไม่เปลี่ยนไปจากสภาพเดิม ถ้าเปลี่ยน ก็คือสภาพเดิม “พินาศ” ไป

(3) “สิ่งที่นำไปสู่ความเที่ยง” ความเที่ยงอยู่ที่ไหน ก็นำไปสู่ที่นั่น ดังนั้น ที่นั่นจึงเรียกว่า “นิจฺจ

นิจฺจ” มีความหมายว่า เสมอไป, สมํ่าเสมอ, ต่อเนื่องกันไป, ถาวร (constant, continuous, permanent)

+ นิจฺจ แปลง “” (นะ) เป็น “” (อะ) ตามสูตรที่ว่า ถ้าคำที่ ไปสมาสด้วยขึ้นด้วยสระ ให้แปลง เป็น “อน” (อะ-นะ) ถ้าขึ้นด้วยด้วยพยัญชนะ ให้แปลง เป็น

ในที่นี้ “นิจฺจ” ขึ้นต้วยพยัญชนะ จึงแปลง เป็น

: + นิจฺจ = นนิจฺจ > อนิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “ไม่เที่ยง” หมายถึง ไม่ถาวร, ไม่คงที่ (unstable, impermanent, inconstant) ความไม่ยั่งยืน, ความไม่คงทน, ความไม่ถาวร (evanescence, inconstancy, impermanence)

อภิปรายขยายความ :

อนิจจัง” เป็นคำที่เราพูดกันติดปาก แต่ศัพท์วิชาการจริงๆ ท่านเรียกว่า “อนิจจตา” แปลว่า “ความเป็นของไม่เที่ยง

ถ้าพูดให้ครบชุดตามหลักธรรม จะมี 3 หัวข้อ เรียกว่า “ไตรลักษณ์” (ไตฺร-ลัก, = ลักษณะทั้งสาม: the Three Characteristics) หรือ “สามัญลักษณ์” (สา-มัน-ยะ-ลัก, = ลักษณะที่มีทั่วไปเป็นธรรมดา: the Common Characteristics) กล่าวคือ –

(1) อนิจจตา (อะ-นิด-จะ-ตา) = ความเป็นของไม่เที่ยง (impermanence; transiency)

(2) ทุกขตา (ทุก-ขะ-ตา) = ความเป็นทุกข์ (state of suffering or being oppressed)

(3) อนัตตตา (อะ-นัด-ตะ-ตา) = ความเป็นของไม่ใช่ตน (soullessness; state of being not self)

ในพระไตรปิฎกเรียกธรรมะชุดนี้ว่า “ธรรมนิยาม” (ทำ-มะ-นิ-ยาม) ข้อความที่สมบูรณ์ตามสูตรท่านว่าไว้ดังนี้ –

(1) สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา (สัพเพ สังขารา อะนิจจา) = สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง (all conditioned states are impermanent)

(2) สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา (สัพเพ สังขารา ทุกขา) = สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวงเป็นทุกข์ (all conditioned states are subject to oppression, conflict or suffering)

(3) สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา (สัพเพ ธัมมา อะนัตตา) = ธรรมคือสังขตธรรมและอสังขตธรรม หรือสังขารและวิสังขารทั้งปวงไม่ใช่ตน (all states are not-self or soulless)

(หลักคำและความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต)

พูดเป็นชุดด้วยคำสั้นๆ ตามที่คนไทยคุ้นปากว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”

…………..

ระวังอย่าเผลอพูดว่า “เพราะพระพุทธศาสนาสอนเรื่องอนิจจัง อะไรๆ มันก็เลยไม่เที่ยงไปหมด อะไรๆ มันก็เลยต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ”

พูดแบบนี้ ก็จะมีคนเข้าใจไปว่า ความไม่เที่ยงหรือความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นก็เพราะเหตุที่พระพุทธศาสนาไปสอนเอาไว้

ถ้าพระพุทธศาสนาไม่สอนเรื่องอนิจจัง ความไม่เที่ยงหรือความเปลี่ยนแปลงมันก็จะไม่เกิด

ประเด็นที่ควรทำความเข้าใจให้ตรงกับความเป็นจริงก็คือ หลักอนิจจัง (รวมทั้งทุกขัง อนัตตา) นี้ เป็นสัจธรรมประจำโลก พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม พระพุทธศาสนาจะสอนหรือไม่สอนก็ตาม หลักอนิจจังก็คงมีอยู่เป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงค้นพบและนำมาเปิดเผยแสดงแก่ชาวโลกเท่านั้น

พระพุทธเจ้าไม่ได้ไปสั่งหรือสอนให้มันเป็นอนิจจัง

มันเป็นอนิจจังตามธรรมชาติธรรมดาของมันเอง

อย่าโทษพระพุทธเจ้าหรือโทษพระพุทธศาสนา

อันที่จริงควรจะต้องขอบคุณพระพุทธเจ้าที่ทรงค้นพบหลักอนิจจังแล้วนำมาตรัสบอกแก่ชาวโลก คนที่พอมีสติปัญญาอยู่บ้างจะได้รู้ตัวและรู้ทัน แล้วกำหนดท่าทีของตนได้ถูกต้องว่า เมื่ออนิจจังเกิดขึ้น ควรทำอย่างไรหรือไม่ควรทำอย่างไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

ความเสื่อมของศาสนาเป็นอนิจจัง

: รู้ทันมัน

: แต่ไม่จำเป็นต้องเสื่อมไปกับมัน

#บาลีวันละคำ (2,649)

13-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย