นิคหิต (บาลีวันละคำ 2,664)
นิคหิต
เครื่องหมายหลายชื่อ
อ่านว่า นิก-คะ-หิด
“นิคหิต” บาลีเป็น “นิคฺคหีต” (นิก-คะ-ฮี-ตะ) รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + คหฺ (ธาตุ = จับ, ถือเอา) + ต ปัจจัย, ลง อิ อาคม ระหว่างธาตุกับปัจจัย แล้วทีฆะ อิ เป็น อี (คหฺ + อิ + ต > คหีต), ซ้อน คฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + คฺ + คหฺ)
: นิ + คฺ + คหฺ = นิคฺคหฺ + อิ + ต = นิคฺคหิต > นิคฺคหีต แปลตามศัพท์ว่า (1) “อักษรที่ออกเสียงได้โดยอาศัยสระเสียงสั้น” (2) “อักษรที่ออกเสียงได้โดยกดกรณ์ไว้ไม่อ้าปาก”
บาลี “นิคฺคหีต” ไทยใช้เป็น “นิคหิต”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิคหิต : (คำโบราณ) (คำนาม) ชื่อเครื่องหมายรูปดังนี้ ํ ในภาษาบาลีและสันสกฤตมีเสียงอ่านเหมือนตัว ง และ ม สะกด ในภาษาไทยก็อนุโลมใช้ตาม เช่น จํหัน อ่านว่า จังหัน ชุํนุํ อ่านว่า ชุมนุม, นฤคหิต หรือ หยาดนํ้าค้าง ก็เรียก. (ป. นิคฺคหีต; ส. นิคฺฤหีต).”
จับหลักความรู้เบื้องต้นว่า เครื่องหมายที่เรียกว่า “นิคหิต” นี้ มีชื่อเรียกอีก 2 คำ คือ “นฤคหิต” (นะ-รึ-คะ-หิด) และ “หยาดนํ้าค้าง”
ในที่นี้ใช้รูปคำที่อิงบาลี คือ “นิคหิต”
ขยายความ :
“นิคหิต” คือเครื่องหมายวงกลมเขียนไว้บนพยัญชนะ บางคนเรียกเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “จุดบน” (คู่กับ “จุดล่าง” คือเครื่องหมายพินทุ เขียนไว้ใต้พยัญชนะ ทำให้พยัญชนะตัวนั้นเป็นตัวสะกด ถ้าเป็นพยัญชนะตัวแรกของคำ ทำให้พยัญชนะตัวนั้นออกเสียงกึ่งเสียง)
ความจริง “นิคหิต” ไม่ใช่ “จุด” แต่เป็นวงกลมเล็ก
กฎการออกเสียงพยัญชนะที่มีนิคหิตอยู่ข้างบน มีดังนี้ –
(1) กรณีปกติ ออกเสียงเท่ากับเสียงพยัญชนะตัวนั้น + อัง เช่น –
สํ = ส + อัง อ่านว่า สัง
นํ = น + อัง อ่านว่า นัง
มํ = ม + อัง อ่านว่า มัง
(2) กรณีที่พยัญชนะตัวนั้นมีสระ อิ กำกับอยู่ และมีนิคหิตด้วย สระ อิ มีค่าเท่ากับ + ง : อิ + ง = อิง
ในภาษาไทยอนุโลมใช้สระ อึ เพื่อความสะดวก แต่พึงทราบว่านั่นไม่ใช่สระ อึ หากแต่คือ สระ อิ + นิคหิต หรือ อิ + ง = อิง เช่น –
“หึ” สระบน ห ไม่ใช่สระ อึ แต่คือสระ อิ + นิคหิต หรือ อิ + ง ดังนั้น หึ จึงเท่ากับ หิ + ง อ่านว่า หิง ไม่ใช่ หึ อย่างเสียงหัวเราะหึๆ ในภาษาไทย
คำที่เราคุ้นหู เช่น “อหึสก” อ่านว่า อะ-หิง-สะ-กะ ไม่ใช่ อะ-หึ-สะ-กะ
(3) กรณีที่พยัญชนะตัวนั้นมีสระ อุ กำกับอยู่ (มีสระ อุ อยู่ข้างใต้) และมีนิคหิตอยู่ข้างบนด้วย สระ อุ มีค่าเท่ากับ + ง : อุ + ง = อุง เช่น –
“พาหุํ” อ่านว่า พา-หุง
อภิปราย :
คำว่า “นิคหิต” (บาลี “นิคฺคหีต”) ที่แสดงรากศัพท์ไว้ข้างต้นนั้น พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า restrained, checked, rebuked, reproved (รั้งไว้, ทำให้หยุดยั้ง, ว่ากล่าว, ตำหนิ)
ไม่มีความหมายว่า “เครื่องหมายวงกลมเขียนไว้บนพยัญชนะ”
นักเรียนบาลีในเมืองไทย ท่องชื่อพยัญชนะในบาลีว่า กะ ขะ คะ ฆะ งะ … ไปจบลงที่นิคหิต คือ … ย ร ล ว ส ห ฬ ํ ท่องกันว่า ยะ ระ ละ วะ สะ หะ ฬะ อัง
ไม่ได้ท่องว่า – ยะ ระ ละ วะ สะ หะ ฬะ นิคหิต
“เครื่องหมายวงกลมเขียนไว้บนพยัญชนะ” หรือ “นิคหิต” จึงเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักเรียนบาลีว่า “อัง” บางทีก็เรียกควบกันว่า “อัง–นิคหิต”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “นิคหิต” บาลีเป็น “นิคฺคหีต” สันสกฤตเป็น “นิคฺฤหีต”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้อ้างอิงเมื่อพาดพิงคำสันสกฤต ไม่ได้เก็บคำว่า “นิคฺฤหีต” ไว้
ค้นดูในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “นิคหิต” มีบอกไว้ว่า ที่เรารียกรู้กันว่า “นิคหิต” นี้ ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า “อนุสฺวาร” (อ้างอักษรเทวนาครีว่า अनुस्वार)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อนุสฺวาร” บอกไว้ดังนี้ –
“อนุสฺวาร : (คำนาม) ‘อนุสวาร หรือ นฤคหิต,’ จุดเหนือตัวอักษร; อักษรอันมีเสียงขึ้นนาสิก; a dot above the letter; a nasal letter.”
เป็นอันว่า “นิคหิต” นี้มีหลายชื่อ คือ “นิคหิต” เป็นชื่อหลัก แล้วก็มี “นฤคหิต” “หยาดนํ้าค้าง” “อนุสวาร” และชื่อที่คนไม่คุ้นบาลีเรียกกันง่ายๆ ว่า “จุดบน” และนักเรียนบาลีท่องกันมาว่า “อัง” หรือ “อัง–นิคหิต”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หลายชื่อไม่ว่า
: แต่อย่าหลายใจ
#บาลีวันละคำ (2,664) 28-9-62