บาลีวันละคำ

อายุกัป (บาลีวันละคำ 2,665)

อายุกัป

ไม่ใช่อยู่ไปชั่วกัปชั่วกัลป์

อ่านว่า อา-ยุ-กับ

ประกอบด้วยคำว่า อายุ + กัป

(๑) “อายุ

รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น อา, แปลง ที่ ณุ เป็น อย (ณุ : + อุ : > อย + อุ = อยุ)

: อิ > อา + ณุ > อยุ : อา + อยุ = อายุ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุดำเนินไปแห่งสัตวโลก” หมายความว่า สัตวโลกดำเนินไปได้ด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นหมดลง การดำเนินไปของสัตวโลกก็หยุดลงเพียงนั้น

อายุ” หมายถึง ชีวิต, ความสามารถดำรงชีวิต, การกำหนดอายุ, ความมีอายุยืน (life, vitality, duration of life, longevity)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อายุ : (คำนาม) เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต, ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง, ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อายุใบอนุญาต ยานี้หมดอายุแล้ว, ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ เช่น อายุของหิน. (ป.; ส. อายุสฺ หรือ อายุษฺ เมื่อนําหน้าบางคํา, แต่เมื่อนําหน้าอักษรตํ่ากับตัว ห เปลี่ยน สฺ เป็น รฺ เช่น อายุรเวท, แต่ถ้าใช้อย่างบาลีก็ไม่ต้องมี ส หรือ ร).”

(๒) “กัป

บาลีเป็น “กปฺปฺ” (กับ-ปะ) รากศัพท์มาจาก กปฺปฺ (ธาตุ = กำหนด) + ปัจจัย

: กปฺปฺ + = กปฺป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น

กปฺป” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)

(2) จุดสีดำเล็กๆ (a small black dot)

(3) ทำเลศนัย (a making-up of a trick)

(4) คำสั่ง, คำสั่งสอน, กฎ, ข้อปฏิบัติ, มรรยาท (ordinance, precept, rule; practice, manner)

(5) เวลาที่แน่นอน (a fixed time); เวลาที่กำหนดไว้ชั่วกัปหนึ่ง (time with ref. to individual and cosmic life)

ในภาษาไทย คำนี้ใช้เป็น “กัป” (กับ) ตามบาลีก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “กัลป-” (กัน-ละ-ปะ-, มีคำอื่นมาสมาสท้าย) และ “กัลป์” (กัน) ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) กัป : (คำนาม) อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์มาล้างโลก, บางทีใช้เข้าคู่กับคํา กัลป์ เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ป. กปฺป; ส. กลฺป). (ดู กัลป-, กัลป์).

(2) กัลป-, กัลป์ : (คำนาม) กัป, อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์ล้างโลก ซึ่งได้แก่ช่วงเวลากลางวัน วันหนึ่งของพระพรหม คือ ๑,๐๐๐ มหายุค (เท่ากับ ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์) เมื่อสิ้นกัลป์ พระอิศวรจะล้างโลกด้วยไฟประลัยกัลป์ โลกจะไร้สิ่งมีชีวิตและอยู่ในความมืดมนจนถึงรุ่งเช้าของวันใหม่ แล้วพระพรหมก็จะสร้างโลกเป็นการขึ้นต้นกัลป์ใหม่ โลกจะถูกสร้างและถูกทำลายเช่นนี้สลับกันตลอดอายุของพระพรหม ทั้งนี้ตามคติของพราหมณ์, บางทีใช้เข้าคู่กับคํา กัป เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ส.; ป. กปฺป).

อายุ + กปฺป = อายุกปฺป (อา-ยุ-กับ-ปะ) > อายุกัป (อา-ยุ-กับ) แปลตามศัพท์ว่า “กำหนดอายุ” หมายถึง ความยาวนานของชีวิต (duration of life)

อภิปราย :

คำที่เราคุ้นกันคำหนึ่งคือ “ชั่วกัปชั่วกัลป์” ก็เป็นคำเดียวกับ “กัป” คำนี้ ความหมายที่เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือช่วงเวลาที่นานนักหนา หรือจนกว่าโลกจะแตก

แต่ควรทราบไว้เป็นหลักว่า “กัป” มี 2 อย่าง คือ –

(1) “มหากัป” หมายถึง ช่วงเวลาที่ยาวนานนักหนาจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดของสกลจักรวาล ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่า มีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ 1 โยชน์ ทุก 100 ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอเพราะการเสียดสีระหว่างหินกับผ้าจนราบเสมอพื้นดิน มหากัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น

(2) “อายุกัป” หมายถึง กำหนดอายุของสิ่งมีชีวิตในห้วงเวลาหนึ่ง เช่น อายุคนในห้วงเวลานี้คือ 100 ปี (บวก-ลบ)

คำว่า “กัป” ที่กล่าวถึงในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ถ้าไม่ระบุไว้เป็นอย่างอื่นก็จะหมายถึง “อายุกัป” เสมอ

ดังเช่นพระพุทธพจน์ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า –

…………..

ผู้ใด เจริญอิทธิบาทให้เต็มที่ถึงขนาดแล้ว –

โส  อากงฺขมาโน  อานนฺท  กปฺปํ  วา  ติฏฺเฐยฺย  กปฺปาวเสสํ  วา.

ผู้นั้น ปรารถนา (จะมีอายุยืนยาว) ก็พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัป

…………..

คำว่า “กัป” ในที่นี้หมายถึง “อายุกัป” กล่าวคือ อายุขัยของมนุษย์ในยุคนี้มีกำหนด 100 ปี ผู้ที่เจริญอิทธิบาทให้เต็มที่ถึงขนาด จะสามารถมีอายุยืนได้ถึง 100 ปี ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพอันจะเป็นเหตุให้เสียชีวิตก่อนอายุจะถึง 100 ปี

ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เจริญอิทธิบาทให้เต็มที่ถึงขนาด จะสามารถอยู่ไปได้ชั่วกัปชั่วกัลป์ ดังที่มักเข้าใจกัน

…………..

คัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถาจริยาปิฎก หน้า 12 อธิบายว่า คำว่า “กปฺป” (กัป) ในพระพุทธพจน์ดังกล่าวนั้นหมายถึง “ปรมายุ” (ปะ-ระ-มา-ยุ) แปลว่า “อายุอย่างสูง

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 157 อธิบายมหาปรินิพพานสูตร ขยายความไว้ว่า –

กปฺปนฺติ  อายุกปฺปํ.  ตสฺมึ  ตสฺมึ  กาเล  ยํ  มนุสฺสานํ  อายุปฺปมาณํ  โหติ,  ตํ  ปริปุณฺณํ  กโรนฺโต  ติฏฺเฐยฺย.

คำว่า “กปฺปํ” ได้แก่อายุกัป. หมายความว่า ในยุคสมัยนั้นๆ มนุษย์มีอายุประมาณเท่าไร ก็ดำรงชีพอยู่ได้เต็มตามอายุในยุคสมัยนั้นๆ

นี่คือความหมายของ “อายุกัป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าคิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรจึงจะอายุยืน

: แต่จงคิดทุกวันคืนว่าจะอายุยืนไปทำอะไร

#บาลีวันละคำ (2,665)

29-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย