บาลีวันละคำ

อบายภูมิ (บาลีวันละคำ 2,668)

อบายภูมิ

ไม่ใช่สุวรรณภูมิ

อ่านว่า อะ-บาย-ยะ-พูม

ประกอบด้วยคำว่า อบาย + ภูมิ

(๑) “อบาย

บาลีเป็น “อปาย” (อะ-ปา-ยะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อป (ปราศจาก, ไม่มี) + อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , แปลง อิ เป็น , ยืดเสียง อะ ที่ -(ย) เป็น อา

: อป + อิ > อย + = อปย > อปาย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้ไปปราศจากความสุข

(2) อป (ปราศจาก, ไม่มี) + อย (ความสุข, ความเจริญ, ความดี, บุญ), ยืดเสียง อะ ที่ -(ย) เป็น อา

: อป + อย = อปย > อปาย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะหรือภพภูมิที่ปราศจากความสุข” “ภาวะหรือภพภูมิที่ปราศจากความเจริญ” “ภาวะหรือภพภูมิที่ปราศจากความดี” “ภาวะหรือภพภูมิที่ปราศจากบุญ

(3) (ไม่, ไม่มี) + ปาย (ความเจริญ), แปลง เป็น

: > + ปาย = อปาย แปลตามศัพท์ว่า “ภพที่ไม่มีความเจริญ

อปาย” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การแยกออกจากกัน, ความสูญเสีย (separation, loss)

(2) การสูญหาย (เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ) (loss [of property])

(3) การรั่วไหล, การไหลออกไป (เกี่ยวกับน้ำ) (leakage, out flow [of water])

(4) การกระทำพลั้งพลาด, การพลาดพลั้งในเรื่องความประพฤติ (lapse, falling away in conduct)

(5) ภูมิชั่วคราวของความสูญเสีย และความทุกข์ร้อนภายหลังจากตายไป [คือ อบายภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานอันคนผู้ก่อกรรมชั่วจะต้องไปภายหลังจากตายไป] (a transient state of loss and woe after death)

ความหมายในทางธรรมที่เข้าใจกัน คือ ความเสื่อม, ความฉิบหาย, ภพภูมิหรือกำเนิดที่ไม่มีโอกาสเจริญบุญกุศล

อปาย” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “อบาย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อบาย, อบาย– : (คำนาม) ที่ที่ปราศจากความเจริญ; ความฉิบหาย. (ป.).”

(๒) “ภูมิ

บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย

: ภู + มิ = ภูมิ แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก

ภูมิ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน (ground, soil, earth)

(2) สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค (place, quarter, district, region)

(3) พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, plane, stage, level)

(4) สถานะของความรู้สึกตัว (state of consciousness)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ภูมิ” ไว้ 3 คำ บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) ภูมิ ๑, ภูมิ– (อ่านว่า พูม, พู-มิ-, พูม-มิ-) : (คำนาม) แผ่นดิน, ที่ดิน.

(2) ภูมิ ๒ (อ่านว่า พูม) : (คำนาม) พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้ เช่น อวดภูมิ อมภูมิ.

(3) ภูมิ ๓ (อ่านว่า พูม) : (คำวิเศษณ์) สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย, เช่น วางภูมิ.

อปาย + ภูมิ = อปายภูมิ (อะ-ปา-ยะ-พู-มิ) แปลว่า “ภพภูมิอันปราศจากความเจริญ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความ “อปายภูมิ” ไว้ว่า –

Four such states are specified purgatory (niraya), rebirth as an animal, or as a ghost, or as a Titan (Asura)

(ภูมิทั้ง 4 ที่กำหนดไว้ คือ นรก [นิรย], กำเนิดเดรัจฉาน, เปรตวิสัย, อสุรกาย [อสุร])

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลเป็นอังกฤษว่า –

Apāyabhūmi : (the four) planes of loss and woe; (the four) states of misery; (the four) lower worlds; unhappy existence.

อปายภูมิ” ในภาษาไทยใช้ว่า “อบายภูมิ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

อบาย, อบายภูมิ : ภูมิกำเนิดที่ปราศจากความเจริญ มี ๔ อย่าง คือ ๑. นิรยะ นรก ๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน ๓. ปิตติวิสัย ภูมิแห่งเปรต ๔. อสุรกาย พวกอสุรกาย.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อบายภูมิ : (คำนาม) ภูมิที่เกิดอันปราศจากความเจริญ มี ๔ คือ นรก เปรตวิสัย อสุรกายภูมิ และกําเนิดดิรัจฉาน. (ป., ส. อปาย).”

อภิปราย :

ในบรรดาอบายภูมิทั้ง 4 มีกําเนิดดิรัจฉานภูมิเดียวที่ชี้ให้กันดูได้ ส่วนอีก 3 ภูมิอยู่ในฐานะที่จะชี้ให้ดูไม่ได้

คำสอนในพระพุทธศาสนาที่ชี้ให้ดูไม่ได้เช่นนี้มีนักวิจารณ์บอกว่า ไม่ใช่ “เอหิปัสสิโก” (แปลว่า “เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด”) อันเป็นลักษณะข้อหนึ่งของพระธรรม แล้วเลยลากต่อไปอีกว่าเรื่องอย่างนี้ไม่น่าจะเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา เหตุผลมีข้อเดียวคือเรียกให้มาดูไม่ได้

ก็คงมีอีกวิธีเดียว คือ-รอให้ไปเจอด้วยตัวเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ายังไม่ได้เป็นโสดาบัน

: ก็ยังมีวันที่จะได้ไปอบายภูมิ

#บาลีวันละคำ (2,668)

2-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย