บาลีวันละคำ

อุปปาตสันติ (บาลีวันละคำ 2,669)

อุปปาตสันติ

คัมภีร์สยบภัย?

อ่านว่า อุบ-ปา-ตะ-สัน-ติ

ประกอบด้วยคำว่า อุปปาต + สันติ

(๑) “อุปปาต

เขียนแบบบาลีเป็น “อุปฺปาต” (มีจุดใต้ ปฺ ตัวหน้า) อ่านว่า อุบ-ปา-ตะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก. ในที่นี้ใช้แทนความหมายคำว่า “สุภาสุภผล” = ผลดีผลร้าย) + ปตฺ (ธาตุ = ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , ซ้อน ปฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (อุ + ปฺ + ปตฺ), ทีฆะ อะ ที่ -(ตฺ) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย

: อุ + ปฺ + ปตฺ = อุปฺปตฺ + = อุปฺปตฺณ > อุปฺปต > อุปฺปาต แปลตามศัพท์ว่า “ภูตที่บอกผลดีผลร้ายเป็นไป

อุปฺปาต” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การบินขึ้น, การกระโดดขึ้น (flying up, jump)

(2) เหตุการณ์รีบด่วนและไม่ปกติ, สิ่งบอกเหตุ, ลาง (a sudden & unusual event, portent, omen)

บาลี “อุปฺปาต” สันสกฤตเป็น “อุตฺปาต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ)

อุตฺปาต : (คำนาม) ‘อุตบาต,’ ลางร้ายหรืออศุภลักษณะ, ทฤควิษัยหรือโคจรพัสดุ, เช่น – อุปราค, อุลฺกาบาตร, ภูกัมป์, ฯลฯ; a portent, some phenomenon, as an eclipse, a meteor, an earthquake, cte.”

(๒) “สันติ

บาลีเขียน “สนฺติ” (สัน-ติ) รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ติ ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ (สมฺ > สน)

: สมฺ + ติ = สมฺติ > สนฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่กิเลสสงบ” หมายถึง ความราบรื่น, ความสงบ (tranquillity, peace)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สันติ : (คำนาม) ความสงบ เช่น อยู่ร่วมกันโดยสันติ. (ป.; ส. ศานฺติ).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศานฺติ : (คำนาม) ความสงบ; บรมสุข; tranquillity; felicity.”

ในทางธรรม “สนฺติ” หมายถึง นิพพาน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “สันติ” ไว้ว่า –

สันติ : ความสงบ, ความระงับดับหายหมดไปแห่งความพลุ่งพล่านเร่าร้อนกระวนกระวาย, ภาวะเรียบรื่นไร้ความสับสนวุ่นวาย, ความระงับดับไปแห่งกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดความเร่าร้อนว้าวุ่นขุ่นมัว, เป็นไวพจน์หนึ่งของ นิพพาน.”

อุปฺปาต + สนฺติ = อุปฺปาตสนฺติ (อุบ-ปา-ตะ-สัน-ติ) > อุปปาตสันติ แปลความตามประสงค์ว่า “ความสงบแห่งลางร้าย

แปลให้เข้าหลักเหตุผลทางพระพุทธศาสนาว่า “การปฏิบัติอันเป็นทางสงบแห่งเหตุร้าย” คือ เหตุร้ายจะสงบได้ด้วยวิธีเช่นใด ก็ปฏิบัติดำเนินตามวิธีเช่นนั้น

ขยายความ :

คำว่า “อุปปาตสันติ” เป็นที่เข้าใจกันว่า หมายถึงบทสวดชนิดหนึ่งที่นิยมสวดกันทางเมืองเหนือ

หนังสือสวดมนต์วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธ์ (วัดนี้อยู่ที่อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์) มีบทสวด “อุปปาตสันติ” พร้อมทั้งคำแปล (ในหนังสือนั้นสะกดเป็น “อุปปาตะสันติ”) กล่าวประวัติไว้ดังนี้ –

(ปรับแก้สะกดและวรรคตอนบ้างเล็กน้อย)

…………..

อุปปาตสันติ” ทางเมืองเหนือเรียกว่า “มหาสันติงหลวง” แปลว่า บทสวดเพื่อสงบเคราะห์กรรม สวดเพื่อสงบเหตุร้าย และสวดเพื่อสงบสิ่งที่เป็นอัปมงคลทั้งปวง

คัมภีร์อุปปาตสันติ เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีของล้านนาไทย แต่งโดยพระมหามังคลสีลวังสะ พระเถระนักปราชญ์ของชาวเชียงใหม่ ในสมัยของพระเจ้าสิริธรรมจักกวัตติลกราชาธิราช (พระเจ้าติโลกราช) รัชกาลที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์มังราย เป็นคาถาล้วนจำนวน ๒๗๑ คาถา

คัมภีร์นี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่ชนชาวล้านนามาแต่โบราณกาล ทั้งพระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้าน พากันสวดและฟังอุปปาตสันติ เพื่อกลับความร้ายให้กลายเป็นความดี ต่อมาชาวพม่ามีความเลื่อมใส นำคัมภีร์นี้เข้าไปในพม่า ชาวพม่าทั้งพระสงฆ์และประชาชนนับถือว่าพระคัมภีร์นี้ศักดิ์สิทธิ์มากและพากันนิยมท่อง สวดและฟังกันอย่างกว้างขวางในงานพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พิธีสืบชะตา งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ

อุปปาตสันติคาถา เป็นบทสวดอย่างพิสดาร ท่านจึงกล่าวพระนามของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ไว้อย่างครบถ้วนทุกพระองค์ ทั้งที่มีมาในอดีต ในปัจจุบัน และที่จักมีมาในอนาคต รวมตลอดไปจนถึงท่านที่ทรงคุณทรงอำนาจทรงฤทธิ์ในทางที่ดีอื่นๆ เช่น เทวดา พระอินทร์ พระพรหม ยักษ์ คนธรรพ์ ครุฑ และอสูร เป็นต้น เพื่อขอความเป็นมงคล ความสงบ ความสวัสดี ความไม่มีโรค ชัยชนะและอายุ รวมทั้งขอให้ท่านทั้งหลายได้คุ้มครองให้พ้นจากเภทภัยต่างๆ อันจะบังเกิดขึ้นในกาลทุกเมื่อ

คัมภีร์อุปปาตสันติเป็นคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์และมีค่ายิ่งของไทย แต่ต้นฉบับได้จากเมืองไทยไปอยู่พม่าเสียนาน จนทำให้คนไทยในสมัยหลังๆ ไม่มีใครรู้จักคัมภีร์อันล้ำค่านี้เลย ภายหลังท่านเจ้าคุณธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปญฺโญ) ป.ธ.๙ วัดมหาโพธาราม ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ได้ชำระคัมภีร์นี้เป็นภาษาบาลีอักษรไทย โดยได้ต้นฉบับภาษาบาลีอักษรพม่าจากท่านพระอาจารย์ภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง

…………..

…………..

อภิปราย :

ที่นำคำว่า “อุปปาตสันติ” มาเขียนเป็นบาลีวันละคำ เป็นการเสนอความรู้ในทางวิชาการภาษา มิได้มีความประสงค์จะสนับสนุนให้ใครสวดหรือทักท้วงมิให้ใครสวด ผู้ใดจะสวดหรือจะไม่สวดย่อมเป็นไปตามศรัทธาและอัธยาศัย

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยจับคลำคัมภีร์ “อุปปาตสันติ” มาบ้างแต่เพียงผิวเผิน สนใจในฐานะเป็นคัมภีร์ที่แต่งเป็นภาษาบาลีและแต่งเป็น “คาถา” ด้วย และสนใจในฐานะที่เป็นคัมภีร์ที่แต่งร่วมสมัยกับ “มังคลัตถทีปนี” คัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีในเมืองไทย ผลงานของพระเถระชาวล้านนาเช่นเดียวกัน

ข้อความในประวัติที่คัดมาข้างต้นตรงที่ว่า “แต่ต้นฉบับได้จากเมืองไทยไปอยู่พม่าเสียนาน จนทำให้คนไทยในสมัยหลังๆ ไม่มีใครรู้จักคัมภีร์อันล้ำค่านี้เลย” อ่านแล้วรู้สึกอย่างที่ภาษาพูดเรียกว่า “ทะแม่งๆ” ชอบกล ผู้เขียนบาลีวันละคำมีประเด็นสงสัยอยู่ในใจหลายข้อ

ขอฝากนักเลงบาลีให้ลองช่วยกันค้นหา “อะไรบางอย่าง” เพื่อความจำเริญทางวิชาการต่อไปด้วยเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนพาล ภัยมีจริงหรือไม่จริงก็วิ่งฝุ่นตลบ

: บัณฑิต ฝึกจิตให้สงบสยบภัย

#บาลีวันละคำ (2,669)

3-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย