บรรยาย (บาลีวันละคำ 2,670)
บรรยาย
มาจากภาษาอะไร
อ่านว่า บัน-ยาย ก็ได้ บัน-ระ-ยาย ก็ได้
(ตามพจนานุกรมฯ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรรยาย : (คำกริยา) ชี้แจงหรืออธิบายเรื่องให้ฟังเป็นต้น, เล่าเรื่อง เช่น ภาพยนตร์มีอักษรไทยบรรยายกํากับไว้. (ส.).”
พจนานุกรมฯ วงเล็บไว้ว่า “(ส.)” หมายถึง “บรรยาย” คำนี้มาจากคำสันสกฤต
ตรวจดูใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นคู่มือ มีคำว่า “ปรฺยฺยาย” และ “ปรฺยาย” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปรฺยฺยาย, ปรฺยาย : (คำนาม) ‘บรรยาย,’ การจัด, ระเบียบ; อย่าง, ประเภท; โอกาศ; ศิลปะกรรมน์, การทำขึ้นด้วยศิลปะ; คุณสมบัติหรือสรรพคุณแห่งพัสดุ, ดุจ ขม, เย็น, ฯลฯ; สามานยหรือวิเศษคุณ; สังเกฺษป, ความเปนอันเข้าใจได้กว้างขวาง; ราศีกรณ์หรือสมุหะ; ดุลยารถศัพท์หรือบรรยายศัพท์, ‘ศัพท์พ้อง’ ก็ใช้; arrangement, order; manner, kind; opportunity or occasion; manufacture, artificial production; property of substances, as bitter, cooling, &c.; generic or specific character; comprehensiveness; aggregation; the text of a vocabulary, the synonyms for any term.”
ตรวจดูใน The Pali Text Society’s Pali-English Dictionary หรือที่ผู้เขียนบาลีวันละคำอ้างถึงในชื่อ-พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่คำว่า Pariyāya (ปริยาย) บอกไว้ว่า cp. Class. Sk. paryāya in all meanings (เทียบ สันสกฤตโบราณ ปรฺยาย ในความหมายทั้งหมด)
ดูตามนี้ “ปรฺยาย” ในสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “ปริยาย”
“ปริยาย” บาลีอ่านว่า ปะ-ริ-ยา-ยะ รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค =รอบด้าน. ในที่นี้แทนศัพท์ “ปริพฺยตฺต” = ชัดเจน) + อยฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลง ย อาคมระหว่างบทหน้ากับธาตุ (ปริ + ย + อยฺ = ปริยยฺ) ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (อยฺ > อายฺ)
: ปริ + ย + อยฺ = ปริยย + ณ = ปริยยณ > ปริยย > ปริยาย แปลตามศัพท์ว่า (1) “วิธีที่ยังเนื้อความที่พึงแสดงให้เป็นไปรอบด้าน” (2) “วิธีเป็นเครื่องถึงคือรู้เนื้อความที่ชัดเจน”
“ปริยาย” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายหลายหลาก กล่าวคือ :
(1) การจัดแจง, การจัดการ, การออกนอกทาง, ทางอ้อม; การเปลี่ยนนิสัย (arrangement, disposition, going out of one’s way, detour; change of habit)
(2) ลำดับ, การสืบลำดับ, วาระ, ระยะเวลา (order, succession, turn, course)
(3) สิ่งที่ดำเนินไป, ทางปฏิบัติ, ความเคยชิน, คุณภาพ, สมบัติ (what goes on, way, habit, quality, property)
(4) การอภิปราย, การสอน, วิธีการ (สอน), หลักสูตร, การบรรยาย (discussion, instruction, method (of teaching), discourse, representation)
(5) วิธีสอนในพระสูตร โดยสอนแบบถกเถียงหาเหตุผลเพื่อให้คนเข้าใจ, วิธีสอนประยุกต์, การสอนอย่างมีอุทาหรณ์ (the mode of teaching in the Suttanta, ad hominem, discursively, applied method, illustrated discourse)
(6) วิธี, วิธีการ, เหตุผล, ต้นเหตุ, การณ์ (mode, manner, reason, cause, way)
(7) สิ่งที่พันไปรอบ- (ต้นไม้) : กิ่งไม้ (winding round: branch)
“บรรยาย” ตามความหมายที่เราใช้ในภาษาไทย น่าจะตรงกับความหมายของ “ปริยาย” ในข้อ (4)
เป็นอันได้ความรู้ว่า “บรรยาย” ของไทยมาจาก “ปรฺยาย” ในสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “ปริยาย”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความรู้กินไม่ได้
: แต่อิ่มนาน
#บาลีวันละคำ (2,670)
4-10-62