บาลีวันละคำ

สยมภู (บาลีวันละคำ 2,674)

สยมภู

ใครคือพระผู้เป็นเอง

อ่านว่า สะ-หฺยม-พู

สยมภู” บาลีเป็น “สยมฺภู” อ่านว่า สะ-ยำ-พู รากศัพท์มาจาก สยํ + ภู ธาตุ

(๑) “สยํ” เป็นศัพท์จำพวกนิบาต ศัพท์จำพวกนี้คงรูปเดิมเสมอ คือไม่แจกวิภัตติเปลี่ยนรูปเหมือนคำนามทั่วไป แต่อาจเปลี่ยนรูปด้วยอำนาจการสนธิได้บ้าง เช่นในคำนี้ แปลงนิคหิตเป็น มฺ : สยํ > สยมฺ

สยํ” แปลว่า เอง, โดยตนเอง (self, by oneself)

(๒) สยํ + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + กฺวิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สยํ เป็น มฺ (สยํ > สยมฺ), ลบ กฺวิ

: สยํ + ภู = สยํภู + กฺวิ = สยํภูกฺวิ > สยํภู > สยมฺภู แปลตามศัพท์ว่า “พระผู้ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง มิได้มีผู้อื่นสอนให้ตรัสรู้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สยมฺภู” ว่า self-dependent, an epithet of a Buddha (อาศัยตนเอง, คำแสดงลักษณะของพระพุทธเจ้า)

บาลี “สยมฺภู” สันสกฤตเป็น “สฺวยมฺภู

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

สฺวยมฺภู : (คำนาม) พระพรหม; พระวิษณุ; พระศิวะ; Brahmā; Vishṇu; Śiva.”

โปรดสังเกตว่า “สฺวยมฺภู” คำเดียว หมายถึงพระผู้เป็นเจ้าในลัทธิพราหมณ์-ฮินดูทั้ง 3 องค์

ในภาษาไทย ใช้ตามบาลีเป็น “สยมภู” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สยมภู : (คำนาม) พระผู้เป็นเอง, พระอิศวร, สวยมภู ก็ใช้. (ป. สยมฺภู; ส. สฺวยมฺภู).

อภิปราย :

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา มีคำเรียกพระพุทธเจ้าว่า “สยมฺภู” ด้วยเหตุผลที่ว่า “ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง มิได้มีผู้อื่นสอนให้ตรัสรู้” หมายความว่า วิชาความรู้ต่างๆ ที่อาจารย์สอนเมื่อยังทรงครองฆราวาสวิสัยก็ดี แม้ความรู้ที่ได้รับจากอาจารย์เมื่อเสด็จออกบรรพชาแล้วก็ดี หาได้ทำให้พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไม่ หากแต่ทรงค้นคว้าหาวิธีปฏิบัติด้วยพระองค์เองจึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อนึ่ง การที่ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเล่า ก็มิได้เป็นเพราะมีผู้รู้จักยกย่องนับถือศรัทธา จะมีใครรู้หรือไม่รู้ จะมีใครนับถือหรือไม่นับถือ ก็ยังคงทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่นั่นเอง คือทรงเป็นด้วยพระองค์เอง มิใช่ด้วยมีใครแต่งตั้ง

นี่คือความหมายของ “สยมฺภู” ที่หมายถึงพระพุทธเจ้า

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อริยสงฆ์ท่านเป็นด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของท่านเอง

: คำยกย่องร้อยเพลงพันเพลงก็ช่วยให้ใครเป็นไม่ได้

#บาลีวันละคำ (2,674)

8-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย