บาลีวันละคำ

บอกศักราช (บาลีวันละคำ 2,675)

บอกศักราช

บอกว่าอย่าประมาท

อ่านว่า บอก-สัก-กะ-หฺราด

ประกอบด้วย บอก + ศักราช

(๑) “บอก” เป็นคำไทย

เพื่อเตือนความเข้าใจ ขอยกคำนิยามตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มาบอกไว้ดังนี้ –

บอก : (คำกริยา) พูดให้รู้, เล่าให้ฟัง, เช่น บอกกันต่อ ๆ มา บอกอาการให้หมอฟัง; บ่งให้รู้ เช่น สัญญาณบอกเหตุร้าย อีกาบอกข่าว; แนะนํา เช่น บอกให้ทําอย่างนั้นอย่างนี้, สอน เช่น อย่าบอกหนังสือสังฆราช; รายงาน เช่น ใบบอก.”

(๒) “ศักราช

ต้นเค้าเดิมของคำนี้มาจากคำว่า “ศก” (สะ-กะ) เป็นชื่อราชวงศ์ที่มีอำนาจปกครองอินเดียโบราณทางตอนเหนือระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7 ถึงพุทธศตวรรษที่ 9 อาณาจักรของราชวงศ์ศกะปัจจุบันอยู่ในแคว้นคุชราษฏร์ พระราชาพระองค์หนึ่งในราชวงศ์นี้ทรงพระนามว่าพระเจ้าศาลิวาหนะ (สา-ลิ-วา-หะ-นะ) เป็นผู้ริเริ่มนำชื่อราชวงศ์ คือ “ศก” มาใช้เป็นชื่อเรียกปี และเกิดคำว่า “ศกราช” (สะ-กะ-รา-ชะ) แปลว่า “พระราชาแห่งราชวงศ์ศกะ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ศก” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศก : (คำนาม) อธิราช; วิเศษวรรณ, ผู้สันตติของศกหรือศาลิวาหน; ประเทศ; นิวาสิน; กาล, วิศิษฏกาล; a sovereign; a particular caste, the descendants of Śaka and Śālivāhana; a country; the inhabitants; an era.”

ศกราช” ภาษาไทยใช้เป็น “ศักราช” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศักราช : (คำนาม) อายุเวลาซึ่งกําหนดตั้งขึ้นเป็นทางการ เริ่มแต่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นที่หมายเหตุการณ์สําคัญ เรียงลําดับกันเป็นปี ๆ ไป เช่น พุทธศักราช ๑, ๒, ๓, … จุลศักราช ๑, ๒, ๓, … (ตามความนิยมที่ใช้เป็นธรรมเนียมกันมา, คํา ศักราช ในคําเช่น พุทธศักราช คริสต์ศักราช จะใช้ว่า ศก เป็น พุทธศก คริสต์ศก ก็ได้ แต่คําเช่น มหาศักราช จุลศักราช ไม่นิยมใช้ว่า มหาศก จุลศก ส่วนคําว่า รัตนโกสินทรศก ไม่นิยมใช้ว่า รัตนโกสินทรศักราช), (ภาษาปาก) โดยปริยายหมายความว่า ช่วงใดช่วงหนึ่งซึ่งเริ่มต้นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตบุคคล เช่น เริ่มศักราชแห่งชีวิตใหม่ พอเรียนหนังสือจบก็เริ่มศักราชของการทำงาน.”

ดูเพิ่มเติม: “ศก-ศักราช” บาลีวันละคำ (698) 15-4-57

บอก + ศักราช = บอกศักราช เป็นคำประสมแบบไทย แปลตามประสงค์ว่า “บอกให้รู้ว่าศักราชเท่าไร” หมายถึงบอกวันเดือนปีก่อนจะแสดงพระธรรมเทศนา

ขยายความ :

ก่อนจะแสดงพระธรรมเทศนา มีธรรมเนียมพระธรรมกถึกจะต้องบอกแก่ญาติโยมผู้ฟังให้รู้ว่า ณ วันที่กำลังฟังธรรมกันอยู่เป็นวันอะไร เดือนอะไร พุทธศักราชเท่าไร เรียกการบอกเช่นว่านี้ว่า “บอกศักราช

คำ “บอกศักราช” นั้นบอกเป็นภาษาบาลีก่อน แล้วแปลเป็นไทยตามข้อความที่กำหนดไว้เป็นแบบแผน

มีผู้สันนิษฐานว่า ธรรมเนียม “บอกศักราช” มีมูลมาจากสมัยโบราณยังไม่มีปฏิทินแพร่หลาย ชาวบ้านมักไม่ทราบวันเดือนปีที่แน่ชัด พระสงฆ์ที่มีความรู้จึงถือเอาช่วงเวลาที่มีคนมาชุมนุมกันมาก เช่นเวลาฟังเทศน์ เป็นโอกาสบอกวันเดือนปีให้ชาวบ้านรับรู้ เป็นอย่างบอกข่าวสารข้อมูลชนิดหนึ่ง

เมื่อสันนิษฐานเช่นนี้ จึงทำให้คนสมัยใหม่-รวมทั้งพระสงฆ์รุ่นใหม่-มองไปว่า ปัจจุบันมีปฏิทินเผยแพร่อยู่อย่างแพร่หลาย อุปกรณ์หรือเครื่องมือบอกวันเดือนปีอย่างสมัยใหม่ก็มีใช้กันทั่วแทบทุกตัวคน เรื่องอย่างนี้ชาวบ้านทันสมัยกว่าพระด้วยซ้ำไป การบอกศักราชก่อนแสดงธรรมจึงเป็นเรื่องรุ่มร่ามเร่อร่าล้าสมัย ไม่มีประโยชน์ หลายๆ วัดจึงแสดงธรรมโดยไม่มีการบอกศักราช พระธรรมกถึกรุ่นใหม่น่าจะบอกศักราชไม่เป็น หรืออาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่า “บอกศักราช” คืออะไร

การที่คิดเช่นว่ามานั้นนับว่าตื้นเกินไป

การบอกศักราชไม่ได้มีความหมายแค่บอกวันเดือนปี แต่ที่ลึกกว่านั้นก็คือเป็นการเตือนสติพุทธศาสนิกชนให้หมั่นระลึกไว้เสมอว่า พระพุทธศาสนาล่วงไปแล้วช้านานเท่าไร เราได้ขวนขวายบำเพ็ญบุญให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนามากน้อยแค่ไหน และบัดนี้เล่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่

ทราบมาว่า การบอกศักราชของเดิมนั้นท่านไม่ได้บอกเฉพาะวันเดือนปีที่ล่วงไป คือวันเดือนปีปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังบอกอายุพระพุทธศาสนาที่ยังเหลืออยู่ คือวันเดือนปีที่จะมาถึงข้างหน้าอีกด้วย โดยเอาจำนวน 5,000 ปีตั้งเป็นอายุพระพุทธศาสนา เอาวันเดือนปีที่ล่วงไปแล้วไปลบออก แล้วบอกว่าพระพุทธศาสนาล่วงไปแล้วเท่านี้ปี เท่านี้เดือน เท่านี้วัน ยังจะมีอายุเหลืออยู่อีกกี่ปี กี่เดือน กี่วัน

การบอกศักราชแบบของเดิมนี้ยิ่งเป็นการเตือนสติให้ตระหนักถึงวันคืนที่ล่วงไป อายุพระพุทธศาสนาก็ยิ่งหมดไป พุทธบริษัทจึงไม่ควรประมาทมัวเมา อย่าปล่อยให้อายุพระพุทธศาสนาหมดไปเปล่าๆ ควรเร่งขวนขวายบำเพ็ญกรณียกิจตามหน้าที่ของชาวพุทธให้เต็มสติกำลัง

การ “บอกศักราช” จึงมิได้มีความหมายเพียงแค่เป็นปฏิทินบอกวันเดือนปีอย่างที่ชาวพุทธรุ่นใหม่คิดกันตื้นๆ

…………..

ตัวอย่างคำบอกศักราช: วันที่ 9 เดือนตุลาคม พ.ศ.2562

เขียนแบบบาลี:

อิทานิ ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ปรินิพฺพานโต ปฏฺฐาย (1) เทฺวสฏฺฐยุตฺตรปญฺจสตาธิกานิ เทฺว สํวจฺฉรสหสฺสานิ อติกฺกนฺตานิ, ปจฺจุปฺปนฺนกาลวเสน (2) อสฺสยุชมาสสฺส, (3) นวมํ ทินํ, วารวเสน ปน (4) วุธวาโร โหติ. เอวํ ตสฺส ภควโต ปรินิพฺพานา สาสนายุกาลคณนา สลฺลกฺเขตพฺพาติ.

เขียนแบบคำอ่าน:

อิทานิ ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ปะรินิพพานะโต ปัฏฐายะ เท๎วสัฏฐะยุตตะระปัญจะสะตาธิกานิ เท๎ว สังวัจฉะระสะหัสสานิ อะติกกันตานิ, ปัจจุปปันนะกาละวเสนะ อัสสะยุชะมาสัสสะ, นะวะมัง ทินัง, วาระวะเสนะ ปะนะ วุธะวาโร โหติ. เอวัง ตัสสะ ภะคะวะโต ปะรินิพพานา สาสะนายุกาละคะณะนา สัลลักเขตัพพาติ.

คำแปล:

สิริศุภมัสดุ พระพุทธศาสนายุกาล จำเดิมแต่ปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บัดนี้ล่วงแล้ว 2562 พรรษา ปัจจุบันสมัย ตุลาคมมาส สุรทินที่ 9 พุธวันนี้เป็นปัจจุบันวาร พระพุทธศาสนายุกาล จำเดิมแต่ปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีนัยอันจะพึงกำหนดนับด้วยประการฉะนี้

หมายเหตุ:

(1) “เทฺวสฏฺฐยุตฺตรปญฺจสตาธิกานิ” เปลี่ยนตามพุทธศักราชปัจจุบัน

(2) “อสฺสยุชมาสสฺส” เปลี่ยนตามเดือนปัจจุบัน

(3) “นวมํ” เปลี่ยนตามวันที่ปัจจุบัน

(4) “วุธวาโร” เปลี่ยนตามวันของสัปดาห์

…………..

บางสำนักเมื่อจบคำแปลแล้ว จะต่อด้วยคำบาลีและคำแปลอีกท่อนหนึ่ง ดังนี้ –

อิโต ปรํ สกฺกจฺจํ ธมฺโม โสตพฺโพติ.

(อิโต ปะรัง สักกัจจัง ธัมโม โสตัพโพติ)

เบื้องหน้าแต่นี้ไป พึงตั้งสมันนาหารจิตสดับพระธรรมเทศนา จงเงี่ยโสตประสาทของตนประดุจว่าภาชนะทองคอยรองรับรสพระพุทธพจน์เทศนาอันจักได้สำแดงต่อไป โดยสัจจะเคารพ เทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าพุทธบริษัทเรามัวเมาประมาท

: ไม่นานก็จะไม่เหลือศักราชไว้ให้บอก

#บาลีวันละคำ (2,675)

9-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย