บาลีวันละคำ

เขียนคำบาลีเป็นอักษรโรมัน (บาลีวันละคำ 2,697)

เขียนคำบาลีเป็นอักษรโรมัน

สืบเนื่องมาจากบาลีวันละคำ คำว่า “จิตตัง ดันตัง” (บาลีวันละคำ (2,696) 30-10-62) คำว่า “ทนฺตํ” (ทันตัง) ทำไมพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตจึงออกเสียงว่า ดัน-ตัง

คำตอบคือ ท่านออกเสียงอนุวัตรตามเสียงเดิมในภาษาบาลี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าออกเสียงแบบมคธ

ถ้าใช้คำว่า “สวด” ก็เรียกว่า “สวดแบบมคธ” คู่กับ “สวดแบบสังโยค”

พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตสวด “แบบมคธ” คือหยุดตามวรรคตอนตามประโยคภาษาบาลี และออกเสียงพยัญชนะบางตัวตามแบบมคธ เช่น ทหาร ออกเสียงคล้าย เด็ก พาน ออกเสียงเป็น ใบไม้

พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายสวด “แบบสังโยค” คือหยุดหายใจตรงคำที่เป็นตัวสะกด คำอื่นๆ สวดติดต่อกันไปไม่หยุด และออกเสียงพยัญชนะตรงตัวเท่าเสียงไทย ทหาร ก็ออกเสียงเท่า ทหาร ในภาษาไทย พาน ก็ออกเสียงเท่า พาน ในภาษาไทย

ทำไม ทหาร ออกเสียงคล้าย เด็ก พาน ออกเสียงเป็น ใบไม้ ถ้าดูอักขรวิธีในการเขียนคำบาลีเป็นอักษรโรมัน ก็จะเข้าใจได้ทันที

อักขรวิธีในการเขียนคำบาลีเป็นอักษรโรมัน ตามที่นักเรียนบาลีทั่วโลกตกลงตรงกัน เป็นดังนี้ –

(1) พยัญชนะวรรค

วรรค (อ่านว่า วรรค กะ ไม่ใช่วรรค กอ พยัญชนะทุกตัวออกเสียง อะ ไม่ใช่ ออ)

ก = K/k

ข = Kh/kh

ค = G/g

ฆ = Gh/gh

ง = ng (มีเฉพาะตัวตามหรือตัวสะกด)

วรรค

จ = C/c

ฉ = Ch/ch

ช = J/j

ฌ = Jh/jh

ญ = Ñ/ñ

วรรค (ฏ ปฏัก ไม่ใช่ ฎ ชฎา)

ฏ = Ṭ/ṭ

ฐ = Ṭh/ṭh

ฑ = Ḍ/ḍ

ฒ = Ḍh/ḍh

ณ = ṇ (มีเฉพาะตัวตามหรือตัวสะกด)

วรรค

ต = T/t

ถ = Th/th

ท = D/d

ธ = Dh/dh

น = N/n

วรรค

ป = P/p

ผ = Ph/ph

พ = B/b

ภ = Bh/bh

ม = M/m

(2) พยัญชนะอวรรค (อะ-วัก) คือไม่มีวรรคหรือไม่จัดเป็นวรรค มี 8 ตัว โปรดสังเกตว่า อํ (อ่านว่า อัง) ท่านจัดเป็นพยัญชนะด้วย

ย = Y/y

ร = R/r

ล = L/l

ว = V/v

ส = S/s

ห = H/h

ฬ = Ḷ/ḷ

อํ = Aŋ/aŋ

(3) สระ มี 8 ตัว

อะ = A/a

อา = Ā/ā

อิ = I/i

อี = Ī/ī

อุ = U/u

อู = Ū/ū

เอ = E/e

โอ = O/o

…………..

จะเห็นได้ว่า คำบาลี –

ท ทหาร เมื่อเขียนเป็นอักษรโรมันใช้ตัว D/d ถอดเป็นเสียงไทยก็คือ ด เด็ก “ทนฺตํ” จึงเป็น “ดัน-ตัง”

พ พาน เมื่อเขียนเป็นอักษรโรมันใช้ตัว B/b ถอดเป็นเสียงไทยก็คือ บ ใบไม้ “พุทฺธํ” จึงเป็น “บุด-ดัง”

หมายเหตุ:

๑ อักษรโรมันแบบพิมพ์ใหญ่ ใช้ในกรณีที่เป็นพยางค์แรกของคำ

๒ โปรดสังเกตจุดใต้และขีดบนที่อักษรบางตัวซึ่งเป็นเครื่องหมายทำให้ต่างกัน เช่น –

n = น หนู

ñ (มีขีดบน) = ญ หญิง

ṇ (มีจุดใต้) = ณ เณร

a = อะ

ā (มีขีดบน) = อา

๓ การเขียนคำบาลีเป็นอักษรโรมันดังที่แสดงมานี้ คนไทยส่วนมากเรียกผิด คือพูดว่า “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ” หรือ “แปลเป็นภาษาอังกฤษ”

เบื้องต้นโปรดทราบว่า อักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษ คืออักษรโรมัน ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ”

ประการต่อไป คำบาลีที่เขียนเป็นอักษรโรมันก็ยังคงเป็น “ภาษาบาลี” อยู่นั่นเอง ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ”

เหมือนคำที่ออกเสียงว่า นะ-โม

เขียนเป็นอักษรไทยว่า “นโม

เขียนเป็นอักษรโรมันว่า “Namo”

นโม” ไม่ใช่ภาษาไทย

“Namo” ก็ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

นโม” หรือ “Namo” เป็นภาษาบาลี

“Namo” คือการเขียนคำบาลีเป็นอักษรโรมัน หรือพูดตามคำของราชบัณฑิตยสภาว่า “เขียนคำบาลีเป็นอักษรโรมันโดยวิธีถ่ายเสียง”

ไม่ใช่ “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ” หรือ “แปลเป็นภาษาอังกฤษ” อย่างที่พูดกันผิดๆ

ขอความกรุณาช่วยกันใช้คำพูดให้ถูกต้องด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนดื้อด้านอาจพยายามสมมุติผิดให้เป็นถูกได้

: แต่คนทำบาปจะสมมุติบาปให้เป็นบุญหาได้ไม่

#บาลีวันละคำ (2,697)

31-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย