บาลีวันละคำ

ชาติหน้า (บาลีวันละคำ 2,677)

ชาติหน้า

บาลีว่าอย่างไร

คำว่า “ชาติหน้า” ในภาษาไทยมีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(๑) การกลับมาเกิดอีก หรือตายแล้วเกิด

ความหมายนี้ ภาษาบาลีใช้คำว่า –

(1) “ปุนรุปฺปตฺติ” (ปุ-นะ-รุบ-ปัด-ติ) แปลว่า “การอุบัติขึ้นอีก” (rebirth)

(2) “อภินิพฺพตฺติ” (อะ-พิ-นิบ-พัด-ติ) แปลว่า “การเกิดยิ่งขึ้นไป” (becoming, birth, rebirth)

(3) “ปุนพฺภว” (ปุ-นับ-พะ-วะ) แปลว่า “การเกิดอีก” หรือ “การเกิดใหม่” (renewed existence, new birth)

(๒) โลกหน้า คือตายแล้วไปอยู่อีกโลกหนึ่ง หมายถึงมีโลกอื่นนอกจากโลกมนุษย์

ความหมายนี้ ภาษาบาลีใช้คำว่า “ปรโลก” (ปะ-ระ-โล-กะ) แปลว่า “โลกอื่น” (the other world, the world beyond)

โลกอื่นที่เราได้ยินบ่อยๆ ก็คือ เทวโลก มารโลก พรหมโลก ยมโลก เป็นต้น

คำบาลีที่หมายถึง “ชาติหน้า” ดังกล่าวนี้ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีเก็บไว้ 2 คำ คือ “ปุนพฺภว” ภาษาไทยใช้เป็น “ปุนภพ” (ปุ-นะ-พบ) และ “ปรโลก” (ปะ-ระ-โลก, ปอ-ระ-โลก)

พจนานุกรมฯ บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) ปุนภพ : (คำนาม) ภพใหม่, การเกิดใหม่. (ป. ปุนพฺภว); สมัยเกิดใหม่ ได้แก่ตอนเริ่มต้นยุคปัจจุบันหลังยุคกลาง.

(2) ปรโลก : (คำนาม) โลกหน้า.

อภิปราย :

ปัญหาที่คาใจคนส่วนใหญ่ก็คือ “ชาติหน้า” มีจริงหรือเปล่า?

คำตอบปัญหานี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อ เช่น ใครเชื่อว่าชาติหน้ามี ชาติหน้าก็มี ใครเชื่อว่าชาติหน้าไม่มี ชาติหน้าก็ไม่มี – ไม่ใช่อย่างนี้

หากแต่ขึ้นอยู่กับการทำความเห็น หรือปัญญา ให้ตรงกับความจริง กล่าวคือ ความจริงเกี่ยวกับชาติหน้ามีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำความเห็นของตนให้เข้าถึงความจริงนั้นได้แค่ไหน

แถมไว้ให้คิด :

เรื่องชาติหน้าและการได้รับผลบุญผลบาปในชาติหน้า พระพุทธศาสนามีหลักในการคิดให้เกิดความอุ่นใจ ดังนี้ –

(๑) เราทำดี หากชาติหน้ามีจริง ก็ได้ไปเกิดในที่ดีแน่นอน ถ้าทำชั่ว ก็ต้องไปเกิดในที่ไม่ดีแน่นอน

(๒) เราทำดี หากไม่มีชาติหน้าให้เสวยผลดี ก็ไม่ขาดทุนหรือเสียหายอะไร เพราะได้ความสุขในชาตินี้ไปแล้ว ถ้าทำชั่ว หากไม่มีชาติหน้าให้เสวยผลชั่ว ก็ใช่ว่าจะได้กำไร มีแต่ขาดทุน เพราะชาตินี้ได้ก่อความทุกข์ให้ผู้อื่น ถูกสาปแช่งไปแล้ว

(๓) ถ้าทำดีทำชั่วเกิดผลดีผลชั่วแน่ เราก็ได้รับแต่ผลดี เพราะทำดีไว้ ผลชั่วไม่มาถึงเรา เพราะเราไม่ได้ทำ แต่ถ้าทำชั่วไว้ก็ต้องเสวยผลชั่วแน่ๆ

(๔) ถ้าทำดีทำชั่วไม่เกิดผลดีผลชั่ว (คือทำแล้วสูญทั้งบุญทั้งบาป) เราก็ได้ความสุขจากการทำดีในชาตินี้ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ขาดทุนอะไร ถ้าทำชั่วก็ขาดทุนในชาตินี้ไปแล้ว เพราะก่อความทุกข์ให้ผู้อื่น ถูกสาปแช่งไปแล้วตั้งแต่ลงมือทำ

ที่มา: เกสปุตติยสูตร หรือ เกสปุตตสูตร หรือที่รู้จักกันในนาม “กาลามสูตร” ติกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 505

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนฉลาดพยายามทำความเชื่อให้ตรงกับความจริง

: คนเขลาพยายามเกณฑ์ความจริงให้ตรงกับความเชื่อ

#บาลีวันละคำ (2,677)

11-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย