บาลีวันละคำ

โลกวัฒน์ (บาลีวันละคำ 2,680)

โลกวัฒน์

“ฝากไว้ในอ้อมใจของมิตรรักแฟนเพลง”

อ่านว่า โล-กะ-วัด ก็ได้

อ่านว่า โลก-กะ-วัด ก็ได้

ประกอบด้วยคำว่า โลก + วัฒน์

(๑) “โลก” บาลี (ปุงลิงค์) อ่านว่า โล-กะ

(ก) ในแง่ภาษา

(1) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ปัจจัย แปลง เป็น แผลง อุ เป็น โอ

: ลุชฺ > ลุก > โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป

(2) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + ปัจจัย แปลง เป็น แผลง อุ เป็น โอ

: ลุจฺ > ลุก > โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป

(3) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ) + ปัจจัย

: โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างอันเขาเห็นอยู่

(4) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ปัจจัย

: โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น

(ข) ในแง่ความหมาย

(1) โลก หมายถึง ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น

(2) โลก หมายถึง สิ่งมีชีวิต เช่นคน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

(3) โลก หมายถึง สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

(4) โลก หมายถึง ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”

(5) โลก หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์

(6) โลก หมายถึง ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม

(๒) “วัฒน์

เขียนแบบบาลีเป็น “วฑฺฒน” (วัด-ทะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วฑฺฒฺ (ธาตุ = เจริญ, เพิ่มขึ้น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วฑฺฒฺ + ยุ > อน = วฑฺฒน แปลตามศัพท์ว่า “การเจริญ

วฑฺฒน” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง มากกว่า “การเจริญ” หรือ “ความเจริญ” ที่เราคุ้นกัน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วฑฺฒน” ไว้ดังนี้ –

(1) increasing, augmenting, fostering; increase, enlargement, prolongation (การเพิ่มขึ้น, การยกให้สูง, การบำรุง; การเพิ่มเติม, การทำให้เจริญขึ้น, การทำให้ยาวออกไป)

(2) indulgence in, attachment; serving, practicing (การติดใจ, การจดจ่อ; การบริการ, การปฏิบัติ)

(3) arrangement (การจัดการ)

(4) serving for, enhancing, favouring (การบริการ, การส่งเสริม, การสนับสนุน)

วฑฺฒน” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตามหลักนิยม ใช้เป็น “วัฒน-” (วัด-ทะ-นะ-, มีคำอื่นสมาสท้าย) “วัฒนะ” (วัด-ทะ-นะ, อยู่ท้ายคำ)  หรือ “วัฒน์” (วัด, อยู่ท้ายคำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัฒน-, วัฒนะ : (คำนาม) ความเจริญ, ความงอกงาม. (ป. วฑฺฒน).”

โลก + วฑฺฒน = โลกวฑฺฒน (โล-กะ-วัด-ทะ-นะ) ปรุงรูปศัพท์อย่างไทยเป็น “โลกวัฒน์

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “โลกวัฒน์” ยังไม่มีใครใช้ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ไม่เคยเก็บคำนี้ไว้ ผู้เขียนบาลีวันละคำปรุงรูปศัพท์มาจากคำว่า “โลกวฑฺฒโน” ในคาถาบทหนึ่งแห่งคัมภีร์พระธรรมบท ความว่าดังนี้ –

หีนํ ธมฺมํ น เสเวยฺย

ปมาเทน น สํวเส

มิจฺฉาทิฏฺฐึ น เสเวยฺย

น สิยา โลกวฑฺฒโน.

(หีนัง ธัมมัง นะ เสเวยยะ

ปะมาเทนะ นะ สังวะเส

มิจฉาทิฏฐิง นะ เสเวยยะ

นะ สิยา โลกะวัฑฺฒะโน)

ที่มา: โลกวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 23

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงแปลว่า –

บุคคลไม่พึงเสพธรรมอันเลว

ไม่พึงอยู่ร่วมกับความประมาท

ไม่พึงเสพมิจฉาทิฐิ

ไม่พึงเป็นคนรกโลก

หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก แปลว่า –

อย่าประพฤติสิ่งเลวทราม

อย่าอยู่ด้วยความประมาท

อย่ายึดถือความเห็นผิด

อย่าทำตนเป็นคนรกโลก

และแปลเป็นอังกฤษว่า –

Do not follow mean things.

Do not live in heedlessness.

Do not embrace false views,

Do not be a ‘world-upholder’.

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 6 ทหรภิกฺขุวตฺถุ ขยายความคาถาบทนี้ไว้ว่า –

…………..

หีนํ  ธมฺมนฺติ: ปญฺจกามคุณธมฺมํ.

คำว่า หีนํ ธมฺมํ (ธรรมอันเลว, สิ่งเลวทราม) หมายถึงธรรมคือเบญจกามคุณ (สิ่งที่น่ารักน่าใคร่ทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์)

โส  หิ  หีเนน  ชเนน  อนฺตมโส  โอฏฺฐโคณาทีหิปิ  ปฏิเสวิตพฺโพ,

เบญจกามคุณนั้น เป็นสิ่งอันคนชั้นเลว จนถึงจำพวกสัตว์เช่นอูฐและโคเป็นต้นจะพึงเสพสมชมชิด

หีเนสุ  จ  นิรยาทีสุ  ฐาเนสุ  นิพฺพตฺตาเปตีติ  หีโน  นาม;

เบญจกามคุณย่อมยังผู้เสพให้บังเกิดในฐานะอันเลวมีนรกเป็นต้น เหตุนั้นจึงชื่อว่า “หีนะ” = สิ่งเลวทราม

ตํ  น  เสเวยฺย.

บุคคลไม่พึงเสพธรรมอันเลวนั้น

ปมาเทนาติ:  สติโวสฺสคฺคลกฺขเณน  ปมาเทนาปิ  น  สํวเสยฺย.

คำว่า ปมาเทน (ความประมาท) หมายความว่า ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท ลักษณะของความประมาทคือขาดสติ

น  เสเวยฺยาติ:  มิจฺฉาทิฏฺฐึ  น  คณฺเหยฺย.

คำว่า น  เสเวยฺย (ไม่พึงเสพ) หมายความว่า ไม่พึงยึดถือความเห็นผิด

โลกวฑฺฒโนติ:  โย  หิ  เอวํ  กโรติ,  โส  โลกวฑฺฒโน  นาม  โหติ;

คำว่า โลกวฑฺฒโน หมายความว่า ผู้ใดทำอย่างนี้ (คือ ประพฤติสิ่งเลวทราม, อยู่ด้วยความประมาท, ยึดถือความเห็นผิด) ผู้นั้นย่อมชื่อว่า “โลกวฑฺฒโน” = คนรกโลก

ตสฺมา  เอวํ  อกรเณน  สิยา  โลกวฑฺฒโนติ.

เพราะฉะนั้น ไม่พึงเป็นคนรกโลก ด้วยการไม่ทำอย่างนั้น.

…………..

สรุปความตามคำอธิบายของอรรถกถา ก็คือ (1) ประพฤติสิ่งเลวทราม (2) มีชีวิตอยู่ด้วยความประมาท (3) มีมิจฉาทิฐิ (ยึดถือความเห็นผิด) คนใดประพฤติ 3 ประการดังกล่าวนี้ คนนั้นคือ “โลกวฑฺฒโน” หรือ “โลกวัฒน์

…………..

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 6 ทหรภิกฺขุวตฺถุ ฉบับพิมพ์อักษรไทยมีเชิงอรรถของพระเถระนักปราชญ์ไทยผู้ชำระคัมภีร์แสดงความเห็นไว้เป็นภาษาบาลี มีข้อความดังจะขอแปลเป็นไทยสู่กันฟัง ดังนี้ –

เอวํ อมฺหากํ มติ:

ความเห็นของชาวเราเป็นดั่งนี้:

น สิยา โลกวฑฺฒโนติ: นิรตฺถกเมว โลกวฑฺฒโน น ภเวยฺย.

คำว่า “น สิยา โลกวฑฺฒโน” (ที่แปลกันว่า “ไม่พึงเป็นคนรกโลก”) หมายความว่า ไม่ควรเป็นคนชนิดที่เติบโตอยู่ในโลกอย่างไร้ประโยชน์

ยถา ติณํ วฑฺฒมานํ นิรตฺถกเมว เขตฺตํ วฑฺเฒติ ปูเรติ,

อุปมาเหมือนหญ้าขึ้นรกนาอย่างไร้ประโยชน์ ฉันใด

เอวํ หีโน ปุคฺคโล อุปฺปชฺชมาโน นิรตฺถกเมว โลกํ วฑฺเฒติ ปูเรติ.

ตนเลวก็เกิดมาทำโลกให้รกรุงรังอย่างไร้ประโยชน์ ฉันนั้น

“โลกชฏิโต โลกขานูติ อตฺโถติ.

หมายความว่า คนชนิดนั้นเป็น “โลกชฏิโตคนทำโลกให้รกโลกขานุเป็นหลักตอเสี้ยนหนามของสังคม ดังนี้

…………..

หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก มีคำอธิบายประกอบคำแปลคาถาบทนี้ว่า –

*โลกวฑฒโน แปลตามตัวอักษรว่า “ยังโลกให้เจริญ” “ยังโลกให้สูงขึ้น” หมายความว่า คนประเภทนี้ย่อมเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้น ทิ้งซากศพไว้เต็มโลก เพราะฉะนั้นจึงนิยมแปลกันว่า “คนรกโลก

…………..

ขมวดความว่า คำว่า “โลกวัฒน์” ถ้าดูตามตัวอักษรก็ชวนให้นึกถึงความหมายในทางดี คือหมายถึงผู้ทำโลกให้เจริญ หรือทำให้สังคมเจริญขึ้น

แต่ความหมายเฉพาะเจาะจงของคำนี้หาใช่เป็นไปในทางดีเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะท่านตั้งใจให้มีความหมายว่า คนที่เกิดมากินมาใช้ทรัพยากรของโลกจนเจริญเติบโตอยู่ในโลก แต่ทำแต่ความเสื่อมเสียทั้งแก่ตนเองและแก่สังคม เป็นคนชนิดที่-เกิดมาก็เปลืองทรัพยากร อยู่ไปก็เปลืองที่ ท่านจึงเรียกคนชนิดนี้ว่า “โลกวัฒน์

เวลาจะ “ด่า” ใครด้วยคำเพราะๆ แบบผู้ดี ขอเสนอให้ใช้คำนี้ – “โลกวัฒน์” = คนรกโลก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เกิดมาทำโลกให้เจริญ เป็นคนมีโชค

: เกิดมารกโลก เป็นคนมีกรรม

#บาลีวันละคำ (2,680)

14-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย