บาลีวันละคำ

จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส (บาลีวันละคำ 2,681)

จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส

คำถวาย ไม่จำเป็นต้องใช้ประชาสัมพันธ์

อ่านว่า จำ-พัน-สา-กาน-ถ้วน-ไตฺร-มาด

คำบาลีคือ “พรรษากาล” และ “ไตรมาส

(๑) “พรรษากาล” ประกอบด้วยคำว่า พรรษา + กาล

(ก) “พรรษา” บาลีเป็น “วสฺส” รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + ปัจจัย

: วสฺสฺ + = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน

วสฺส” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)

(2) ปี (a year)

(3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)

ในที่นี้ “วสฺส” มีความหมายตามข้อ (1)

(ข) “กาล” บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)

: กลฺ + = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน

กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :

1 เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)

2 เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)

วสฺส + กาล = วสฺสกาล (วัด-สะ-กา-ละ) แปลตามศัพท์ว่า “กาลแห่งฝน” หมายถึง เวลาฝนตก (time for rain) คือ ฤดูฝน (the rainy season)

วสฺสกาล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พรรษากาล

(๒) “ไตรมาส” ประกอบด้วยคำว่า ไตร + มาส

(ก) “ไตร” บาลีเป็น “เต” และ เต นี้ก็แผลงมาจาก “ติ” อีกทีหนึ่ง

: ติ > เต > ไตร แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

หลักภาษา :

(1) ติ หรือ เต ถ้าคงรูปเช่นนี้ จะต้องมีคำอื่นมาสมาสท้ายเสมอ ไม่ใช้เดี่ยวๆ

(2) ในภาษาไทย “ตรี” มักแผลงมาจาก ติ– “ไตร” มักแผลงมาจาก เต

(ข) “มาส” บาลีอ่านว่า มา-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มสิ (ธาตุ = กะ, กำหนด) + ปัจจัย, ยืดเสียง ที่ – เป็น อา, ลบ อิ ที่ –สิ

: มสิ > มาสิ > มาส + = มาส แปลตามศัพท์ว่า “กาลที่เหมือนกำหนดอายุของเหล่าสัตว์ทำให้สิ้นสุด” หมายถึง เดือน (ส่วนของปี)

(2) มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ปัจจัย

: มา + = มาส แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องกำหนดข้างแรมและข้างขึ้นของวัน” หมายถึง ดวงจันทร์

มาส” จึงมีความหมาย 2 อย่าง คือ เดือน (month) และ ดวงจันทร์ (moon)

คำว่า “เดือน” ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า ส่วนของปี และ ดวงจันทร์

เต + มาส = เตมาส > ไตรมาส แปลว่า “สามเดือน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เตมาส” ว่า 3 months, i. e. a season (สามเดือน, คือ หนึ่งฤดู)

ในภาษาบาลี คำว่า “เตมาส” (ไตรมาส) มักใช้ในความหมายว่า สามเดือนในฤดูฝน คือช่วงเวลาที่พระสงฆ์จำพรรษา

ในภาษาไทย เดิม “ไตรมาส” ก็คงหมายถึงช่วงเวลาที่พระสงฆ์จำพรรษา ดังคำถวายผ้ากฐินว่า “น้อมนำมาถวายพระสงฆ์จึงจำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสวิหารนี้”

ปัจจุบันคำว่า “ไตรมาส” ถูกนำไปใช้ในการบอกระยะเวลาการประกอบธุรกิจว่า ไตรมาสแรก ไตรมาสที่สอง … เป็นต้น โดยไม่เกี่ยวกับฤดูกาลตามธรรมชาติ เช่น “ปริมาณการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ….”

คำว่า “ไตรมาส” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส” มีความหมายว่า “พักอยู่กับที่ในฤดูฝนตลอดเวลาสามเดือน

คำว่า “จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส” ตัดมาจากตอนหนึ่งในคำถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ซึ่งมีข้อความเต็มว่าดังนี้ –

…………..

ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงสบริวารทั้งปวงนี้ ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กอปรด้วยพระราชศรัทธา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ … (ระบุนามบุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับพระราชทาน) … น้อมนำมาถวายแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ในอาวาสวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินทานนี้ กระทำกฐินัตถารกิจตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ

…………..

สังเกตเห็นว่า ป้ายประชาสัมพันธ์การถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่เผยแพร่อยู่ในระยะนี้นิยมใช้ข้อความว่า “… โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ …… น้อมนำมาถวายแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัด …” เหมือนกับเป็นข้อความบังคับให้ต้องพูดแบบนี้

ความจริงแล้ว บอกว่า “… โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ …… น้อมนำมาถวาย ณ วัด …” แค่นี้ก็ได้ความครบถ้วนแล้ว

เหตุผลก็คือ –

๑ กฐินเป็นผ้าที่ต้องถายแก่พระสงฆ์อยู่แล้ว ถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้ หรือให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่สงฆ์ก็ไม่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องระบุลงไปอีกว่า-ถวายแด่พระสงฆ์

๒ ภิกษุ (ที่รวมกันเป็นสงฆ์) ที่จะมีสิทธิ์รับกฐินได้ต้องเป็นภิกษุที่จำพรรษาตามกำหนดในพระวินัย คือครบ 3 เดือน (ไตรมาส) และไม่ขาดพรรษา คือในระหว่าง 3 เดือนในพรรษาไม่ไปค้างแรมที่อื่นแม้แต่คืนเดียว เว้นไว้แต่มีเหตุที่มีพุทธานุญาตอนุโลมให้ไปได้ไม่เกิน 7 วัน

๓ นอกจาก “จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส” แล้ว ยังมีเงื่อนไขอื่นอีก เช่น ต้องเป็นภิกษุที่จำพรรษาในอาวาสเดียวกัน และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป จึงจะมีสิทธิ์รับกฐินได้ ในเมื่อไม่ได้ยกเงื่อนไขอื่นๆ ขึ้นมาพูด ก็ไม่มีเหตุจำเป็นอันใดที่จะกล่าวถึงเฉพาะเงื่อนไข “จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส” เพียงเรื่องเดียว

๔ คำว่า “จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส” เป็นเพียงสำนวนโวหารในคำกล่าวถวายผ้าพระกฐินพระราชทานเพื่อความไพเราะสละสลวยเท่านั้น ไม่ใช่ถ้อยคำที่ใช้เพื่อการบอกกล่าวประชาสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้ใช้นำขึ้นเป็นครั้งแรก และมีผู้ใช้ตาม-จะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม (เช่นรู้สึกว่าเป็นคำหรูหราดี) ถ้าใช้กันมากขึ้นและนานๆ ไป ก็อาจมีผู้เข้าใจว่าเป็นแบบฉบับที่จะต้องใช้ถ้อยคำเช่นนี้ แล้วเลยกลายเป็นแบบแผนไปโดยไม่ตั้งใจก็เป็นได้

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องทะเลาะกัน แค่รู้ทันไว้ก็พอ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กฐิน ไม่ใช่ทอดได้ทั้งปี

: ความดี ไม่ใช่ทำได้แค่เดือนเดียว

#บาลีวันละคำ (2,681)

15-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย