บาลีวันละคำ

จองกฐิน (บาลีวันละคำ 2,695)

จองกฐิน

คำดีๆ ที่ถูกระบายสีดำ

อ่านว่า จอง-กะ-ถิน

ประกอบด้วยคำว่า จอง + กฐิน

(๑) “จอง

เป็นคำไทย มาจากคำเขมรว่า “จง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จอง : (คำกริยา) ผูกไว้; มั่นหมายไว้, ขอกําหนดไว้, เช่น จองกฐิน จองที่. (ข. จง ว่า ผูก).”

(๒) “กฐิน

บาลีอ่านว่า กะ-ถิ-นะ รากศัพท์มาจาก กฐฺ (ธาตุ = อยู่ลำบาก) + อิน ปัจจัย

: กฐฺ + อิน = กฐิน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่อยู่ลำบาก

คำว่า “กฐิน” ในบาลี :

(1) ถ้าเป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “กฐิน” (คำนาม) ว่า –

the cotton cloth which was annually supplied by the laity to the bhikkhus for the purpose of making robes, also a wooden frame used by the bh. in sewing their robes (ผ้าฝ้ายที่ฆราวาสถวายประจำปีแก่ภิกษุเพื่อทำจีวร, ไม้สะดึงที่ภิกษุใช้เย็บจีวร)

(2) ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า แข็ง, แนบแน่น, ไม่คลอนแคลน, หนัก, หยาบกร้าน, โหดร้าย (hard, firm, stiff, harsh, cruel)

ในที่นี้ “กฐิน” หมายถึงผ้าที่มีผู้ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบสามเดือนแล้วเพื่อผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเดิม มีพระพุทธานุญาตให้สงฆ์ยกผ้านั้นให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันเพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง โดยภิกษุทั้งหมดที่จำพรรษาร่วมกันนั้นต้องช่วยกันทำเพื่อแสดงถึงความสามัคคี

จอง + กฐิน = จองกฐิน เป็นคำประสมแบบไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จองกฐิน : (คำกริยา) แจ้งความจำนงว่าจะนำผ้ากฐินไปทอดที่วัดนั้น ๆ ไว้เป็นการล่วงหน้า.”

ที่คำว่า “กฐิน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 อธิบายความหมายของคำว่า “จองกฐิน” ไว้ ดังนี้ –

“ก่อนจะถึงกฐินกาลผู้ประสงค์จะถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุสงฆ์วัดใดจะต้องไปแจ้งความจํานงว่าจะนำผ้ากฐินไปทอดที่วัดนั้นเป็นการล่วงหน้า การแสดงความจํานงล่วงหน้านี้ เรียกว่า จองกฐิน

อภิปรายขยายความ :

ทอดกฐินทำไมต้อง “จอง

ทำบุญอื่นๆ เช่นถวายสังฆทาน ใครมีศรัทธาจะถวายก็ไปถวายได้เลย ไม่ต้องจอง แต่ทอดกฐินทำไมต้อง “จอง

ที่ต้องจอง (คือแจ้งความจำนงว่าจะนำผ้ากฐินไปทอด) ก็เพราะการทอดกฐินมีข้อจำกัดบางประการ กล่าวคือ วัดหนึ่งในรอบปีหนึ่งรับกฐินได้ครั้งเดียว เมื่อมีผู้ทอดแล้ว คนอื่นจะมาทอดซ้ำอีกไม่ได้

การจองกฐินเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเตรียมการไปทอดกฐิน แต่ทอดไม่ได้เพราะมีคนอื่นทอดไปแล้ว

อุปมาคล้ายๆ นักท่องเที่ยวไม่ได้จองที่พัก เมื่อไปถึงปลายทางหาที่พักไม่ได้เพราะห้องเต็มหมดแล้วฉะนั้น

อีกประการหนึ่ง การจองกฐินเป็นการสงวนสิทธิ์สำหรับคนมีศรัทธา แต่ไม่สามารถทอดได้ฉับพลันทันที จำต้องมีเวลาเตรียมการ ถ้าไม่จองไว้ก่อน คนที่สามารถทอดได้ฉับพลันก็จะฉวยโอกาสทอดก่อน ทำให้คนที่ยังไม่พร้อมในเวลานั้นหมดโอกาสที่จะได้ทอด

การจองกฐินจึงเป็นการให้โอกาสแก่คนที่มีความพร้อมน้อยกว่าได้มีเวลาเตรียมการและสามารถทอดกฐินได้

ธรรมเนียมการจองกฐินเป็นข้อยืนยันว่าคนเก่าท่านเข้าใจกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกฐินเป็นอันดีว่า วัดเดียว ทอดได้ครั้งเดียว มีเจ้าภาพรายเดียว

ปัจจุบัน คำว่า “จองกฐิน” ถูกนำไปใช้ในทางการเมือง เช่น เมื่อถึงกำหนดเปิดประชุมสภา ฝ่ายค้านวางแผนอภิปรายโจมตีฝ่ายรัฐบาล กำหนดว่าใครจะอภิปรายรัฐมนตรีกระทรวงไหนบ้างเป็นต้น เรียกการวางแผนเช่นว่านี้ว่า “จองกฐิน

กล่าวตามสำนวนสมัยใหม่ก็ว่า เอาคำที่มีความหมายในทางบวกไปใช้ในทางลบ

ทำนองเดียวกับคำว่า “ลงแขก” เดิมหมายถึงการที่เพื่อนบ้านร่วมแรงไปช่วยกันทำงานเช่นดำนา เกี่ยวข้าว ให้ลุล่วงเร็วขึ้นโดยไม่รับค่าจ้าง และผลัดเปลี่ยนช่วยกันไปตามความจำเป็นของแต่ละบ้าน นับเป็นประเพณีที่ดีของสังคมไทย

แต่ไปๆ มาๆ คำที่มีความหมายในทางดีนี้ก็ถูกนำไปใช้ในทางเลว คือเรียกการรุมกันข่มขืนกระทําชําเราหญิงว่า “ลงแขก”

จนในที่สุดความหมายในทางเลวกลายเป็นความหมายที่เด่น ในขณะที่ความหมายในทางดีแทบจะไม่มีใครรู้จัก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำชั่ว จองตั๋วไปนรก

: ทำสกปรก นรกจองตัว

#บาลีวันละคำ (2,695)

29-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย