บาลีวันละคำ

วัดหิรัญรูจีวรวิหาร (บาลีวันละคำ 2,700)

วัดหิรัญรูจีวรวิหาร

แยกคำผิด อย่าคิดเพียงแค่ขำๆ

คำว่า “วัดหิรัญรูจีวรวิหาร” มีคนอารมณ์ขันแยกคำเป็น วัดหิรัญรู + จีวร + วิหาร

การแยกคำเช่นนี้ แม้จะเป็นการพูดกันสนุกๆ แต่อาจมีคนเชื่อว่าเป็นความจริง จึงไม่ควรคิดในแง่ตลกขบขันอย่างเดียว แต่ควรถือเป็นโอกาสหาความรู้ไปด้วย

ชื่อ“วัดหิรัญรูจีวรวิหาร” แยกคำที่ถูกต้องคือ วัดหิรัญรูจี + วรวิหาร

มีคำ 2 กลุ่ม คือ “หิรัญรูจี” กลุ่มหนึ่ง “วรวิหาร” กลุ่มหนึ่ง

มีคำบาลีที่ควรรู้ 4 คำ คือ “หิรัญ” “รูจี” “วร” “วิหาร

(๑) “หิรัญ

บาลีเป็น “หิรญฺญ” อ่านว่า หิ-รัน-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) หรฺ (ธาตุ = แสวงหา, นำไป) + ปัจจัย, ซ้อน ญฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (หรฺ + ญฺ + ), แปลง ะ ที่ -(รฺ) เป็น อิ (หรฺ > หิร)

: หรฺ + ญฺ + = หรญฺญ > หิรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า (1) “วัตถุอันคนแสวงหากันเพราะเป็นของล้ำค่า” (2) “วัตถุที่ดึงดูดใจสัตว์โลก

(2) หา (ธาตุ = ละ, ทิ้ง, ถึง) + ญฺญ ปัจจัย, แปลง หา เป็น หิร

: หา > หิร + ญฺญ = หิรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า (1) “วัตถุที่สละประโยชน์เพื่อสัตว์โลก” (เสมือนวัตถุชนิดนั้นสละตัวเองเพื่อประโยชน์ของผู้คน) (2) “วัตถุที่ถึงความล้ำค่า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หิรญฺญ” ว่า gold, gold-piece (ทอง, ชิ้นทองหรือชิ้นเงิน)

บาลี “หิรญฺญ” สันสกฤตเป็น “หิรณฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

หิรณฺย : (คำนาม)  ‘หิรัณย์,’ ทองครรม; เงิน; มาตรา; บุรุษเรตัส, น้ำกามแห่งบุรุษ; อนัศวรพัสดุ, นิตยพัสดุ; พัสดุ; ทรัพย์, สมบัติ; gold; silver; a measure; semen; virile; an imperishable matter, an eternal matter; thing or substance; wealth, property.”

หิรญฺญ” ในภาษาไทยใช้เป็น “หิรัญ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หิรัญ, หิรัญ– : (คำนาม) เงิน, บางแห่งว่า ทอง ก็มี แต่โดยทั่วไปหมายถึง เงิน. (ป. หิรญฺญ; ส. หิรณฺย).”

(๒) “รูจี

บาลีเป็น “รุจิ” (รุ-จิ) รากศัพท์มาจาก รุจฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง; ชอบใจ) + อิ ปัจจัย

: รุจฺ + อิ = รุจิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่รุ่งเรือง” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ชอบใจ

รุจิ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) ความโชติช่วง, ความสว่าง, ความเจิดจ้าหรือชัดเจน (splendour, light, brightness)

(2) ความเอนเอียง, ความชอบใจ, ความชื่นชมยินดี (inclination, liking, pleasure)

(3) ความจูงใจ, อิทธิพล (will, influence)

ในภาษาไทยใช้เป็น “รุจิ” และ “รุจี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รุจิ, รุจี : (คำนาม) แสง, ความรุ่งเรือง; ความงาม; ความชอบใจ. (คำวิเศษณ์) รุ่งเรือง, สว่าง. (ป., ส. รุจิ).”

รุจิ” ในบาลี ในที่นี้แผลงรูปและเสียงเป็น “รูจี

(๓) “วร

บาลีอ่านว่า วะ-ระ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาต = ปรารถนา) + ปัจจัย

: วรฺ + = วร แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ (excellent, splendid, best, noble) เป็นคำนามตรงกับคำที่เราใช้ว่า “พร” แปลว่า ความปรารถนา, พร, ความกรุณา (wish, boon, favour)

(๔) “วิหาร

บาลีอ่านว่า วิ-หา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + หรฺ (ธาตุ = อยู่อาศัย) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)

: วิ + หรฺ = วิหรฺ + = วิหรณ > วิหร > วิหาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “นำอิริยาบถไปเป็นพิเศษ” หมายความว่า ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ หรือยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในที่นั้น อาการเช่นนั้นจึงเรียกว่า “วิหาร

วิหาร” ถ้าใช้เป็นอาการนาม มีความหมายว่า “การอยู่” ถ้าหมายถึงสถานที่ แปลว่า “ที่อยู่

ในภาษาบาลี “วิหาร” ที่แปลว่า “ที่อยู่” โดยทั่วไปหมายถึง “วัด” (monastery สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติเป็นที่อยู่ของสงฆ์) เช่น เวฬุวัน เชตวัน บุพพาราม ชีวกัมพวัน สถานที่เหล่านี้ล้วนมีฐานะเป็น “วิหาร” คือที่อยู่ของพระสงฆ์

ในภาษาไทย “วิหาร” เข้าใจกันในความหมายเฉพาะว่า อาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป คู่กับ “โบสถ์” คืออาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ทำสังฆกรรม

ในภาษาไทย เฉพาะอาคารหลังเดียวในวัด (ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป) เรียกว่า “วิหาร

ในภาษาบาลี พื้นที่หมดทั้งวัด เรียกว่า “วิหาร

การประสมคำ :

หิรัญ + รูจี = หิรัญรูจี แปลว่า “เงินอันงามเปล่งปลั่ง

วร + วิหาร = วรวิหาร แปลว่า “วัดที่ประเสริฐ

เขียนรวมกันเป็น “หิรัญรูจีวรวิหาร” อ่านว่า หิ-รัน-รู-จี-วอ-ระ-วิ-หาน

และโปรดเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า คำว่า “วรวิหาร” ในที่นี้ไม่ใช่สร้อยนามของวัด

สร้อยนามของวัดก็อย่างเช่น วัดเบญจมบพิตร มีสร้อยนามว่า “ดุสิตวนาราม” เวลาเรียกชื่อธรรมดา เรียกว่า “วัดเบญจมบพิตร” เวลาเรียกชื่อเต็มก็เรียกว่า “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” และวัดเบญจมบพิตรนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ถ้าเอาคำแสดง “ชนิดของพระอารามหลวง” พ่วงเข้าไปด้วย ก็ต้องเรียกว่า “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร”

เป็นอันว่าคำว่า “วรวิหาร” เป็นคำแสดง “ชนิดของพระอารามหลวง” ตามระเบียบวิธีจัดชนิดพระอารามหลวง หมายความว่า วัดหิรัญรูจีแห่งนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด “วรวิหาร” (ยังมีพระอารามหลวงชนิดอื่นอีก คือ “วรมหาวิหาร” “ราชวรวิหาร” และ “ราชวรมหาวิหาร”)

สรุปอีกทีว่า –

วัดหิรัญรูจีวรวิหาร” ไม่ใช่แยกคำเป็น วัดหิรัญรู + จีวร + วิหาร อย่างที่พูดกันสนุกๆ ซึ่งอาจมีคนเชื่อว่าเป็นความจริง

วัดหิรัญรูจีวรวิหาร” แยกคำเป็น วัดหิรัญรูจี + วรวิหาร

แถม-ประวัติย่อวัดหิรัญรูจี :

วัดหิรัญรูจีวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนประชาธิปก ฝั่งธนบุรี ใกล้กับคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง)

ข้อความในภาพประชาสัมพันธ์บอกไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้ –

…………..

วัดหิรัญรูจีวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เดิมชื่อ วัดน้อย สร้างขึ้นในปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประมาณปี พ.ศ.๒๓๒๑ โดยเจ้าขรัวเงิน พระชนกของกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (พระราชมารดาในรัชกาลที่ ๔) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระยาอนุชิตได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๗ และได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดหิรัญรูจี พร้อมโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปด้วยเงินทั้งองค์ ปางมารวิชัย ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ

…………..

มีผู้สันนิษฐานว่า เหตุที่ชื่อว่า “วัดน้อย” น่าจะหมายถึงวัดที่ผู้เป็นน้องได้สร้างไว้คู่กับ “วัดใหญ่” (วัดใหญ่ศรีสุพรรณ) ซึ่งเจ้าขรัวทองพี่ชายของเจ้าขรัวเงินเป็นผู้สร้าง

คำว่า “หิรัญรูจี” ที่เป็นนามพระราชทาน มีความหมายว่า “เงิน” ตามนามของเจ้าขรัวเงินผู้สร้างวัด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ค่าของคำ มิใช่เพียงมีไว้ทำให้ขบขัน

: ค่าของคนสำคัญ มิใช่เพียงมีไว้ทำให้ครบคน

#บาลีวันละคำ (2,700)

3-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย