บาลีวันละคำ

นราสภ (บาลีวันละคำ 2,698)

นราสภ

ยังไม่พบในพจนานุกรมไทย

อ่านว่า นะ-รา-สบ

ประกอบด้วยคำว่า นร + อาสภ

(๑) “นร

บาลีอ่านว่า นะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) นี (ธาตุ = นำไป) + อร ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อี ที่ นี (นี > )

: นี > + อร = นร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้นำไป” (2) “ผู้นำไปสู่ความเป็นใหญ่

(2) นรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป; นำไป) + ปัจจัย

: นรฺ + = นร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ดำเนินไปสู่ภพน้อยภพใหญ่” (2) “ผู้อันกรรมของตนนำไป” (3) “ผู้ถูกนำไปตามกรรมของตน

นร” (ปุงลิงค์) ความหมายที่เข้าใจกันคือ “คน” (man) (ปกติไม่จำกัดว่าหญิงหรือชาย)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความไว้ว่า in poetry esp. a brave, strong, heroic man (โดยเฉพาะในบทร้อยกรอง หมายถึงคนผู้กล้าหาญ, แข็งแกร่ง, วีรบุรุษ)

(๒) “อาสภ

บาลีอ่านว่า อา-สะ-พะ รากศัพท์มาจาก อุสฺ (ธาตุ = เร่าร้อน) + อภ ปัจจัย, แปลง อุ ที่ อุ-(สฺ) เป็น อา (อุสฺ > อาส)

: อุสฺ + อภ = อุสภ > อาสภ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังข้าศึกให้เร่าร้อน” หมายถึง คนที่เข้มแข็งและมีคุณลักษณะเด่น, วีรบุรุษหรือคนที่ยิ่งใหญ่, ผู้นำ (a man of strong & eminent qualities, a hero or great man, a leader)

นร + อาสภ = นราสภ บาลีอ่านว่า นะ-รา-สะ-พะ แปลว่า “นระผู้องอาจ” หรือ “ผู้องอาจในหมู่นระ” เป็นคุณนาม หมายถึงพระพุทธเจ้า

นราสภ” ในภาษาไทยอ่านว่า นะ-รา-สบ สำนวนเทศนาโวหารรุ่นเก่าๆ นิยมใช้คำนี้เป็นเสมือนสร้อยพระนามพระพุทธเจ้า เช่น สมเด็จพระบรมศาสดานราสภตรีภพนาถ

อภิปราย :

โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการประกอบรูปศัพท์ “อาสภ” เป็น “อุสภ” มาก่อน ความหมายดั้งเดิมของ “อุสภ” หมายถึง โคตัวผู้ (a bull) ซึ่งมักใช้เป็นเครื่องหมายของความเป็นเพศผู้และพละกำลัง = คนที่แข็งแรงมาก เป็นที่ครั่นคร้ามของคู่ต่อสู้

นักภาษาบอกว่า “อุสภ” นั่นเองที่กลายรูปไปตามลีลาภาษา เป็น “อาสภ” บ้าง “อิสภ” บ้าง “เอสภ” บ้าง

อาสภ” ก็อย่างเช่น “นราสภ” นอกจากนี้ยังมี “ปุริสาสภ” (ปุ-ริ-สา-สะ-พะ) อีกคำหนึ่ง ใครที่นิยมสวดชินบัญชรคงจะระลึกได้ถึงบทที่ว่า –

ชินปญฺชรมชฺฌมฺหิ

วิหรนฺตํ มหีตเล

สทา ปาเลนฺตุ มํ สพฺเพ

เต มหาปุริสาสภา.

(ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ

วิหะรันตัง มะหีตะเล

สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ

เต มะหาปุริสาสะภา)

มหาปุริสาสภา” ก็คือ มหาปุริส + อาสภ = มหาปุริสาสภ แปลว่า “มหาบุรุษผู้องอาจแกล้วกล้า

อิสภ” ก็อย่างเช่น “นิสภ” : นิ + อิสภ = นิสภ (นิ-สะ-พะ) แปลว่า “ผู้กล้าในหมู่คน” หมายถึง พวกคนองอาจ, เจ้าชาย, ผู้นำ; คนประเสริฐ, คนเลอเลิศ (bull among men, prince, leader; princeps, best of men)

เอสภ” ก็อย่างเช่น “รเถสภ” : รเถสุ + เอสภ = รเถสภ (ระ-เถ-สะ-พะ) แปลว่า “ผู้องอาจในท่ามกลางกองทหาร” เป็นคุณนามใช้เรียกกษัตริย์และผู้ที่เกิดในวรรณะกษัตริย์ ตลอดจนผู้เป็นแม่ทัพขุนพลผู้กล้าในสงคราม

แถม :

เราคงจำกันได้ว่า ในอดีตคณะสงฆ์ไทยเคยมีพระมหาเถระระดับสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่ง คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ฉายา “อาสโภ” แปลว่า “ผู้องอาจแกล้วกล้า” ก็คงแปลงความหมายจากชื่อ “อาจ” ของท่านนั่นเอง

ใครอยากรู้ว่าพระมหาเถระรูปนี้องอาจแกล้วกล้าอย่างไร ก็จงศึกษาชีวประวัติของท่านดูเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เป็นหญิงไม่ทำหน้าที่ให้สมหญิง ก็อายควาย

: เป็นชายไม่ทำหน้าที่ให้สมชาย ก็อายวัว

#บาลีวันละคำ (2,698)

1-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย