พุทไธศวรรย์ (บาลีวันละคำ 2,701)
พุทไธศวรรย์
อ่านว่า พุด-ไท-สะ-หฺวัน
ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + ไอศวรรย์
(๑) “พุทธ”
บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)
: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”
“พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
“พุทธ” ในที่นี้อาจมีความหมายได้ 2 นัย คือ 1 “พระพุทธเจ้า” 2 “พระพุทธศาสนา”
(๒) “ไอศวรรย์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ไอศวรรย์ : (คำนาม) ความเป็นเจ้าเป็นใหญ่, ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน; อํานาจ; (กลอน) สมบัติแห่งพระราชาธิบดี, ใช้ว่า ไอศุริย หรือ ไอศูรย์ ก็มี. (ส. ไอศฺวรฺย; ป. อิสฺสริย).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “ไอศวรรย์” บาลีเป็น “อิสฺสริย”
“อิสฺสริย” อ่านว่า อิด-สะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก อิสฺสร + อิย ปัจจัย
(ก) “อิสฺสร” (อิด-สะ-ระ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ
: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)
(2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย
: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่”
(3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)
: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง
“อิสฺสร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)
(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)
(ข) อิสฺสร + อิย ปัจจัย
: อิสฺสร + อิย = อิสฺสริย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้เป็นใหญ่” หมายถึง ความเป็นผู้ปกครอง, ความเป็นนาย, ความเป็นใหญ่, อำนาจปกครอง (rulership, mastership, supremacy, dominion)
“อิสฺสริย” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อิสริยะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิสริย-, อิสริยะ : (คำนาม) ความเป็นใหญ่, ความเป็นเจ้า, ความยิ่งใหญ่. (ป. อิสฺสริย; ส. ไอศฺวรฺย).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “อิสริยะ” สันสกฤตเป็น “ไอศฺวรฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ไอศฺวรฺยฺย, ไอศฺวรฺย : (คำนาม) ‘ไอศวรรย์,’ เทวานุภาพ, สรรพสมรรถศักดิ์, ความแลไม่เห็น, ฯลฯ; ความเปนใหญ่, พลศักดิ์, กำลัง; divine power, omnipotence, invisibility, etc.; supremacy, power, might.”
โปรดสังเกตคำแปลเป็นอังกฤษ ระหว่าง “อิสฺสริย” ในบาลี ซึ่งฝรั่งแปล กับ “ไอศฺวรฺย” ในสันสกฤต ซึ่งไทยแปล (นายร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ [นิยม รักไทย] ผู้จัดทำ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) มีตรงกันคำเดียวคือ supremacy
พุทธ + ไอศวรรย์ = พุทไธศวรรย์ เป็นคำที่คิดขึ้นตามประสงค์ในภาษาไทย อาจแปลตามศัพท์ได้ว่า “พระพุทธผู้ประลุถึงความเป็นอิสระ” (คือหลุดพ้นจากวงจรแห่งสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง)
“พุทไธศวรรย์” เป็นชื่อวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชื่อนี้อาจแปลขยายความพอให้เข้ากับประวัติศาสตร์ว่า “วัดที่ผู้บรรลุความเป็นใหญ่ (คือได้เถลิงราชย์เป็นราชาธิบดี) สร้างถวายไว้ในพระพุทธศาสนา”
แถม-ประวัติย่อวัดพุทไธศวรรย์ :
วัดพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาทางด้านทิศใต้
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วัดพุทไธศวรรย์เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งมีฐานะเป็น “วัดกษัตริย์สร้าง” กล่าวคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว 3 ปี โดยเลือกภูมิสถานบริเวณที่เรียกกันว่า ตำบลเวียงเหล็ก เป็นที่สร้างวัด ปรากฏเรื่องอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า –
…………..
ศักราช 715 ปีมะเส็ง เบญจศก (พ.ศ. 1896) วันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 1 ค่ำ เพลา 2 นาฬิกา 5 บาท ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่พระตาหนักเวียงเหล็กนั้นให้สถาปนาพระวิหารและพระมหาธาตุเป็นอารามแล้ว ให้นามชื่อ วัดพุทไธศวรรย์
(พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, 2507, หน้า 3)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าเอาตนเป็นใหญ่
: แล้วเมื่อไรจะได้เป็นใหญ่เหนือตน
#บาลีวันละคำ (2,701)
4-11-62