บาลีวันละคำ

เรวดีนพมาศ (บาลีวันละคำ 2,708)

เรวดีนพมาศ

มีจริงหรือไม่มีจริงก็อย่าให้พลาดจากประโยชน์

อ่านว่า เร-วะ-ดี-นบ-พะ-มาด

คำว่า “เรวดีนพมาศ” เป็นชื่อหนึ่งของสตรีที่มีนามปรากฏในประวัติศาสตร์หรือตำนานเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทง สตรีผู้นี้มีชื่อเรียกกันเป็น 3 ชื่อ คือ

(๑) “นางนพมาศ

(๒) “เรวดีนพมาศ

(๓) “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์

คำว่า “นพมาศ” และ “ศรีจุฬาลักษณ์” ได้เคยอธิบายความหมายไว้แล้ว โปรดดูรายละเอียดได้ที่ – “นพมาศศรีจุฬาลักษณ์” บาลีวันละคำ (550) 17-11-56

…………..

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/546512302109178

…………..

คำที่มีผู้เอ่ยถึงน้อยที่สุดน่าจะเป็น “เรวดีนพมาศ” ในที่นี้ขออธิบายเฉพาะคำว่า “เรวดี” ส่วนคำว่า “นพมาศ” โปรดศึกษาจากบาลีวันละคำที่อ้างถึง

เรวดี” อ่านว่า เร-วะ-ดี เขียนแบบบาลีเป็น “เรวตี” อ่านว่า เร-วะ-ตี (ภาษาไทย เด็ก บาลี เต่า) รากศัพท์มาจาก รา ( > “สุวณฺณ” = ทอง) + วนฺตุ ปัจจัย, แปลง นฺตุ เป็น , แปลง อา ที่ รา เป็น เอ (รา > เร) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: รา + วนฺตุ = ราวนฺตุ > เรวนฺตุ > เรวต + อี = เรวตี แปลตามศัพท์ว่า “ดาวที่มีสีเหมือนทอง

ตามรากศัพท์เป็นอันได้ความว่า “เรวตี” เป็นชื่อดาว ตามตำราหมายถึง ดาวเรวดี, ดาวปลาตะเพียน, ดาวนาง

บาลี “เรวตี” สันสกฤตก็เป็น “เรวตี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เรวตี : (คำนาม) ‘เรวตี,’ ชายาของพลราม’ นักษัตรหมู่ที่สุด, มีดาวสามสิบสองดวง, มีรูปดั่งมฤทังค์หรือรำมะนาเล็ก; มาตฤองค์หนึ่ง; โค, แม่โค; the wife of Balarāma; the last of Nakshatras or lunar mansions, containing thirty-two stars, figured by a tabor; one of the Mātris; a cow.

เรวตี” ในภาษาไทยใช้เป็น “เรวดี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เรวดี : (คำนาม) ดาวฤกษ์ที่ ๒๗ มี ๑๖ ดวง เห็นเป็นรูปหญิงท้อง, ดาวปลาตะเพียน หรือ ดาวนาง ก็เรียก. (ป., ส. เรวตี).”

โปรดสังเกตว่า สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกว่ากลุ่มดาวเรวดีมี 32 ดวง แต่พจนานุกรมฯ บอกว่ามี 16 ดวง มากน้อยกว่ากันเท่าหนึ่งพอดี

จริงๆ แล้วมีกี่ดวง ผู้ต้องการหลักความรู้ที่ถูกต้องโปรดตรวจสอบดูเถิด

อภิปราย :

ถ้าไม่มีที่มาเป็นอย่างอื่น คำว่า “เรวดี” ที่ปรากฏในชื่อ “เรวดีนพมาศ” ก็มาจากชื่อของดาวฤกษ์

ปัญหาเกี่ยวกับ “นางนพมาศ” หรือ “เรวดีนพมาศ” ที่ได้ยินยกขึ้นมาพูดกันเวลานี้ก็คือ มีผู้แสดงมติว่านางนพมาศไม่มีตัวตนอยู่จริง

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีความประสงค์จะร่วมโต้เถียง แต่มีข้อสังเกตเป็นแนวคิดดังนี้ –

ต้นเรื่อง “นางนพมาศ” หรือ “เรวดีนพมาศ” มาจากหนังสือเก่าเล่มหนึ่งที่เรียกันในเวลานี้ว่า “นางนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์

หนังสือเล่มนี้เขียนเป็นคำของนางนพมาศบรรยายเรื่องราวสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี กล่าวถึงเรื่องลอยกระทงด้วย คนไทยก็เลยเข้าใจกันเสมือนว่านางนพมาศเป็นต้นคิดเรื่องลอยกระทง ชื่อนางนพมาศกับประเพณีลอยกระทงจึงถูกเอ่ยถึงควบคู่กันเสมอมา

แต่หนังสือเล่มนี้ผู้รู้ท่านบอกว่า เค้าเดิมอาจมีมาแต่สมัยสุโขทัยจริง หากแต่เรื่องราวต่างๆ ถูกแต่งเติมเสริมต่อขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ 2 หรือที่ 3 นี่เอง พิสูจน์ได้โดยสำนวนหนังสือไม่เก่าถึงสุโขทัยอย่างหนึ่ง กับเรื่องที่พรรณนาไว้หลายๆ อย่างเป็นเรื่องเพิ่งเกิดในสมัยหลัง ไม่ใช่เรื่องที่มีในสมัยสุโขทัย-นี่อีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น

นี่อาจจะเป็นที่มาของมติที่ว่า นางนพมาศไม่มีตัวตนอยู่จริง

แนวคิดของผู้เขียนบาลีวันละคำก็คือ เรากำลังปฏิเสธอายุของหนังสือ หรือว่ากำลังปฏิเสธข้อเท็จจริงในหนังสือด้วย

อายุของหนังสือนั้นปฏิเสธได้แน่ คือไม่เก่าถึงสุโขทัยจริง

แต่เราจะปฏิเสธข้อเท็จจริงทุกเรื่องในหนังสือด้วยหรือ?

ในหนังสือกล่าวถึงพระร่วงสุโขทัย เราจะบอกว่าพระร่วงสุโขทัยไม่มีตัวตนอยู่จริง-กระนั้นหรือ?

จะบอกว่านางนพมาศไม่มีตัวตนอยู่จริง-ก็ได้ และอาจเป็นเช่นนั้นจริง แต่ไม่ใช่อ้างเหตุผลว่า-เพราะหนังสือเรื่องนางนพมาศไม่เก่าถึงสุโขทัยจริง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: นางนพมาศจะมีจริงหรือไม่มีจริง

ก็เป็นเรื่องของนางนพมาศ

: แต่โอกาสที่จะทำความดีมีอยู่จริง

————

หมายเหตุ:

ภาพประกอบเป็นภาพที่ถ่ายจากหนังสือ นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เฉพาะส่วนที่เป็นคำนำ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ญาติมิตรโดยทั่วกัน

#บาลีวันละคำ (2,708)

11-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย