มุนิวรวจนํ (บาลีวันละคำ 2,710)
มุนิวรวจนํ
แปลอย่างไรกันแน่
บาลีวันละคำวันนี้อาจจะหนักไปนิดสำหรับญาติมิตรที่ไม่มีพื้นทางบาลี แต่จะพยายามอธิบายเป็นภาษาง่ายๆ เท่าที่จะง่ายได้
“มุนิวรวจนํ” อ่านว่า มุ-นิ-วะ-ระ-วะ-จะ-นัง เป็นคำหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในบทชุมนุมเทวดา คือบทเชิญเทวดามาฟังธรรม เฉพาะบทนี้มีข้อความว่า –
ติฏฺฐนฺตา สนฺติเก ยํ มุนิวรวจนํ
สาธโว เม สุณนฺตุ.
(ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง
สาธะโว เม สุณันตุ.)
(ดูบทเต็มใน “ชุมนุมเทวดา” บาลีวันละคำ (1,174) 16-8-58)
คำว่า “ติฏฺฐนฺตา สนฺติเก” (ติด-ถัน-ตา สัน-ติ-เก) แปลว่า “เทพยดาซึ่งอยู่ในที่ใกล้เคียง” (เสริมความว่า-ขอเชิญเทพยดาเหล่านั้นจงมาประชุมพร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้)
คำว่า “สาธโว เม สุณนฺตุ” (สา-ทะ-โว เม สุ-นัน-ตุ) แปลว่า “ท่านสัตบุรุษทั้งหลายจงสดับ (คำนั้น) แห่งข้าพเจ้า”
คำว่า “ยํ” (ยัง) ที่อยู่หน้า “มุนิวรวจนํ” แปลว่า “ใด” ( = คำใด)
คำที่เป็นปัญหา คือ “มุนิวรวจนํ” แยกศัพท์เป็น มุนิ + วร + วจนํ
(๑) “มุนิ” (มุ-นิ) รากศัพท์มาจาก –
(1) มุนฺ (ธาตุ = รู้; ผูก) + อิ ปัจจัย
: มุนฺ + อิ = มุนิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รู้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น” (2) “ผู้รู้ประโยชน์ทั้งสอง” (3) “ผู้ผูกจิตของตนไว้มิให้ตกไปสู่อำนาจของราคะโทสะเป็นต้น”
(2) โมน (ความรู้) + อี ปัจจัย, รัสสะ อี เป็น อิ, แผลง โอ ที่ โม-(น) เป็น อุ (โมน > มุน)
: โมน > มุน + อี = มุนี > มุนิ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความรู้หรือมีโมเนยยธรรม”
“มุนิ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ผู้บำเพ็ญพรต, ผู้ศักดิ์สิทธิ์, นักปราชญ์, คนฉลาด (a holy man, a sage, wise man)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มุนิ, มุนี : (คำนาม) นักปราชญ์, ฤษี, พระสงฆ์. (ป., ส.).”
(๒) “วร”
บาลีอ่านว่า วะ-ระ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาต = ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: วรฺ + อ = วร แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ (excellent, splendid, best, noble) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลว่า ความปรารถนา, พร, ความกรุณา (wish, boon, favour)
ในภาษาไทย “วร” คงใช้เป็น “วร” ก็มี แปลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมของไทยเป็น “พร” ก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “วร” และ “พร” บอกไว้ว่า –
(1) วร– [วะระ-, วอระ-] : (คำนาม) พร; ของขวัญ. (คำวิเศษณ์) ยอดเยี่ยม, ประเสริฐ, เลิศ. (ป., ส.).
(2) พร [พอน] : (คำนาม) คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร. (ป. วร).
ในที่นี้ “วร” เป็นคำวิเศษณ์
(๓) “วจนํ”
รูปศัพท์เดิมเป็น “วจน” (วะ-จะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วจ (ธาตุ = พูด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: วจฺ + ยุ > อน = วจน แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” “คำเป็นเครื่องพูด”
“วจน” ในบาลีหมายถึง –
(1) คำพูด, การเปล่งเสียง, ถ้อยคำ, การร้องเรียก (speaking, utterance, word, bidding)
(2) วิธีแสดงออกซึ่งคำพูด, พจน์, การแสดงออก (way of speech, term, expression)
“วจน” (นปุงสกลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “วจนํ” (วะ-จะ-นัง)
…………..
รู้คำแปลหมดทุกคำแล้ว ต่อไปก็มาถึงการประสมคำ ซึ่งจะเป็นการตอบปัญหาไปในตัวว่า “มุนิวรวจนํ” แปลอย่างไรกันแน่
“มุนิ” (มุนี, นักปราชญ์) กับ “วจนํ” (คำพูด) เป็นคำนาม ไม่มีปัญหา
แต่ “วร” (ประเสริฐ) เป็นคุณศัพท์หรือคำวิเศษณ์ มีปัญหา
ปัญหาก็คือ ในที่นี้ อะไรประเสริฐ?
“มุนี-ประเสริฐ”?
หรือว่า
“คำ-ประเสริฐ”
ถ้า “มุนี-ประเสริฐ” ก็ประสมคำเป็น มุนิ + วร = มุนิวร (มุ-นิ-วะ-ระ)
กรณีนี้ “วร” เป็นคุณศัพท์ของ “มุนิ” = มุนีผู้ประเสริฐ
ถ้า “คำ-ประเสริฐ” ก็ประสมคำเป็น วร + วจน = วรวจน (วะ-ระ-วะ-จะ-นะ > วรวจนํ)
กรณีนี้ “วร” เป็นคุณศัพท์ของ “วจนํ” = คำอันประเสริฐ
เพราะฉะนั้น “มุนิวรวจนํ” จึงแปลได้ 2 แบบ –
แบบที่หนึ่ง: มุนิวร + วจนํ = “คำของพระมุนีผู้ประเสริฐ”
แบบที่สอง: มุนิ + วรวจนํ = “คำอันประเสริฐของพระมุนี”
นี่คือที่มาของคำถามว่า “มุนิวรวจนํ” แปลอย่างไรกันแน่?
อภิปราย :
เป็นที่รู้กันในหมู่คนไทยที่รู้หลักภาษาบาลีว่า ในภาษาบาลี คำขยายหรือที่เรียกเป็นคำศัพท์ว่า “คำวิเศษณ์” (ไวยากรณ์บาลีเรียก “วิเสสนะ”) ต้องอยู่ข้างหน้าคำที่ถูกขยาย (ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “วิเสสนบุพบท” = บทที่มีคำขยายอยู่หน้า) เช่นคำว่า “วร” ที่กำลังพูดถึงในที่นี้เป็นคำวิเศษณ์ อยู่ข้างหน้าคำนามที่ถูกขยาย เช่น –
วรชายา = ภรรยาที่ประเสริฐ
วรดนู = หญิงที่ประเสริฐ คือหญิงงาม
วรปัญญ์ = ผู้มีปัญญาเลิศ
วราวุธ = อาวุธอย่างประเสริฐ
แต่หลักที่คนส่วนมากไม่ทราบก็คือ คำขยายในภาษาบาลีที่อยู่หลังคำที่ถูกขยาย (ตรงกันข้ามกับที่เข้าใจกัน) ก็มี โดยเฉพาะคำว่า “วร” ที่อยู่หลังคำที่ถูกขยายก็อย่างเช่น –
ชินวร = พระชินเจ้าผู้ประเสริฐ เป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้า (the noble victor) คำนี้คือที่เราใช้ในภาษาไทยและอ่านว่า ชิน-นะ-วอน
ธมฺมวร = ธรรมอันประเสริฐ (the best norm)
นครวร = อริยนคร (the noble city)
รตนวร = แก้วอันเลิศ (the best of gems)
ราชวร = พระราชาที่มีพระนามกระเดื่อง (famous king)
ลักษณะเช่นนี้ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “วิเสสนุตรบท” = บทที่มีคำขยายอยู่หลัง โดยเฉพาะบทที่มีคำว่า “วร” เป็นคำขยายอยู่หลังเช่นนี้จะพบได้ทั่วไปในคัมภีร์บาลี
ในที่นี้ ถ้าประสงค์จะให้แปลว่า “พระมุนีผู้ประเสริฐ” ตามความเข้าใจพื้นฐานที่ว่าคำขยายต้องอยู่ข้างหน้าคำที่ถูกขยาย คำนี้ก็ควรจะต้องเป็น “วรมุนิ” ไม่ใช่ “มุนิวร”
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ลองค้นดูในคัมภีร์บาลี เบื้องต้น ยังไม่พบรูปศัพท์ “วรมุนิ” เลยแม้แต่แห่งเดียว
แต่รูปศัพท์ “มุนิวร” มีใช้อยู่ทั่วไปในคัมภีร์บาลี (ดูภาพประกอบ)
และถ้าประสงค์จะให้แปลว่า “คำอันประเสริฐ” ตามความเข้าใจพื้นฐานและหลักการเดียวกัน คำนี้เป็น “วรวจนํ” ก็นับว่าถูกต้องแล้วตามหลักนั้น
แต่น่าประหลาด ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ลองค้นดูในคัมภีร์บาลี เบื้องต้น ยังไม่พบรูปศัพท์ “วรวจนํ” เลยแม้แต่แห่งเดียว!
ที่ต้องใช้คำว่า “เบื้องต้น” กำกับไว้ด้วย ก็เนื่องจากคัมภีร์ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นแหล่งสืบค้นอาจจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ อาจมีท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งค้นพบ “วรมุนิ” และ “วรวจนํ” ในโอกาสต่อไปก็เป็นได้
ขอฝากนักเลงบาลีช่วยกันสืบสวนต่อไปเทอญ
สรุปเป็นคำตอบว่า บทชุมนุมเทวดาข้างต้น คือ –
…………..
ติฏฺฐนฺตา สนฺติเก ยํ มุนิวรวจนํ
สาธโว เม สุณนฺตุ.
แปลว่า –
ติฏฺฐนฺตา สนฺติเก
ขอเชิญเทพยดาซึ่งอยู่ในที่ใกล้เคียง (จงมาประชุมพร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้)
ยํ มุนิวรวจนํ
คำใดเป็นคำของพระมุนีผู้ประเสริฐ
สาธโว เม สุณนฺตุ.
ท่านสัตบุรุษทั้งหลายจงสดับคำนั้นแห่งข้าพเจ้า
…………..
ดังนี้ ควรยุติว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง อย่างน้อยก็ในที่นี้และในขณะนี้ จนกว่าจะมีผู้เสนอหลักฐานเป็นอย่างอื่นที่เชื่อถือได้มากกว่า
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แม้จะมีหลักก็อย่าปักใจเชื่อไปทั้งหมด
: เพราะกฎทุกกฎมีข้อยกเว้น
#บาลีวันละคำ (2,710)
13-11-62