พจนารถ (บาลีวันละคำ 2,715)
พจนารถ
อ่านอย่างไร แปลอย่างไร
“พจนารถ” แยกศัพท์เป็น พจน + อรถ
(๑) “พจน”
บาลีเป็น “วจน” (วะ-จะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วจ (ธาตุ = พูด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: วจฺ + ยุ > อน = วจน แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” “คำเป็นเครื่องพูด”
“วจน” ในบาลีหมายถึง –
(1) คำพูด, การเปล่งเสียง, ถ้อยคำ, การร้องเรียก (speaking, utterance, word, bidding)
(2) วิธีแสดงออกซึ่งคำพูด, พจน์, การแสดงออก (way of speech, term, expression)
(๒) “อรถ”
รูปคำสันสกฤตสะกดเป็น “อรฺถ” (มีจุดใต้ ร) บาลีเป็น “อตฺถ” (อัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง เป็นไป; พินาศ) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)
: อรฺ + ถ = อรฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ” (4) “ภาวะที่พินาศ”
(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตเป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)
: อสฺ + ถ = อสฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์”
(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + อ ปัจจัย
: อตฺถฺ + อ = อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ”
“อตฺถ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ; ความดี, พร, สวัสดิภาพ; ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)
(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา, ประโยชน์ (need, want, use)
(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import [of a word], denotation, signification)
(4) ข้อความ, สิ่งของ (matter, thing)
(5) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)
ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (3)
วจน + อตฺถ = วจนตฺถ (วะ-จะ-นัด-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความหมายของคำพูด” หมายถึง วจนัตถะหรือการวิเคราะห์คำหรือความหมายของคำ (word-analysis or meaning of words)
บาลี “อตฺถ” ถ้าเขียนอิงสันสกฤตในภาษาไทยใช้เป็น “อรรถ” (อัด) ในที่นี้เมื่อสนธิกับ “วจน” ใช้ตรงตามรูปสันสกฤตเป็น “อรถ” แปลง อ– เป็น อา-, แผลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมในภาษาไทย
: วจน + อรถ = วจนรถ > วจนารถ > พจนารถ อ่านว่า พด-จะ-นาด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พจนารถ : (คำนาม) เนื้อความของคําพูด. (ส.).”
อภิปราย :
ในบทกลอน “พจนารถ” ไม่ได้แปลตรงตัวว่า “เนื้อความของคําพูด” แต่มักใช้หมายถึง ข้อความ, เรื่องราว, ถ้อยคำ, คำพูดทั่วไป
ปัจจุบัน คำนี้พจนานุกรมฯ สะกด “พจนารถ” แต่ในหนังสือเก่าสะกดต่างกันเป็น “พจนาตถ์” ก็มี “พจนาดถ์” ก็มี (อาจมีสะกดเป็นอย่างอื่นอีก) เช่นใน นิราศภูเขาทอง ของสุนทรภู่เป็นต้น ขอยกมาให้ดูในที่นี้ ดังนี้ –
(โปรดสังเกตถ้อยคำที่แตกต่างกันไป 3 แห่งด้วย)
…………..
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนาดถ์
เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำในลำคลอง
มิได้คล่องเคืองขัดหัทยา
ที่มา: นิราศภูเขาทอง ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
…………..
พระทรงแต่งแปลงบทพจนาดถ์
เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง
มิได้คล่องเคืองขัดพระหัทยา
ที่มา: นิราศภูเขาทอง ฉบับประวัติคำกลอนสุนทรภู่
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อ่านคนให้ทะลุไปถึงใจดำ
: อ่านคำให้ทะลุไปถึงใจความ
#บาลีวันละคำ (2,715)
18-11-62