ลายเซ็น (บาลีวันละคำ 2,728)
ลายเซ็น
ภาษาบาลีว่าอย่างไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลายเซ็น : (ภาษาปาก) (คำนาม) ลายมือชื่อ.”
ตามไปดูที่คำว่า “ลายมือชื่อ” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“ลายมือชื่อ : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) ชื่อหรือสัญลักษณ์แทนชื่อของบุคคลซึ่งบุคคลนั้นลงไว้ในหนังสือหรือเอกสารเพื่อรับรองหรือแสดงว่าตนเป็นผู้ทำหนังสือหรือเอกสารนั้น และหมายความรวมถึงลายพิมพ์นิ้วมือและเครื่องหมายซึ่งบุคคลลงไว้แทนลายมือชื่อของตนด้วย; (ปาก) น. ลายเซ็น.”
ตามไปดูที่คำว่า “เซ็น” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“เซ็น ๒ : (คำกริยา) ลงลายมือชื่อ. (อ. sign).”
เป็นอันว่า “เซ็น” เราแปลงมาจากคำอังกฤษว่า sign
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำว่า sign เป็นบาลีหลายคำ ขอยกมา 3 คำ ดังนี้
(1) lakkhaṇa ลกฺขณ (ลัก-ขะ-นะ) = “สิ่งที่กำหนดลงไว้” คือที่เราทับศัพท์ว่า “ลักษณะ”
(2) lañchana ลญฺฉน (ลัน-ฉะ-นะ) = “สิ่งเป็นเครื่องทำเครื่องหมาย” คือ เครื่องหมาย หรือตรา เป็นคำที่มีความหมายอย่างเดียวกับคำที่เราค่อนข้างคุ้นในภาษาไทย คือ “ลัญจกร” เช่นในคำว่า “พระราชลัญจกร”
(3) aṅka องฺก (อัง-กะ) = เครื่องหมาย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “องฺก” ว่า sign, mark, brand (เครื่องหมาย, รอย, ตรา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “อังกนะ” ซึ่งมาจากรากศัพท์เดียวกัน บอกความหมายไว้ว่า “การทําเครื่องหมาย, การประทับตรา”
บรรดาคำที่แสดงมา จะเห็นได้ว่าไม่มีคำใดที่ระบุชัดลงไปว่า “ตัวอักษร” ที่เป็นเครื่องหมายว่าเป็นชื่อของบุคคลนั้น คือ“ลายมือชื่อ” ซึ่งหมายถึง “เขียนชื่อด้วยมือ” ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะในยุคแรกเริ่มที่มนุษย์ใช้เครื่องหมายแทนตัวนั้นยังไม่มีตัวอักษรที่ยุติลงตัวดังที่เรารู้กันในปัจจุบัน
สำนวนเก่าในคัมภีร์บาลีก็ใช้คำที่แปลได้ว่า “ประทับตรา” ซึ่งจะเป็นรูปอะไรก็แล้วแต่จะกำหนดให้รู้ว่าหมายถึงบุคคลนั้น
คำที่ออกมาจาก sign คำหนึ่งคือ signature พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลว่า “ลายมือชื่อ” ตรงกับคำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ดูข้างต้น) ซึ่งภาษาปากเรียกกันว่า “ลายเซ็น” ตามคำที่ยกมาเป็นบาลีวันละคำวันนี้
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำว่า signature เป็นบาลีว่า –
(1) hatthalañchana หตฺถลญฺฉน (หัด-ถะ-ลัน-ฉะ-นะ) “เครื่องหมายที่ทำด้วยมือ” = ลงลายมือชื่อ
(2) hatthamuddā หตฺถมุทฺทา (หัด-ถะ-มุด-ทา) “รอยประทับด้วยมือ” = ลงลายมือชื่อ
เฉพาะคำว่า “หตฺถมุทฺทา” เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์ เข้าใจกันในความหมายว่า “สัญญาณแห่งมือ” ซึ่งอาจหมายถึงการใช้มือบอกความหมายต่างๆ หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงลายลักษณ์ที่ใช้มือเขียน อาจจะตรงกับคำว่า “แปะโป้ง” ในภาษาไทย คือกรณีคนที่เซ็นชื่อไม่ได้เพราะเขียนหนังสือไม่เป็น ก็ใช้วิธีกดลายนิ้วหัวแม่มือเพื่อเป็นหลักฐานแทนลายเซ็น
ในภาษาไทยมีคำที่รูปคำดูจะเข้าชุดกัน คือ “หัตถเลขา” (หัด-ถะ-เล-ขา) แปลตามตัวว่า “เขียนด้วยมือ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “หัตถเลขา” ไว้ แต่เก็บคำว่า “ราชหัตถเลขา” บอกว่าเป็นคำราชาศัพท์ (ใช้แก่พระมหากษัตริย์) ใช้ว่า “พระราชหัตถเลขา” หมายถึง จดหมาย ไม่ได้หมายถึง “ลายเซ็น” หรือ “ลายมือชื่อ”
อภิปราย :
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านข่าวในที่แห่งหนึ่ง บอกว่า มีผู้พยายามจะล่าลายเซ็นให้ได้ล้านชื่อเพื่อเสนอให้รัฐบาลบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ-ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นด้วยล้านเปอร์เซ็นต์
แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีล่าลายเซ็น
ในอดีต เรามีบทเรียนมาแล้ว ล่าลายเซ็นได้มากมาย ต้องใช้รถบรรทุก 2 คันขนกระดาษที่ลงชื่อแล้วไปส่งที่รัฐสภา
ผลก็คือ-ไม่บัญญัติ
…………..
ดูก่อนภราดา!
ต่อให้คนไทยลงชื่อกันหมดทั้งประเทศก็ไม่สำเร็จ เพราะ –
: การบัญญัติอะไรไว้รัฐธรรมนูญ-เขาไม่ต้องการ “รายชื่อ”
: แต่ต้องการ “มือ” ที่ยกในสภา
#บาลีวันละคำ (2,728)
1-12-62