บาลีวันละคำ

เอวมฺเม สุตํ (บาลีวันละคำ 2,732)

เอวมฺเม สุตํ

น่าจะเป็นคำติดปากของนักสวดมนต์

อ่านว่า เอ-วำ-เม สุ-ตัง

เป็นคำบาลีตรงตัว ประกอบด้วยคำว่า (๑) เอวํ (๒) เม (๓) สุตํ

(๑) “เอวํ

อ่านว่า เอ-วัง เป็นคำจำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมเสมอ

เอวํ” แปลว่า อย่างนั้น, เช่นนั้น, อย่างนี้, เช่นนี้, ด้วยอาการอย่างนั้น, ด้วยอาการอย่างนี้, ด้วยประการฉะนี้ (so, thus, in this way)

เอวํ” เขียนแบบไทยเป็น “เอวัง”  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เอวัง : (ภาษาปาก) จบ, หมดสิ้น.”

แต่เดิมพระสงฆ์แสดงธรรมด้วยการยกข้อความในพระไตรปิฎกมาแสดง (ธรรมเนียมพระถือคัมภีร์เทศน์มาจากเหตุนี้) พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี พระผู้เทศน์จึงต้องแปลเป็นคำไทยสลับกันไป เป็นที่มาของคำว่า “แปลร้อย” (แปลร้อย : แปลเอาความโดยยกศัพท์บาลีมาคั่นไว้. ร่องรอยสำนวนแปลร้อยที่เรารู้จักกันดีคือร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก)

เมื่อจบข้อความที่เทศน์ จะมีคำว่า “เอวํ” ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “คำสอนของพระพุทธเจ้ามีเนื้อความดังที่แสดงมานี้” แต่สำนวนที่นิยมกันมากที่สุดและถือว่าเป็นแบบแผนคือ “เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้” จนเป็นที่รู้กันว่า เมื่อลงท้ายว่า “เอวัง ก็มี…” ก็คือ จบการแสดงพระธรรมเทศนา

คำว่า “เอวัง” ในภาษาไทยจึงเป็นสำนวน มีความหมายว่า จบ, หมดสิ้น ดังที่พจนานุกรมฯ ว่าไว้

แต่ในที่นี้ “เอวํ” ไม่ได้แปลว่า จบ หรือหมดสิ้น แต่แปลว่า อย่างนี้, เช่นนี้

(๒) “เม

อ่านว่า เม ตรงตัว เป็นปุริสสรรพนาม (ปุ-ริ-สะ-สับ-พะ-นาม) แทนตัวผู้พูด ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “อุตตมบุรุษ” รูปคำเดิมคือ “อมฺห” อ่านว่า อำ-หะ หรือจะออกเสียงเป็น อำ-หฺมะ ก็ได้ นักเรียนบาลีเรียกติดปากว่า “อมฺห ศัพท์” เทียบคำอังกฤษคือ I (ไอ)

อมฺห” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “เม” แปลว่า “อันข้าพเจ้า” ทำหน้าที่เป็น “กัตตา” (ผู้ทำ) ในประโยค

(๓) “สุตํ

อ่านว่า สุ-ตัง เป็นคำกริยา รูปคำเดิมเป็น “สุต” (สุ-ตะ) รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) + ปัจจัย

: สุ + = สุต แปลตามศัพท์ว่า “-อันเขาฟังแล้ว

สุต” ในบาลีใช้เป็นคำกริยาและคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –

(1) ได้ยิน; เรียนรู้; ได้ฟัง (heard; learned; taught)

(2) มีชื่อเสียง (renowned)

การประกอบคำเป็นประโยค :

๑ เอวํ + เม แปลงนิคหิตที่ (เอ)-วํ เป็น มฺ (เอวํ > เอวมฺ)

: เอวํ + เม = เอวํเม > เอวมฺเม (เอ-วำ-เม)

เอวมฺเม” เป็นการประสมคำโดยวิธีสนธิ คือคำ 2 คำมาเชื่อมกัน แต่ยังเป็นคนละคำเหมือนเดิม ต่างจากวิธีสมาส คือคำ 2 คำมาชนกันแล้วกลายเป็นคำเดียวกัน

๒ “เอวมฺเม”เป็นคำหนึ่ง (ความจริงคือ 2 คำ คือ “เอวํ” + “เม”) “สุตํ” เป็นอีกคำหนึ่ง รวมเป็นข้อความที่เป็นประโยค

เขียนตามปกติเป็น “เอวมฺเม สุตํ” (เอ-วำ-เม สุ-ตัง)

แปลที่ละคำ –

เม = อันข้าพเจ้า

สุตํ = ฟังแล้ว

เอวํ = อย่างนี้

เอวมฺเม สุตํ” แปลตามสำนวนนิยมว่า “ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้” ภาษาอังกฤษนิยมแปลว่า thus have I heard

ขยายความ :

คำว่า เม = อันข้าพเจ้า “ข้าพเจ้า” ในที่นี้หมายถึงพระอานนทเถระผู้จำพระสูตรต่างๆ ไว้ได้ แล้วนำมาบรรยายในที่ประชุมเมื่อคราวทำปฐมสังคายนา อันเป็นต้นกำเนิดพระไตรปิฎกที่นำสืบกันมาจนถึงทุกวันนี้

เอวมฺเม สุตํ” เป็นคำขึ้นต้นพระสูตรในพระไตรปิฎก ถ้าฟังพระสวดมนต์จะได้ยินข้อความนี้เสมอ ท่านที่นิยมสวดมนต์เองก็ย่อมจะได้เคยสวดข้อความนี้มาแล้ว

ข้อความที่มักจำกันได้ติดปากคือ “เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา ….” (ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้: สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า … (ประทับอยู่ ณ สถานที่นั้นๆ … ต่อจากนั้นก็เป็นเนื้อความในพระสูตร บรรยายความที่เกิดขึ้นเป็นไป เช่นมีบุคคลมาเฝ้า ทูลถามปัญหา พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสพระธรรมเทศนาว่าอย่างนั้นๆ – อย่างนี้เป็นต้น)

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอแนะให้ชาวเรา-โดยเฉพาะนักสวดมนต์ทั้งหลาย ช่วยกันจำคำว่า “เอวมฺเม สุตํ” ให้เป็นคำพูดติดปาก

พูดคำว่า “เอวมฺเม สุตํ” เสมอๆ เสมือนว่าได้สาธยายพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก

พูดคำว่า “เอวมฺเม สุตํ” คำเดียวมีค่าเท่ากับได้สาธยายหมดทุกพระสูตร เพราะทุกพระสูตรขึ้นต้นว่า “เอวมฺเม สุตํ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าเพิ่งโทษคนฟังว่าทำไมฟังไม่รู้เรื่อง

: แต่จงโทษตัวเองว่าทำไมไม่พูดให้เขารู้เรื่อง

#บาลีวันละคำ (2,732)

5-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย