บาลีวันละคำ

มุทิตา ไม่ใช่ “มุทุตา” (บาลีวันละคำ 2,734)

มุทิตา ไม่ใช่ “มุทุตา

และไม่ใช่ “มุฑิตา

มุทิตา” บาลีเขียน “มุทิตา” (มุ-ทิ-ตา) เหมือนกัน มีรากศัพท์มา 2 นัย คือ –

(1) มุทฺ (มุ-ทะ, ธาตุ = ยินดี, เบิกบาน) + อิ อาคม + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มุทฺ + อิ + = มุทิต + อา = มุทิตา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี” หมายถึง ชื่นชม, ยินดี, พอใจ (pleased, glad, satisfied)

ความหมายตามนัยนี้ ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า มีใจชื่นชม, มีใจปราโมทย์, ดีใจ (with gladdened heart, pleased in mind)

(2) มุทุ (อ่อนโยน) + ตา ปัจจัย, แปลง อุ ที่ (มุ)-ทุ เป็น อิ (มุทุ > มุทิ)

: มุทุ + ตา = มุทุตา > มุทิตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้อ่อนโยน” หมายถึง ความมีใจอ่อน, ความกรุณา, ความเห็นอกเห็นใจ (soft-heartedness, kindliness, sympathy)

ความหมายตามนัยนี้ ในทางปฏิบัติก็คือ ใครจะสุขหรือจะทุกข์ ก็รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ถ้าสุขก็พลอยยินดี ถ้าทุกข์ก็พลอยเดือดร้อนใจไปด้วย

คำว่า “มุทิตา” ในทางธรรม มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “อนุโมทนา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มุทิตา : (คำนาม) ความมีจิตพลอยยินดีในลาภยศสรรเสริญสุขของผู้อื่น เป็นข้อ ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. (ป.).”

มุทิตา” เป็นธรรมข้อที่ 3 ในพรหมวิหาร 4

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

มุทิตา : ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี, เห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน ไม่กีดกันริษยา; ธรรมตรงข้ามคือ อิสสา (ข้อ ๓ ในพรหมวิหาร ๔).”

อภิปราย :

คำว่า “มุทิตา” (-ทิ– ท ทหาร) นี้ ยังมีคนชอบเขียนผิดเป็น “มุฑิตา” (-ฑิ– ฑ มณโฑ) กันอยู่ทั่วไป แบบ-ไม่ยอมรับรู้อะไร ไม่อ่าน ไม่ฟังคำอธิบายชี้แจงใดๆ ยึดความเข้าใจของตัวเองเป็นเกณฑ์

ไม่ทราบว่าไปเอาความเข้าใจผิดๆ มาจากไหน

อาจจะอ้างว่า ก็-เห็นใครๆ เขาเขียนกันอย่างนี้ คือเห็นใครๆ เขาสะกดเป็น “มุฑิตา” (-ฑิ– ฑ มณโฑ)

ส่วนที่ใครๆ เขาเขียนถูก สะกดถูกเป็น “มุทิตา” (-ทิ– ท ทหาร) มีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง กลับมองไม่เห็น ไม่เอาไปเป็นตัวอย่าง ชอบกลมาก

เวลานี้มีมาในมาดใหม่ คือตั้งใจจะให้มีความหมายว่า “มุทิตา” นั่นแหละ แต่สะกดเป็น “มุทุตา” ดูคล้ายๆ จะฉีกแนวให้ต่างไปจากคำเดิม แบบ-มีความสร้างสรรค์อะไรทำนองนั้น

ในภาษาบาลีมีคำว่า “มุทุตา” หมายถึง ความนุ่ม, ความใจอ่อน, การปั้นแต่งได้ (softness, impressibility, plasticity) คือการมีจิตใจอ่อนโยน ไม่ดื้อกระด้าง ถอดเป็นลักษณะนิสัยคืออ่อนน้อมถ่อมตน

และถ้าสังเกตรากศัพท์ของ “มุทิตา” ในความหมายตามนัยที่ 2 (ดูข้างต้น) ก็จะเห็นว่า ความหมายตามนัยนี้ “มุทุตา” นั่นเองแปลงเป็น “มุทิตา” ซึ่งดูเหมือนจะยืนยันว่า ใช้ว่า “มุทุตา” ก็น่าจะได้

แต่โปรดทราบว่า “มุทิตา” ในที่นี้เป็นคำในชุดในพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นคำที่ใช้ลงตัวแล้ว ไม่ว่า “มุทิตา” จะแปลงมาจาก “มุทุตา” หรือแปลงมาจากคำอะไรอีกก็ตาม สุดท้ายก็ลงตัวเป็น “มุทิตา” ไม่ใช่ “มุทุตา” เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้เป็น “มุทิตา” คำเดียว สะกดเป็นอย่างอื่น ความหมายก็เพี้ยนไป

อันที่จริง คำว่า “มุทุตา” ก็มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 โดยบอกความหมายไว้ว่า –

มุทุตา : (คำนาม) ความเป็นผู้มีใจอ่อน, ความอ่อนหวาน, ความละมุนละม่อม. (ป.).”

จะเห็นได้ว่าเป็นคนละเรื่องกับ “มุทิตา

มุทิตา” ใครขืนใช้เป็น “มุทุตา” ก็ไปคนละโลก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความรู้ หาไม่ยาก

: แต่ความใฝ่รู้ หายาก

#บาลีวันละคำ (2,734)

7-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย