บาลีวันละคำ

ตติยมฺปิ (บาลีวันละคำ 2,735)

ตติยมฺปิ

“ครั้งที่สาม” – ครั้งสุดท้าย

อ่านว่า ตะ-ติ-ยำ-ปิ

ประกอบด้วยคำว่า ตติยํ + ปิ

(๑) “ตติยํ

อ่านว่า ตะ-ติ-ยัง รูปคำเดิมเป็น “ตติย” (ตะ-ติ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ติ (ศัพท์สังขยา คือศัพท์บอกจำนวน) = สาม (จำนวน 3) + ติย ปัจจัยในปูรณตัทธิต, “ลบสระหน้า” คือลบ อิ ที่ ติ (ติ > )

: ติ + ติย = ติติย > ตติย แปลว่า “ที่สาม” ที่ (the third)

ตติย” เป็นคุณศัพท์ ในที่นี้เป็นคำขยายคำว่า “วาร” (วา-ระ) = วาระ, ครั้ง, หน (the time) แต่ไม่ปรากฏคำว่า “วาร” เพราะละไว้ฐานเข้าใจ เพราะฉะนั้น “ตติย” ในที่นี้จึงแปลว่า “ครั้งที่สาม” (the third time)

ตติย” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ตติยํ” (ตะ-ติ-ยัง)

(๒) “ปิ

เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” ประกอบข้างท้ายคำอื่นเสมอ ไม่ใช่เดี่ยว นักเรียนบาลีในเมืองไทยแปลว่า “แม้” คำเดียวยืนพื้น

แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปิ” ไว้หลายนัย ขอยกมาเพื่อการศึกษาดังนี้ –

(1) also, and also, even so (ด้วย, และ, ถึงกระนั้น)

(2) even, just so; with numbers or num. expressions “altogether, in all, just that many” (ถึงแม้, เช่นนั้นทีเดียว; ถ้าแสดงจำนวนหรือกล่าวถึงตัวเลข “หมดด้วยกัน, ทั้งหมด, มากเท่านั้น”)

(3) but, however, on the other hand, now (continuing a story) (แต่, อย่างไรก็ตาม, อีกอย่างหนึ่ง, บัดนี้ [ดำเนินเรื่องให้ติดต่อกัน])

(4) although, even if (แม้ว่า, ถึงแม้ว่า)

(5) perhaps, it is time that, probably (บางที, พอจะ, อาจจะ)

(6) pi . . . pi in correlation (like api . . . api) (ปิ…ปิ ในการนำมาใช้คู่กัน [เหมือน อปิ…อปิ]):

(ก) both . . . and; very often untranslatable (ทั้ง…และ; บ่อยมากที่ไม่แปล)

(ข) either . . . or (อย่างนี้ … หรือ)

ตติยํ + ปิ แปลงนิคหิตที่ (ตติ)-ยํ เป็น มฺ (ตติยํ > ตติยมฺ)

: ตติยํ + ปิ = ตติยํปิ > ตติยมฺปิ แปลว่า “แม้ครั้งที่สาม

ขยายความ :

คำว่า “ตติยมฺปิ” ที่ชาวพุทธคุ้นมากที่สุดก็คือที่ปรากฏในบทไตรสรณคมน์

ไตรสรณคมน์มีข้อความดังนี้ –

…………..

พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ธัมมัง  สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง สะระณัง  คัจฉามิ

ทุติยัมปิ  พุทธัง สะระณัง  คัจฉามิ

ทุติยัมปิ  ธัมมัง  สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ  สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง  คัจฉามิ

ตะติยัมปิ  ธัมมัง สะระณัง  คัจฉามิ

ตะติยัมปิ  สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ.

…………..

มีความหมายดังนี้ –

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ

แม้ครั้งที่สอง (ทุติยัมปิ) ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ

แม้ครั้งที่สาม (ตะติยัมปิ) ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ

มีข้อควรฉงนว่า ทำไมจึงต้องทวนคำถึง 3 ครั้ง?

ผู้รู้ไขความไว้ว่า การใดๆ ก็ตาม ย่อมเปิดโอกาสให้ทำได้เพียง 3 ครั้ง ซึ่งอาจตีความเพื่อช่วยความเข้าใจว่า

ครั้งที่ 1 เป็นการเตือนให้รู้ตัว

ครั้งที่ 2 เป็นการให้เวลาเตรียมการ

ครั้งที่ 3 เป็นการตกลงใจ หรือตัดสินใจ หรือยืนยันเจตนาในครั้งแรก

และตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีปนั้น ครั้งที่ 3 ถือว่าเป็นครั้งสุดท้าย (at last) คือเป็นครั้งตัดสิน (the third time decides)

การให้โอกาสใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ความสามารถ โอกาสที่จะแก้ตัว หรือโอกาสที่จะทำความดี อารยชนย่อมให้กันแค่ 3 ครั้ง ไม่มีครั้งที่ 4

…………..

ดูก่อนภราดา!

มนุษย์มีเวลาในการทำความดีน้อยนิด ประมาณเพียง 100 ปีเท่านั้น

ท่านอาจไม่ได้สังเกตว่า แต่ละคนถูกเตือนให้เร่งทำความดีกันมาแล้วทั้งนั้น

: แก่ (มาพร้อมกับเกิด) = เตือนเป็นครั้งที่ 1

: เจ็บ = เตือนเป็นครั้งที่ 2

: อย่ารอให้เตือนเป็นครั้งที่ 3 ท่านคงเดาได้ว่าคืออะไร

#บาลีวันละคำ (2,735)

8-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย