อนุกูล (บาลีวันละคำ 2,736)
อนุกูล
นับวันจะเสื่อมสูญไปทุกที
อ่านว่า อะ-นุ-กูน
บาลีอ่านว่า อะ-นุ-กู-ละ ประกอบด้วยคำว่า อนุ + กูล
(๑) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ
แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อย “อนุภรรยา” = เมียน้อย
แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป
แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา
แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก
ในที่นี้ “อนุ” แปลว่า ตาม
(๒) “กูล”
บาลีอ่านว่า กู-ละ รากศัพท์มาจาก กูลฺ (ธาตุ = กั้น, ป้องกัน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: กูลฺ + ณ = กูลณ > กูล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่กั้นคือป้องกันน้ำมิให้ไหลออกไปข้างนอก” หมายถึง เนิน, ฝั่ง, เขื่อน (a slope, a bank, an embankment) (ตามปกติใช้กับแม่น้ำ)
อนุ + กูล = อนุกูล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปตามฝั่ง”
ขยายความโดยวาดภาพ: มีคนตกน้ำ ถูกกระแสน้ำพัดไป คนที่อยู่บนฝั่งวิ่ง “ไปตามฝั่ง” เพื่อจะช่วยเหลือ นั่นแหละคือความหมายของ “อนุกูล”
ในบาลี “อนุกูล” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง อำนวยประโยชน์, เห็นด้วย, เหมาะสม, น่าพอใจ (favourable, agreeable, suitable, pleasant)
บาลี “อนุกูล” สันสกฤตก็เป็น “อนุกูล” รูปเดียวกัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“อนุกูล : (คำนาม) ความเกื้อกูล, ความกรุณา; สามีผู้สัตย์ซื่อ; a favour, kindness; a faithful husband; (คำวิเศษณ์) มีความสงเคราะห์แก่, อนุเคราะห์แก่; well disposed to, favourable to.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อนุกูล : (คำกริยา) เกื้อกูล, สงเคราะห์. (ป., ส.).”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ช่วยไม่ว่า
ขอแค่อย่ารังแกกัน
: ไม่รักไม่ว่า
ขอแค่อย่ารังเกียจกัน
#บาลีวันละคำ (2,736)
9-12-62