วาสุกรี (บาลีวันละคำ 2,737)
วาสุกรี
นามนี้แปลว่าอะไร
อ่านว่า วา-สุ-กฺรี (กฺร ควบกล้ำ)
“วาสุกรี” บาลีเป็น “วาสุกี” รากศัพท์มาจาก วสุ (แก้ว, รัตนะ) + ก อาคม + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), ทีฆะ อะ ที่ ว-(สุ) เป็น อา (วสุ > วาสุ)
: วสุ + ก + ณี = วสุกณี > วสุกี > วาสุกี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีสมบัติรัตนะคือลูกแก้ว”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) บอกความหมายของ “วาสุกี” ว่า พญาวาสุกรี, พญานาค, นาคราช
กล่าวตามนัยแห่งรากศัพท์ “วาสุกี” มาจากคำว่า “วสุ” (วะ-สุ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า ทรัพย์สมบัติ (wealth) ซึ่งท่านไขความว่า คือ “รตน” = ดวงแก้ว หรือลูกแก้ว ซึ่งน่าจะเป็นการแปลเพื่อให้สอดรับกับตำนานที่ว่า พญาวาสุกรีมีดวงแก้วมณีประดับอยู่ที่ศีรษะ
บาลี “วาสุกี” สันสกฤตเป็น “วาสุกิ” (บางทีบาลีก็อาจจะเป็น “วาสุกิ” ด้วย คือมีทั้ง “วาสุกิ” และ “วาสุกี”)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วาสุกิ : (คำนาม) พญานาค; sovereign of the Nāgas or snakes.”
หนังสือ “พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย” พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง แปล “วาสุกี” ว่า พญางู ไม่ได้แปลว่า พญานาค (ดูภาพประกอบ)
อย่างไรก็ตาม คำว่า “วาสุกี” ซึ่งในภาษาไทยนิยมใช้เป็น “วาสุกรี” เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึง พญานาค
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาสุกรี, วาสุกี : (คำนาม) ชื่อพญานาคร้ายตนหนึ่ง; พญานาค. (ป., ส. วาสุกิ).”
อภิปรายขยายความ :
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “วาสุกรี” ที่รู้จักกันในหมู่คนไทย เรามักจะต้องนึกถึง “ท่าวาสุกรี” อันเป็นท่าเทียบเรือหลวงในกรุงเทพฯ อยู่ระหว่างวัดเทวราชกุญชรกับวัดราชาธิวาส (หอสมุดแห่งชาติตั้งอยู่ใกล้กับท่าวาสุกรี)
เวลามีขบวนพยุหยาตราทางชลมารคโดยปกติ ขบวนจึงเริ่มต้นที่ท่าวาสุกรีเสมอ
“วาสุกรี” อีกคำหนึ่งที่คนไทย (รุ่นเก่า) รู้จักกันดี คือ “วาสุกรี” ที่เป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี” เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจุ้ย (ต่อมาได้เป็นท้าวทรงกันดาล) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2333 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2396
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรีทรงผนวชเป็นสามเณรและทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จนได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ทรงมีพระอ้จฉริยภาพเป็นเอกในทางรจนา
ปี พ.ศ. 2533 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปี พ.ศ. 2533 (200 ปี นับแต่ปีประสูติ)
โปรดสังเกตว่าวันประสูติกับวันสิ้นพระชนม์อยู่ในเดือนเดียวกัน คือเดือนธันวาคม วันที่ก็ใกล้เคียงกันมาก คือ 9 ธันวาคม (วันสิ้นพระชนม์) และ 11 ธันวาคม (วันประสูติ)
วัดพระเชตุพนฯ จึงถือเป็นโอกาสอันดี จัดงาน “วันกรมพระปรมานุชิตชิโนรส” ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม รวมวันประสูติและวันสิ้นพระชนม์อยู่ในงานเดียวกัน
ปี 2562 นี้ จัดงานมาแล้วเป็นปีที่ 60
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชื่อดี อาจไม่มีใครจำ
: แต่ชั่วดีที่ทำ จะไม่มีใครลืม
#บาลีวันละคำ (2,737)
10-12-62