ฉลองรัช (บาลีวันละคำ 2,770)
ฉลองรัช
ฉลองอะไร
อ่านว่า ฉะ-หฺลอง-รัด
ประกอบด้วยคำว่า ฉลอง + รัช
(๑) “ฉลอง”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ฉลอง ๑ : (คำกริยา) ทําบุญหรือบูชาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นงานเอิกเกริกเพื่อแสดงความปีติยินดี เช่น ฉลองพระ ฉลองหนังสือ ฉลองอายุ, จัดงานเอิกเกริกเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสต่าง ๆ เช่น ฉลองปริญญา, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ เฉลิม เป็น เฉลิมฉลอง.”
(๒) “รัช”
ในภาษาไทยมีความหมาย 2 อย่าง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(๑) รัช ๑ : (คำนาม) ธุลี, ฝุ่น, ผง, ละออง. (ป. รช).
(๒) รัช ๒, รัช– : (คำนาม) ความเป็นพระราชา, ราชสมบัติ. (ป. รชฺช).
(๑) “รัช” ๑
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกคำอ่านไว้ บอกแต่ว่าคำบาลีเป็น “รช” เมื่อเขียนเป็น “รัช” ก็คงต้องอ่านว่า รัด
“รช” บาลีอ่านว่า ระ-ชะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รญฺชฺ (ธาตุ = กำหนัด, ย้อม) + อ ปัจจัย, ลบ ญฺ ที่ รญฺชฺ (รญฺชฺ > รช)
: รญฺชฺ + อ = รญฺช > รช แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เปื้อน”
(2) รถี (ถนน) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ถี ที่ (ร)-ถี (รถี > ร), ลบ นฺ ที่สุดธาตุ (ชนฺ > ช) และลบ กฺวิ
: รถี + ชนฺ = รถีชนฺ + กฺวิ = รถีชนฺกฺวิ > รชนกฺวิ > รชน > รช แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เกิดบนถนน”
“รช” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ฝุ่น, ของโสโครก; ละอองที่เปื้อน (dust, dirt; staining dust)
(2) มลทิน, ความสกปรก, ความด่างพร้อย, ความไม่บริสุทธิ์ (stain, dirt, defilement, impurity)
(๒) “รัช” ๒
พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า รัด-ชะ และบอกว่าคำบาลีเป็น “รชฺช”
“รชฺช” บาลีอ่านว่า รัด-ชะ รากศัพท์มาจาก ราช (พระราชา) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), รัสสะ อา ที่ รา-(ช) เป็น อะ (ราช > รช), แปลง ช ที่ (รา)-ช กับ ย ที่ ณฺย ปัจจัย) เป็น ชฺช (ชฺ+ย = ชฺช)
: ราช + ณฺย = ราชณฺย > รชณฺย > รชย > รชฺช แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งพระราชา”
“รชฺช” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง –
(1) ความเป็นพระราชา, ความเป็นเจ้า, อาณาจักร, จักรพรรดิ; รัชสมัย, ราชบัลลังก์ (kingship, royalty, kingdom, empire; reign, throne)
(2) ความเป็นเอกราช, อำนาจอธิปไตย (sovereignty)
ขอให้สังเกตขั้นตอนการกลายรูปของ “รชฺช”จะผ่านการเป็น “ราชณฺย” ด้วย
“ราชณฺย” อ่านว่า รา-ชัน-ยะ ถ้าเขียนแบบไทย การันต์ที่ ย ก็จะเป็น “ราชัณย์” ตรงกับรูปคำสันสกฤตที่เป็น “ราชนฺย” (ขั้นตอนนี้ “-ชัณ-” บาลีเป็น ณ เณร) นี่ก็คือคำที่พูดกันในภาษาไทยว่า รา-ชัน นั่นเอง
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ราชนฺย : (คำนาม) ‘ราชนย์,’ กษัตริย์, นรผู้ไสนิกหรือกษัตริยวรรณ; นามของอัคนิ; ต้นไม้; a Kshatriya, a man of the military or regal tribe; a name of Agni; a tree.”
ราชา > ราชณฺย ( > ราชนฺย) > รชฺช
“รชฺช” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งเป็น “รัช”
ฉลอง + รัช = ฉลองรัช เป็นคำประสมแบบไทย หมายถึงการเฉลิมฉลองเกี่ยวกับ “รัช” เป็นชื่อทางด่วนสายหนึ่ง
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 12 มกราคม 2563 เวลา 20:30 น.) ที่คำว่า “ทางพิเศษฉลองรัช” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
ทางพิเศษฉลองรัช เป็นทางพิเศษในกรุงเทพมหานคร ก่อสร้างและเปิดให้บริการตลอดสาย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ดำเนินการโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีระยะทางทั้งสิ้น 28.2 กิโลเมตร ทางพิเศษสายนี้เป็นการแบ่งเบาการจราจรบนถนนรามอินทรา และทางพิเศษเฉลิมมหานคร มีด่านเก็บค่าผ่านทางรวมทั้งสิ้น 14 ด่าน
…………..
คำถามคือ “รัช” ในที่นี้หมายถึง “รัช” ๑ คือ ธุลี, ฝุ่น, ผง, ละออง หรือ “รัช” ๒ คือ ความเป็นพระราชา, ราชสมบัติ และมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้หรือบังคับว่าต้องหมายถึง “รัช” นั้น ไม่ใช่อีก “รัช” หนึ่ง
ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจว่า คำว่า “ฉลองรัช” น่าจะหมายถึงฉลองสิริราชสมบัติ กล่าวคือเป็นทางที่สร้างขึ้นในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 9 เสวยราชสมบัติมาครบกำหนดเท่านั้นปี จึงมีการเฉลิมฉลอง
ในขณะที่เขียนบาลีวันละคำคำนี้ยังค้นไม่พบประวัติความเป็นมา ลองค้นจาก google พบว่ามีคำว่า “ทางด่วนฉลองรัช” เป็นอันมาก แต่ไม่มีหัวข้อไหนบอกความหมายของชื่อนี้และประวัติความเป็นมาของการสร้างทาง
ญาติมิตรท่านใดทราบ ขอแรงช่วยนำมาบอกกล่าวเป็นวิทยาทานด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
คำว่า “ฉลองรัช” บ่งไปในทางดี แต่ถ้ารู้ความหมายและความเป็นมาด้วยก็จะยิ่งทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่และใช้ประโยชน์กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันได้ซาบซึ้งยิ่งขึ้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ของดีมีอยู่แต่ไม่รู้คุณค่า
: ถ้าไม่บ้าก็ต้องเมา
#บาลีวันละคำ (2,770)
12-1-63