บาลีวันละคำ

ธรรมทูต (บาลีวันละคำ 2,772)

ธรรมทูต

อ่านว่า ทำ-มะ-ทูด

มิใช่เพียงแค่เอาธรรมไปพูด

ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + ทูต

(๑) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ธรรม” ในที่นี้ความหมายเน้นหนักตามข้อ (1) ถึง (6)

(๒) “ทูต

บาลีอ่านว่า ทู-ตะ รากศัพท์มาจาก ทุ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป, เดือดร้อน) + ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ ทุ เป็น อู (ทุ > ทู)

: ทุ + = ทุต > ทูต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขาส่งไป” “ผู้เดือดร้อน” (เพราะจะต้องผจญการต่างๆ แทนเจ้าของเรื่อง) หมายถึง คนสื่อสาร, ผู้ไปทำการแทน (a messenger, envoy)

บางตำราว่า “ทูต” ใช้ “ทูร” (ทู-ระ) แทนได้

ทูร” แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไปถึงโดยยาก” หมายถึง ไกล, ห่าง, ห่างไกล

ตามนัยนี้ ทูร < ทูต มีความหมายว่า “ผู้ถูกส่งออกไปไกล” (one who is sent far away)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทูต : (คำนาม) ผู้นําข้อความไปแจ้งทั้ง ๒ ฝ่าย, ผู้รับใช้ไปเจรจาแทน, ผู้สื่อสาร, ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนไปยังต่างประเทศ เพื่อเจรจาหรือเจริญสันถวไมตรีเป็นทางราชการ. (ป.).”

อนึ่ง ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า “ทูต” คำนี้ใช้ ทหาร ไม่ใช่ มณโฑ

ธมฺม + ทูต = ธมฺมทูต (ทำ-มะ-ทู-ตะ) > ธรรมทูต (ทำ-มะ-ทูด)แปลว่า “ทูตทางธรรม

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “ธรรมทูต” แม้จะพูดกันมานาน และใช้กันมานาน แต่ก็น่าประหลาดที่ยังไม่ได้เก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “ธรรมทูต” อธิบายไว้ดังนี้

…………..

ธรรมทูต : “ผู้นำส่งสาส์นแห่งธรรม” หรือ “ผู้ถือสาส์นส่งข่าวธรรม”, “ทูตของธรรม” หรือ “ทูตผู้นำธรรมไปสื่อสาร”, ผู้สื่อสารแห่งธรรม, พระภิกษุผู้ได้รับมอบหมายหรือแต่งตั้งให้เดินทางไปเผยแผ่ประกาศธรรมในต่างถิ่นต่างแดน; ในช่วงต้นพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรม มีผู้ศรัทธาและรู้แจ้งธรรมเพิ่มขึ้นๆ อย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าพระอรหันตสาวกก็มีจำนวนถึง ๖๐ รูป ครั้งนั้น ประมาณ ๕ เดือนหลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้ทรงส่งพระสาวก ๖๐ รูปแรกออกไปประกาศพระศาสนา ด้วยพระดำรัสที่เรามักนำเฉพาะตอนที่ถือกันว่าสำคัญมาก มาอ้างอิงอยู่เสมอ คือพุทธพจน์ที่ว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย.” แปลว่า: ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขของชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก

พระอรรถกถาจารย์นำพุทธพจน์ครั้งนี้ ไปประพันธ์เป็นคาถา ให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงส่งพระอรหันตสาวกทั้งหมดนั้นไปทำงานพระธรรมทูต ดังความในคาถาเหล่านั้นว่า (พุทธ.อ.๒/๒๗):-

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ เมื่อจะบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น จงแยกย้ายกันเที่ยวจาริกนำธรรมไปให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย ตลอดทั่วแผ่นดินผืนนี้.

เธอทั้งหลายอยู่ในที่สงัดวิเวกตามเขาเขินเนินวนา ทำหน้าที่ประกาศสัทธรรมแก่โลก สืบจากเรา สม่ำเสมอต่อเนื่องไป.

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเมื่อทำงานพระธรรมทูต จงเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติอันงาม จงกล่าวไขคำสั่งสอนของเราแก่เหล่าประชาให้แจ่มแจ้ง เพื่อเห็นแก่สันติสุขของเขา.

เธอทั้งหลายผู้ไร้อาสวกิเลส หาใครเทียบเทียมมิได้ จงปิดประตูอบายเสียให้หมดสิ้น และจงเปิดประตู สู่ทางแห่งสวรรค์และโมกษธรรม.

เธอทั้งหลาย ผู้เป็นแหล่งแห่งคุณความดีมีการุญธรรมเป็นต้น จงเพิ่มพูนปัญญาและศรัทธาแก่ชาวโลก ทั้งด้วยการเทศนาแก่เขาและการปฏิบัติตนเอง ให้พร้อมทุกประการ.

คฤหัสถ์ทั้งหลายอุปการะพวกเธออยู่เป็นนิตย์ด้วยอามิสทาน เธอทั้งหลายก็จงอุปการะตอบต่อพวกเขาด้วยธรรมทาน.

เธอทั้งหลายผู้ได้ทำกิจที่ควรทำของตนเองเสร็จแล้ว จงบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยแสดงสัทธรรมยกธงชัยของผู้แสวงธรรมขึ้นชูเถิด

เฉพาะคาถาที่มีคำว่า “ธรรมทูต” เป็นคำบาลี (ธมฺมทูเตยฺยํ = งานพระธรรมทูต) ดังนี้

กโรนฺตา ธมฺมทูเตยฺยํ วิขฺยาปยถ ภิกฺขโว

สนฺติอตฺถาย สตฺตานํ สุพฺพตา วจนํ มม.

คาถาที่พระอรรถกถาจารย์ประพันธ์ขึ้นเพื่อแสดงนัยแห่งพุทธพจน์นี้ นอกจากเป็นหลักฐานอันแสดงว่า “ธรรมทูต” เป็นคำที่ท่านใช้เรียกพระอรหันตสาวก ๖๐ องค์ ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระศาสนา โดยถือเป็นพระ “ธรรมทูต” ชุดแรก ในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นคาถาซึ่งให้คติที่นำมาพ่วงประกอบเข้าได้กับพุทธพจน์ข้างต้นและพระคาถาโอวาทปาติโมกข์ เพื่อใช้เป็นหลักนำทางการทำงานของพระธรรมทูตทั้งหลายสืบต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

ธรรมทูต ….

: มิใช่เพียงแค่เอาธรรมไปพูด

: แต่ต้องพิสูจน์ด้วยการประพฤติธรรม

#บาลีวันละคำ (2,772)

14-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *