บาลีวันละคำ

มาตุภูมิ – ปิตุภูมิ (บาลีวันละคำ 2,773)

มาตุภูมิปิตุภูมิ

ต่างกันหรือเหมือนกัน

อ่านว่า มา-ตุ-พูม / ปิ-ตุ-พูม

ประกอบด้วยคำว่า มาตุ + ภูมิ / ปิตุ + ภูมิ

(๑) “มาตุ

บาลีอ่านว่า มา-ตุ รากศัพท์มาจาก –

(1) มานฺ (ธาตุ = รัก, ทะนุถนอม) + ราตุ ปัจจัย, ลบ ที่ าตุ (ราตุ > อาตุ), ลบพยัญชนะที่สุดธาตุและสระ (มานฺ > มา > )

: มานฺ > มา > + ราตุ > อาตุ = มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ

(2) ปา (ธาตุ = ดื่ม) + ตุ ปัจจัย, แปลง ที่ ปา เป็น (ปา > มา)

: ปา + ตุ = ปาตุ > มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม

มาตุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “มาตา” หมายถึง แม่ (mother) ใช้ในภาษาไทยเป็น “มารดา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) มาตุ : (คำนาม) แม่. (ป.).

(2) มารดร, มารดา : (คำนาม) แม่. (ป. มาตา; ส. มาตฺฤ).

(๒) “ปิตุ

บาลีอ่านว่า ปิ-ตุ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปา (ธาตุ = รักษา, คุ้มครอง) + ริตุ ปัจจัย, ลบ ที่ ริตุ (ริตุ > อิตุ), ลบสระที่สุดธาตุ (ปา > )

: ปา > + ริตุ > อิตุ : + อิตุ = ปิตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้คุ้มครองบุตร

(2) ปิ (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ริตุ ปัจจัย, ลบ ที่ ริตุ (ริตุ > อิตุ), ลบสระที่สุดธาตุ (ปิ > )

: ปิ > + ริตุ > อิตุ : + อิตุ = ปิตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักบุตร

ปิตุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปิตา” หมายถึง พ่อ (father) ใช้ในภาษาไทยเป็น “บิดา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ปิตุ : (คำแบบ) (คำนาม) พ่อ. (ป.).

(2) บิดา : (คำนาม) พ่อ (ใช้ในภาษาทางการ), โดยปริยายหมายความว่า ผู้ให้กำเนิด เช่น บิดาแห่งประวัติศาสตร์. (ป. ปิตา; ส. ปิตฤ).

(๓) “ภูมิ

บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย

: ภู + มิ = ภูมิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)

ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ภูมิ” เหมือนบาลี ถ้าอยู่ท้ายคำอ่านว่า พูม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า พู-มิ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ภูมิ” ในภาษาไทยไว้ว่า แผ่นดิน, ที่ดิน; พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้; สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย

มาตุ + ภูมิ = มาตุภูมิ แปลตามศัพท์ว่า “แผ่นดินของแม่

ปิตุ + ภูมิ = ปิตุภูมิ แปลตามศัพท์ว่า “แผ่นดินของพ่อ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) มาตุภูมิ : (คำนาม) บ้านเกิดเมืองนอน.

(2) ปิตุภูมิ : (คำนาม) บ้านเกิด, เมืองเกิด.

โปรดทราบว่า “มาตุภูมิ” และ “ปิตุภูมิ” เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ในภาษาไทย ในคัมภีร์บาลียังไม่พบศัพท์ที่ใช้ในความหมายเช่นนี้

อภิปรายขยายความ :

โปรดสังเกตว่า คำนิยามในพจนานุกรมฯ ยังลักลั่นกันอยู่

มาตุภูมิ” บอกว่า “บ้านเกิดเมืองนอน”

ปิตุภูมิ” บอกว่า “บ้านเกิด, เมืองเกิด”

อันที่จริง ตามความประสงค์ในภาษาไทยนั้น “มาตุภูมิ” กับ “ปิตุภูมิ” หมายถึงสิ่งเดียวกัน คือถิ่นกำเนิดของบุคคล จะเรียกว่า “มาตุภูมิ” ก็ได้ “ปิตุภูมิ” ก็ได้

ทำไมจึงไม่ใช้บทนิยามที่ลงกันสมกัน คือจะใช้ว่า “บ้านเกิดเมืองนอน” หรือ “บ้านเกิด, เมืองเกิด” ก็ใช้ให้เหมือนกันทั้ง 2 คำ

การใช้บทนิยามต่างกัน อาจทำให้เกิดคำถามว่า “บ้านเกิดเมืองนอน” กับ “บ้านเกิด, เมืองเกิด” ต่างกันอย่างไร ผู้กำหนดบทนิยามของคำ 2 คำนี้จะตอบว่าอย่างไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำคิดสนุกๆ ว่า คำว่า “มาตุภูมิ” กับ “ปิตุภูมิ” จะแต่งคำอธิบายให้ต่างกันก็ง่ายนิดเดียว คือ –

มาตุภูมิ” แปลว่า “แผ่นดินของแม่” หมายถึง ถิ่นที่เป็นบ้านเกิดหรือบ้านเดิมของแม่

ปิตุภูมิ” แปลว่า “แผ่นดินของพ่อ” หมายถึง ถิ่นที่เป็นบ้านเกิดหรือบ้านเดิมของพ่อ

เช่นผู้เขียนบาลีวันละคำมีแม่เป็นคนจังหวัดเพชรบุรี มีพ่อเป็นคนจังหวัดราชบุรี ในกรณีเช่นนี้ สำหรับผู้เขียนบาลีวันละคำ –

เพชรบุรีเป็น “มาตุภูมิ” ไม่ใช่ “ปิตุภูมิ

ราชบุรีเป็น “ปิตุภูมิ” ไม่ใช่ “มาตุภูมิ

ถ้าเป็นเช่นนี้ “มาตุภูมิ” กับ “ปิตุภูมิ” ก็จะมีความหมายต่างกันชัดเจน

นี่เป็นการคิดสนุกๆ เท่านั้นในระหว่างที่ราชบัณฑิตยฯ ยังไม่ได้ปรับแก้คำนิยามให้ตรงกัน

เมื่อราชบัณฑิตยฯ ปรับแก้คำนิยามให้ตรงกันแล้ว เราก็จะได้แน่ใจว่า“มาตุภูมิ” กับ “ปิตุภูมิ” มีความหมายเหมือนกัน

หรือถ้าราชบัณฑิตยฯ ปรับแก้คำนิยามให้มีความหมายต่างกัน เราก็มาคอยดูกันอีกทีว่า “มาตุภูมิ” กับ “ปิตุภูมิ” มีความหมายต่างกันอย่างไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แผ่นดินพ่อหรือแผ่นดินแม่

เราก็เกิดก็แก่กันมานานไกล

: ถ้าไทยไม่รักแผ่นดินไทย

จะหวังให้ใครเขามารักเรา

#บาลีวันละคำ (2,773)

15-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *