บาลีวันละคำ

สุภโร ผู้เลี้ยงง่าย (บาลีวันละคำ 2,787)

สุภโร ผู้เลี้ยงง่าย

ไม่ใช่ “เป็นภาระที่ดี

สุภโร” รูปคำเดิมเป็น “สุภร” บาลีอ่านว่า สุ-พะ-ระ รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยงดู) + ปัจจัย

: สุ + ภรฺ = สุภรฺ + = สุภร (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขาเลี้ยงดูได้โดยง่าย

สุภร” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สุภโร” (สุ-พะ-โร)

สุภโร” เป็นคำแสดงลักษณะของภิกษุหรือนักบวช ซึ่งเป็นพวกที่อาศัยชาวบ้านดำรงชีพ โดยเฉพาะภิกษุในพระพุทธศาสนา หลักข้อแรกที่เรียกว่า “นิสัยสี่” คือ “ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา” หมายความว่า – วิถีชีวิตบรรพชิตอาศัยอาหารคือคำข้าวอันได้มาด้วยกำลังปลีแข้งคือเดินบิณฑบาตเป็นเครื่องดำรงชีพ ชาวบ้านให้มาอย่างไรก็กินอย่างนั้น เลือกไม่ได้ จึงต้องไม่เรื่องมาก ตรงกับที่เราพูดกันว่า อยู่ง่ายกินง่าย คือเสียเวลากับเรื่องกินเรื่องอยู่ให้น้อยที่สุด ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฝึกหัดขัดเกลาตนเองให้ประลุถึงความสะอาด สงบ สว่าง หลุดพ้นจากสังสารทุกข์

นี่คือความหมายของ “สุภโร” = เลี้ยงง่าย (easy to support)

คำที่ตรงกันข้ามคือ “ทุพฺภโร” (ทุบ-พะ-โร) เลี้ยงยาก (hard to support)

คำในชุด “สุภโร” มีอีกหลายคำ ดังปรากฏใน “กรณียเมตตสูตร” ว่า –

สกฺโก  อุชู  จ  สุหุชู  จ

สุวโจ  จสฺส  มุทุ  อนติมานี.

สนฺตุสฺสโก  จ  สุภโร  จ

อปฺปกิจฺโจ  จ  สลฺลหุกวุตฺติ

สนฺตินฺทฺริโย  จ  นิปโก  จ

อปฺปคพฺโภ  กุเลสุ  อนนุคิทฺโธ.

ยกมาเฉพาะคำที่แสดงคุณสมบัติของภิกษุนักปฏิบัติธรรม (เขียนเป็นคำอ่านเพื่อเทียบกับคำบาลีข้างต้น, ภาษาอังกฤษในวงเล็บ กรุณาตรวจสอบอีกครั้ง) ดังนี้ –

(1) สักโก = สามารถ, อาจหาญ (able, possible)

(2) อุชู = ซื่อตรง (honest, upright)

(3) สุหุชู = ใจดี (true-hearted)

(4) สุวะโจ = ว่าง่ายสอนง่าย (compliant, meek)

(5) มุทุ = อ่อนโยน (tender)

(6) อะนะติมานี = ไม่ถือตัว, ไม่เย่อหยิ่ง (un-arrogance, un-conceit)

(7) สันตุสสะโก = สันโดษ (content)

(8) สุภะโร = เลี้ยงง่าย (easy to support)

(9) อัปปะกิจโจ = มีกิจธุระน้อย (ไม่มีงานยุ่ง) (having few or no duties)

(10) สัลละหุกะวุตติ = ประพฤติเบากายเบาจิต (whose wants are easily met)

(11) สันตินท๎ริโย = มีอินทรีย์สงบระงับ (สำรวมกายใจ) (one whose senses are tranquil)

(12) นิปะโก = มีปัญญารักษาตน (intelligent)

(13) อัปปะคัพโภ = ไม่คะนอง (un-reckless)

(14) กุเลสุ  อะนะนุคิทโธ = ไม่คลุกคลีกับชาวบ้าน (not in love with a particular family)

ดูเพิ่มเติม: “กรณียเมตตสูตร” บาลีวันละคำ (915) 19-11-57

สุภโร” รูปคำเดิมเป็น “สุภร” ถ้าใช้เป็นคำไทย อ่านว่า สุ-พอน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุภร : (คำวิเศษณ์) เลี้ยงง่าย. (ป.)”

อภิปราย :

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ยกคำอธิบายธรรมะของพระคุณเจ้ารูปหนึ่งมาเสนอ มีข้อความตอนหนึ่งว่า –

…………..

พระพุทธเจ้าสั่งสอนให้พระสาวกฝึกตนให้เป็นสุภโร แปลว่าภาระดี พระอยู่ด้วยปัจจัยสี่ที่ญาติโยมนำมาถวายก็คือว่าเป็นภาระ ในการเป็นภาระไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีเสมอไป พระพุทธองค์ไม่สั่งเตือนพระว่าอย่าเป็นภาระแก่เขาเลย พระพุทธองค์สอนว่าเมื่อเป็นภาระแก่เขาแล้วให้เป็นภาระที่ดีคือสุภโร เพราะฆราวาสดูแลพระสงฆ์เป็นภาระ เขาจึงมีโอกาสทำทาน เรียนรู้เรื่องศีลธรรม และการภาวนา เมื่อพระมีข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงาม และสามารถแนะนำฆราวาสในหลักธรรม ก็เรียกได้ว่าท่านเป็นภาระที่ดีของโยม

…………..

ตามคำอธิบายนี้ “สุภโร” ท่านแปลว่า “ภาระดี” และย้ำว่า “เป็นภาระที่ดีคือสุภโร” ซึ่งคำแปลดังนี้ไม่ตรงตามศัพท์

ศัพท์ในที่นี้เป็น “-ภโร” ไม่ใช่ “-ภาโร

ภาโร” รูปคำเดิมเป็น “ภาร” บาลีอ่านว่า พา-ระ รากศัพท์มาจาก ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยงดู, ทรงไว้) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ภรฺ > ภาร)

: ภรฺ + = ภรณ > ภร > ภาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทรงไว้” (สิ่งที่แบกรับน้ำหนักของสิ่งอื่นไว้) (2) “สิ่งอันเขาทรงไว้” (สิ่งที่เป็นน้ำหนักให้ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นต้องแบกรับ)

ภาร” ในภาษาบาลี ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สิ่งที่นำไป, สัมภาระ (anything to carry, a load)

(2) การบรรทุก, เต็มรถคันหนึ่ง [เป็นการวัดปริมาณ] (a load, cartload [as measure of quantity])

(3) สิ่งที่ยากลำบาก, ภาระหรือหน้าที่, สิ่งที่อยู่ในการดูแล, ธุรกิจ, หน้าที่, การงาน, กิจธุระ (a difficult thing, a burden or duty, a charge, business, office, task, affair)

แม้ว่าคำทั้งสองนี้จะมีรากศัพท์เดียวกัน คือมาจาก ภรฺ ธาตุ ซึ่งหมายถึง “เลี้ยงดู” ก็ได้ “ทรงไว้” ก็ได้ แต่เมื่อรูปสำเร็จต่างกัน (คำหนึ่งเป็น “ภร” คำหนึ่งเป็น “ภาร”) ความหมายย่อมต่างกัน

“-ภโร” รูปคำเดิม “-ภร” แปลว่า “เลี้ยงดู” (supporting or being supported)

“-ภาโร” รูปคำเดิม “-ภาร” ที่เราเอามาใช้ว่า “ภาระ” (anything to carry, a load)

ถ้าจะแปลว่า “ภาระดี” หรือ “เป็นภาระที่ดี” คำนั้นก็ควรจะเป็น “สุภาโร” ไม่ใช่ “สุภโร

แต่ศัพท์ว่า “สุภาโร” ในความหมายว่า “ภาระดี” หรือ “เป็นภาระที่ดี” ก็ยังไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์

ถ้าประสงค์จะกล่าวว่า “เมื่อเป็นภาระแก่เขาแล้วให้เป็นภาระที่ดี” และต้องการใช้คำว่า “ภาร” คำบาลีที่มีความหมายตรงกับความประสงค์คือคำว่า “ลหุภาโร” (ลหุภาร) แปลว่า “ภาระที่เบา” หมายความว่า หากจะต้องให้ใครดูแล คนดูแลก็เบาใจ หรือหากเราต้องดูแลใคร เราก็เบาใจ

ก็คือ-ถ้าใช้ภาษาไทยว่า “เป็นภาระที่ดี” ก็ควรพูดเป็นบาลีว่า “ภาระที่เบา

คือเป็น “ลหุภาโร” ไม่ใช่ “สุภาโร” (ซึ่งคำนี้ไม่มี)

และไม่ใช่ “สุภโร” ซึ่งความหมายที่ท่านประสงค์คือ “เลี้ยงง่าย” ไม่ใช่ “เป็นภาระที่ดี

โปรดทราบว่า ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นการแสดงหลักวิชาทางภาษาเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะคัดค้านโต้แย้งคำบรรยายของพระคุณเจ้า

เมื่อทราบหลักวิชาดังแสดงมานี้แล้ว ต่อจากนั้น จะนับถือเลื่อมใสคำบรรยายหรือจะเห็นเป็นประการใด ย่อมเป็นเสรีภาพทางวิชาการและเป็นสิทธิแห่งศรัทธาโดยสมบูรณ์ของแต่ละคน

…………..

ดูก่อนภราดา!

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา.

(พระพุทธพจน์)

: เบญจขันธ์นั้นหนักเน้อ

: อย่าหลงเพ้อจนลืมภัย

: แบกขันธ์ทุกวันวัย

: จงวางบ้างจะว่างเบา

#บาลีวันละคำ (2,787)

29-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย