สุพรรณบัฏ (บาลีวันละคำ 2,791)
สุพรรณบัฏ
อ่านว่า สุ-พัน-นะ-บัด
ประกอบด้วยคำว่า สุพรรณ + บัฏ
(๑) “สุพรรณ”
บาลีเป็น “สุวณฺณ” อ่านว่า สุ-วัน-นะ ประสมกันขึ้นจาก สุ + วณฺณ
(ก) “สุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ดี, งาม, ง่าย
(ข) “วณฺณ” (วัน-นะ) รากศัพท์มาจาก วณฺณฺ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + อ (อะ) ปัจจัย
: วณฺณ + อ = วณฺณ (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แสดงออก”
“วณฺณ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :
(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)
(1) สี (colour)
(2) รูปร่าง (appearance)
(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)
(4) ความงาม (beauty)
(5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)
(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)
(7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)
(8) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)
(9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)
(10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)
(11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)
บาลี “วณฺณ” สันสกฤตเป็น “วรฺณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วรฺณ : (คำนาม) ‘วรรณ,’ ชาติ, วรรค, จำพวก, พวก; สี; เครื่องตกแต่งช้าง; ลักษณะ, คุณสมบัติ; เกียรติ, ประสิทธิ; สดุดี; สุวรรณ; พรต; การจัดเพลงหรือกาพย์; ราคินีหรือคีตวิธา; โศภา, ความงาม; เครื่องแต่งตัวลคร; สุคนธ์; อักษร; รูป, ทรง; เภท, ประเภท; a trible, a class, caste, an order; colour, tint; an elephant’s housings, quality, property; fame, celebrity; praise; gold; religious observance; the arrangement of a song or poem; a musical mode; beauty, luster; theatrical dress or embellishment; perfume; a letter of the alphabet; form; figure; sort, kind.”
สุ + วณฺณ = สุวณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สีดี” หรือ “สีงาม” หมายถึง ทองคำ (gold)
“สุวณฺณ” สันสกฤตเป็น “สุวรฺณ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “สุวรรณ” แล้วแผลงเป็น “สุพรรณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุพรรณ, สุพรรณ– : (คำนาม) ทองคํา. (ส. สุวรฺณ; ป. สุวณฺณ).”
(๒) “บัฏ”
บาลีเป็น “ปฏ” อ่านว่า ปะ-ตะ (-ฏ ฏ ปฏัก) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปฏฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปฏ + อ = ปฏ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ไปได้” (คือทำให้ไปไหนได้สะดวก) (2) “สิ่งที่ถึงความเก่าได้”
(2) ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ฏิ (ธาตุ = ปกปิด) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ฏิ > ฏ)
: ป + ฏิ = ปฏิ + อ = ปฏิ > ปฏ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องปกปิดหิริโอตตัปปะไว้โดยทั่วไป” (2) “สิ่งที่ปกปิดอวัยวะที่น่าละอายไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏ” (ปุงลิงค์) ว่า cloth; cloak, garment (ผ้า; เสื้อคลุม, เสื้อผ้า)
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ปฏ” ว่า แผ่น, ผ้า, แผ่นผ้า, เครื่องนุ่งห่ม
บาลี “ปฏ” สันสกฤตก็เป็น “ปฏ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฏ : (คำนาม) ผ้างาม; ผ้าสี; ผ้าผืน. ฯลฯ; ผ้าใบ; ผ้าเต๊นท์, ผ้ากั้นปฏมณฑป; เครื่องแต่งตัวอันเปนผ้าสี; พัสดุสำหรับมุงหลังคา, หลังคา; fine cloth; coloured cloth; a sheet of cloth, &c.; canvas; a tent-cloth, a screen of cloth surrounding a tent; a coloured garment; a thatch, a roof.”
“ปฏ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บัฏ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บัฏ : (คำนาม) ผืนผ้า, แผ่น เช่น หิรัญบัฏ. (ป., ส. ปฏ).”
สุพรรณ + บัฏ = สุพรรณบัฏ แปลตามศัพท์ว่า “แผ่นทอง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุพรรณบัฏ : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) แผ่นทองคํารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่จารึกพระนามพระมหากษัตริย์ พระบรมราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เจ้าประเทศราช และสมเด็จพระสังฆราช เรียกว่า พระสุพรรณบัฏ; แผ่นทองคํารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่จารึกราชทินนามของสมเด็จพระราชาคณะ ขุนนางชั้นสมเด็จเจ้าพระยา และขุนนางชั้นเจ้าพระยาบางคน ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ; (คำโบราณ) แผ่นทองคำที่จารึกพระราชสาส์น.”
โปรดสังเกต :
๑ ถ้าจารึกพระนามพระมหากษัตริย์ พระบรมราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เจ้าประเทศราช และสมเด็จพระสังฆราช เรียกว่า “พระสุพรรณบัฏ” (มี “พระ” นำหน้าด้วย)
๒ ถ้าจารึกราชทินนามของสมเด็จพระราชาคณะ ขุนนางชั้นสมเด็จเจ้าพระยา และขุนนางชั้นเจ้าพระยาบางคน ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ เรียกว่า “สุพรรณบัฏ” (ไม่มี “พระ”)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำสรรเสริญที่จารึกไว้บนแผ่นทองคำ
: ไม่ประเสริฐเท่าความดีที่มีคนจดจำไว้ในหัวใจ
2-2-63