บาลีวันละคำ

นิพพาน หมายถึงอะไร (บาลีวันละคำ 2,789)

นิพพาน หมายถึงอะไร

นิพพาน” ภาษาไทยอ่านว่า นิบ-พาน เขียนแบบบาลีเป็น “นิพฺพาน” (มีจุดใต้ พฺ ตัวหน้า) อ่านว่า นิบ-พา-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) นิ (คำอุปสรรค = ไม่มี, ออก) + วาน (ตัณหา, เครื่องร้อยรัด), แปลง เป็น , ซ้อน พฺ ระหว่างอุปสรรคและบทหลัง

: นิ + วาน = นิวาน > นิพาน : นิ + พฺ + พาน = นิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “สภาวธรรมที่ออกพ้นจากตัณหาที่เรียกว่า วานะ

(2) นิ (คำอุปสรรค = ไม่มี, ออก) + วา (ธาตุ = ดับ, สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ซ้อน วฺ ระหว่างอุปสรรคและธาตุ (นิ + + วา), แปลง วฺว (คือ ที่ซ้อนเข้ามาและ ที่เป็นธาตุ) เป็น พฺพ

: นิ + + วา = นิววา + ยุ > อน = นิววาน > นิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “สภาวธรรมเป็นเหตุดับไปแห่งไฟราคะเป็นต้น

(3) (คำนิบาต = ไม่, ไม่มี) + วาน (ตัณหา, เครื่องร้อยรัด), แปลง อะ ที่ เป็น อิ ( > นิ), แปลง ที่ วาน เป็น , ซ้อน พฺ ระหว่างนิบาตและบทหลัง

: + วาน = นวาน > นิวาน > นิพาน : นิ + พฺ + พาน = นิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะธรรมเป็นที่ไม่มีตัณหา หรือสภาวธรรมที่เมื่อบุคคลได้บรรลุแล้วย่อมไม่มีตัณหา

นิพฺพาน” (นปุงสกลิงค์) มีความหมายดังนี้ –

(1) การดับของตะเกียงหรือไฟ (the going out of a lamp or fire)

(2) อนามัย, ความรู้สึกว่าร่างกายมีความผาสุกสวัสดี (health, the sense of bodily well-being)

(3) การดับไฟทางใจ 3 กอง คือ ราค, โทส และ โมห (The dying out in the heart of the threefold fire of rāga, dosa & moha: ความกำหนัด, ความโกรธ และความหลง lust, ill-will & stupidity)

(4) ความรู้สึกมีสุขภาพในด้านดี, ความมั่นคง, ความถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ, ชัยชนะและความสงบ, ความพ้นจากอบายมุข, ความสุขสำราญ (the sense of spiritual well-being, of security, emancipation, victory and peace, salvation, bliss)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “นิพพาน” เป็นอังกฤษ ดังนี้ –

นิพพาน : Nirvāṇa; Nibbāna; the extinction of the fires of greed, of hatred and of ignorance; the Unconditioned; the

supreme goal of Buddhism; the Summum Bonum of Buddhism; the Final Goal; the extinction of all defilements and suffering.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

นิพพาน : การดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นโลกุตตรธรรม และเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิพพาน : (คำนาม) ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์. (คำกริยา) ดับกิเลสและกองทุกข์, ตาย (ใช้แก่พระอรหันต์). (ป.; ส. นิรฺวาณ), โบราณใช้ว่า นิรพาณ ก็มี. (จารึกสยาม).”

ขยายความ :

นิพพาน” คืออะไร เป็นสภาวะที่เข้าใจยาก พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (The Pali Text Society’s Pali-English Dictionary) ได้ประมวลความหมายของนิพพานไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ –

(1) ที่พึ่งพักอาศัย the harbour of refuge,

(2) ถ้ำที่เยือกเย็น the cool cave,

(3) เกาะอันอยู่ท่ามกลางน้ำท่วม the island amidst the floods,

(4) สถานที่บรมสุข the place of bliss,

(5) การปลดเปลื้อง emancipation,

(6) การปลดปล่อยเป็นอิสระ liberation,

(7) ความปลอดภัย safety,

(8) ความเป็นยอด the supreme,

(9) สิ่งซึ่งนอกเหนือธรรมชาติ the transcendental,

(10) สิ่งที่ไม่มีผู้สร้าง the uncreated,

(11) สิ่งที่เงียบสงบ the tranquil,

(12) เคหะแห่งความสบาย the home of ease,

(13) ความสงบ the calm,

(14) ที่สุดแห่งทุกข์ the end of suffering,

(15) เภสัชบำบัดความทุกข์ทั้งหลาย the medicine for all evil,

(16) สิ่งซึ่งไม่หวั่นไหว the unshaken,

(17) ของทิพย์ the ambrosia,

(18) สิ่งที่ไม่มีตัวตน the immaterial,

(19) สิ่งที่เป็นอมตะ the imperishable,

(20) สิ่งซึ่งคงทน the abiding,

(21) การถึงฝั่ง the further shore,

(22) สิ่งซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด the unending,

(23) ความเกษมจากโยคะ the bliss of effort,

(24) ความสุขอันยอดเยี่ยม the supreme joy,

(25) สิ่งซึ่งสุดที่จะกล่าว the ineffable,

(26) ความไม่มีอุปาทาน the detachment,

(27) นครศักดิ์สิทธิ์ the holy city,

และอื่น ๆ อีกมากมาย and many others.

อย่าลืมว่านี่เป็นภาพตามสายตาของฝรั่งซึ่งศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนามองเห็น โปรดเทียบกับความรู้เห็นของชาวเราว่าตรงกันหรือต่างกันอย่างไรบ้าง หรือว่าเรามีภาพใดๆ ของ “นิพพาน” อยู่ในใจบ้างหรือเปล่า

…………..

แนวคิดเรื่อง “นิพพาน” จากบาลีวันละคำ :

1- นิพพานไม่ใช่ภพภูมิหรือแดนดินถิ่นฐานซึ่งมีอยู่แล้วในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ณ เวลานี้ แล้วก็พยายามจะไปกันให้ถึง แต่นิพพานเป็นสภาวะหรือคุณภาพของจิตใจ ซึ่งมีอยู่ในตัวของแต่ละคน

2- นิพพานเป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อ ความเห็น หรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร นิพพานก็เป็นจริงอย่างที่นิพพานเป็น

3- นิพพานเข้าใจได้ด้วยการสัมผัสของจริง ไม่ใช่ด้วยการอ่านหรือฟังคำบรรยาย เหมือนรสอาหาร ต่อให้พรรณนาหยดย้อยเพียงไรก็รู้ไม่ได้ แต่เมื่อได้ลิ้มรส แม้ไม่ต้องพรรณนาก็รู้ได้เอง

4- ผู้บรรลุนิพพานไม่ต้องออกไปอยู่นอกสังคมหรือนอกโลก พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายท่านบรรลุนิพพานแล้วทั้งนั้น แต่ท่านก็ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ

…………..

ดูก่อนภราดา!

เมื่อใดเป็นเช่นนี้ :

1- ไม่ติดทั้งดีทั้งชั่ว

2- รู้ตัวทั่วพร้อมผ่องใส

3- รู้ควรไม่ควรทำอันใด

4- กระทบแต่ไม่กระเทือน

: เมื่อนั้นแหละนิพพานแล้ว

#บาลีวันละคำ (2,789)

31-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย