อัคนีโธวนพัสตร์ (บาลีวันละคำ 2,792)
ผ้าวิเศษซักด้วยไฟ
อ่านว่า อัก-คะ-นี-โท-วะ-นะ-พัด
ประกอบด้วยคำว่า อัคนี + โธวน + พัสตร์
(๑) “อัคนี”
บาลีเป็น “อคฺคิ” (อัก-คิ) รากศัพท์มาจาก อคฺคฺ (ธาตุ = ไปคด) + อิ ปัจจัย
: อคฺคฺ + อิ = อคฺคิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปคด” (คือวูบวาบๆ คดไปคดมา)
“อคฺคิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ไฟ, เปลวไฟ, ประกาย; เพลิง (fire, flames, sparks; conflagration)
(2) ไฟบูชายัญ (the sacrificial fire)
(3) ไฟที่เผา, ไฟที่ทำลาย, ความรู้สึกเร่าร้อน (the fire of burning, consuming, feverish sensations)
บาลี “อคฺคิ” สันสกฤตเป็น “อคฺนิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อคฺนิ : (คำนาม) ไฟ; fire.”
ในภาษาไทย ใช้เป็น “อัคนิ” และ “อัคนี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัคนิ, อัคนี : (คำนาม) ไฟ; ชื่อเทพแห่งไฟ. (ส. อคฺนิ; ป. อคฺคิ).”
(๒) “โธวน”
อ่านว่า โท-วะ-นะ รากศัพท์มาจาก โธวฺ (ธาตุ = ล้าง, ชำระ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: โธวฺ + ยุ > อน = โธวน แปลตามศัพท์ว่า “การชำระล้าง” หมายถึง การซักล้าง (washing)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“โธวนะ : (คำแบบ) (คำนาม) การชําระล้าง, การซักฟอก. (ป.; ส. ธาวน).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตัดคำว่า “โธวนะ” ออก
คำว่า “โธวนะ”จึงไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 (น่าสงสัยว่า มีอยู่แล้ว ทำไมจึงตัดออก?)
(๓) “พัสตร์”
บาลีเป็น “วตฺถ” (วัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) วสฺ (ธาตุ = ปกปิด) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (วสฺ > วตฺ)
: วสฺ + ถ = วสฺถ > วตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาปกปิดร่างกาย”
(2) วุ (ธาตุ = ปิด, กั้น) + ถ ปัจจัย, แปลง อุ ที่ วุ เป็น อะ (วุ > ว), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (วุ + ตฺ + ถ)
: วุ + ตฺ + ถ = วุตฺถ > วตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องป้องกันร่างกาย”
“วตฺถ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ผ้า; เสื้อผ้า, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องแต่งตัว (cloth; clothing, garment, raiment)
บาลี “วตฺถ” สันสกฤตเป็น “วสฺตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วสฺตฺร : (คำนาม) ‘วัสตร์, พัสตร์,’ ผ้า, เสื้อผ้า, เครื่องนุ่งห่มหรือแต่งตัว; cloth, clothes, raiment, covering for the body.”
“วตฺถ” ในภาษาไทยเขียนอิงรูปคำสันสกฤต “วสฺตฺร” แปลง ว เป็น พ : วสฺ– > พสฺ– = พัสตร > พัสตร์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พัสตร์ : (คำนาม) ผ้า, เขียนเป็น พัตร ก็มี. (ส. วสฺตฺร; ป. วตฺถ).”
การประสมคำ :
๑ อคฺคิ + โธวน = อคฺคิโธวน (อัก-คิ-โท-วะ-นะ) แปลว่า “ชำระล้างด้วยไฟ”
๒ อคฺคิโธวน + วตฺถ = อคฺคิโธวนวตฺถ (อัก-คิ-โท-วะ-นะ-วัด-ถะ) แปลว่า “ผ้าที่ชำระล้างด้วยไฟ” หมายถึง ผ้าที่ต้องซักด้วยไฟ
“อคฺคิโธวนวตฺถ” แปลงรูปเป็นไทยว่า “อัคนีโธวนพัสตร์”
อภิปรายขยายความ :
เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2563 ผู้เขียนบาลีวันละคำไปร่วมพิธีประชุมเพลิงศพพระเทพวิสุทธาจารย์ (บุญชัย มหาวีโร ป.ธ.9) ที่วัดด่านประชากร อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ก่อนถึงเวลาประชุมเพลิง พระเดชพระคุณพระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ ป.ธ.7) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ได้กล่าวสังเวคกถา
ความตอนหนึ่งในสังเวคกถาท่านกล่าวว่า เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ผ้าที่ห่อพระพุทธสรีระชั้นในสุดในจำนวนผ้า 500 ชั้นไฟไม่ไหม้ ผ้าผืนอื่นๆ ไฟไหม้หมด เหตุที่ไฟไม่ไหม้ ท่านว่าเพราะผ้าผืนนั้นเป็นผ้าชนิดพิเศษ เรียกว่า “ผ้าอัคคิโธวนะ” แปลว่า “ผ้าที่ซักด้วยไฟ” ผ้าชนิดนี้ซักด้วยน้ำธรรมดาสิ่งสกปรกจะไม่สามารถหลุดออกได้ ต้องใช้วิธีใส่เข้าในกองไฟ ไฟจะเผาสิ่งสกปรกออกหมด ส่วนเนื้อผ้าจะไม่ไหม้ไฟ แต่จะยังคงเป็นผืนผ้าอยู่ตามปกติ
ผู้เขียนบาลีวันละคำฟังแล้วรู้สึกอัศจรรย์ในคุณสมบัติของ “ผ้าอัคคิโธวนะ” (ถ้าหากว่ามีผ้าเช่นว่านี้อยู่จริง) จึงจับเอาคำว่า “ผ้าอัคคิโธวนะ” มาแปลงรูปเป็นคำไทยว่า “อัคนีโธวนพัสตร์” ออกจะยาวหน่อย แต่เสียงของคำน่าจะพอยอมรับได้ เทียบกับ “กาสาวพัสตร์” หรือ “โขมพัสตร์” ที่เราพอจะคุ้นกันอยู่
ผู้เขียนบาลีวันละคำค้นดูในคัมภีร์ ยังไม่พบคำว่า “อคฺคิโธวนวตฺถ” ค้นดูในปฐมสมโพธิกถา ตอนมหาปรินิพพานปริวัตต์ และธาตุวิภัชนปริวัตต์ ก็ไม่พบว่าได้กล่าวถึงผ้าชนิดนี้
ที่นำคำนี้มาเขียนก็เพื่อเป็นการเสนอคำที่น่าสนใจสู่การรับรู้ในวงวรรณกรรม กับขอฝากญาติมิตรให้ช่วยสืบค้นที่มาหรือความเป็นมาของผ้า “อัคนีโธวนพัสตร์” กันต่อไปด้วย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผ้า “อัคนีโธวนพัสตร์” ซักด้วยไฟ
: สนิมในใจต้องซักด้วยทาน ศีล ภาวนา
#บาลีวันละคำ (2,792)
3-2-63