บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถาน : มรดกที่ถูกปล่อยให้สูญ

ถาน : มรดกที่ถูกปล่อยให้สูญ

—————————–

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –

…………………………………..

ถาน : (คำนาม) ส้วมของพระ.

…………………………………..

คำว่า “ถาน” = ส้วมของพระ เป็นอีกคำหนึ่งที่คนรุ่นใหม่น่าจะไม่รู้จัก

สมัยก่อน พระที่บวชแล้วไม่ท่องบ่นบทสวดมนต์ให้จำได้ เวลาจะสวดมนต์ต้องเอาหนังสือไปแอบกางสวด คนเก่ามีคำตำหนิว่า –

ขี้เต็มถาน เจ็ดตำนานไม่จบ” 

บอกถึงความล้มเหลวในชีวิตนักบวชของผู้นั้น

……………………………………………..

โปรดสังเกต คำว่า “เอาหนังสือไปแอบกางสวด” 

สมัยก่อน พระเณรรูปไหนเอาหนังสือไปกางสวด ต้อง “แอบ” เอาไป ถือเปิดเผยไม่ได้ เพราะมาตรฐานสมัยโน้นคือมนต์ทุกบทต้องสวดจากความจำ และวิถีชีวิตพระเณรมีเวลามากพอที่จะท่องจนจำได้ ถ้าจัดระเบียบชีวิตเป็น ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเอาหนังสือไปกางสวด

อีกไม่นาน การสวดมนต์จากความจำจะเหลือแต่ตำนาน

……………………………………………..

วัดสมัยก่อน โดยเฉพาะวัดตามชนบท กุฏิสงฆ์ไม่มีห้องน้ำในตัวเหมือนอาคารบ้านเรือนสมัยใหม่ แต่ละวัดจึงต้องมีที่สรงน้ำรวม และมี “ถาน” เป็นส่วนกลาง (ที่สรงน้ำและถานแยกกันอยู่คนละที่)

ถานที่ใช้ร่วมกันเช่นนี้มักสกปรก และยิ่งในสมัยที่ส้วมซึมยังไม่มีแพร่หลาย ความสกปรกก็ยิ่งมีได้ง่ายและมีได้มากขึ้น 

เจ้าคณะผู้ปกครองสมัยก่อน เวลาไปตรวจความเรียบร้อยตามวัดต่างๆ ท่านจึงมักแนะนำกันให้ตรวจ ๒ แห่ง คือโบสถ์แห่งหนึ่ง และถานอีกแห่งหนึ่ง โดยมีเหตุผลว่า 

โบสถ์เป็นสถานที่สูงสุด 

ถานเป็นสถานที่ต่ำสุด 

และทั้ง ๒ แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญและจำเป็นที่สุดภายในวัด 

ถ้าสถานที่ทั้ง ๒ แห่งนี้สะอาดเรียบร้อย ก็อาจอนุมานได้ว่าการบริหารจัดการด้านอื่นๆ ของวัดนั้นก็ควรจะดำเนินไปในทางที่เจริญดีงามด้วยเช่นกัน

………………….

พระสมัยก่อน เมื่อลาสิกขาแล้วมีคตินิยมยับยั้งอยู่ภายในวัดและสมาทานศีลเคร่งครัดเป็นเวลาอย่างน้อย ๓ วัน จึงจะออกจากวัดกลับบ้าน 

ในระหว่างเป็น “ทิด” อยู่วัด ก็จะถือโอกาสทำความสะอาดถานเป็นการใหญ่ไปด้วย โดยถือคติว่า ตลอดเวลาที่บวชอยู่ได้ถ่ายหนักถ่ายเบาทำความสกปรกไว้เป็นอันมาก เมื่อจะจากวัดไปเป็นคฤหัสถ์ดังเดิมจึงควรชำระล้างถานให้สะอาด เสมือนเป็นการไถ่โทษ ชีวิตฆราวาสจะได้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทินติดตัวไปจากวัด 

ปัจจุบันคติดังกล่าวนี้น่าจะเหลือแต่ตำนาน 

เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่เราปล่อยให้สูญไปกับกาลเวลา

บันทึกไว้เพื่อไม่ให้สูญไปจากความทรงจำของผู้คน

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ มกราคม ๒๕๖๕

๑๒:๐๙

…………………………………………..

ถาน : มรดกที่ถูกปล่อยให้สูญ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *