บาลีวันละคำ

โมกขธรรม (บาลีวันละคำ 2,811)

โมกขธรรม

บางลัทธิพ้นแล้ว แต่ยังไม่หลุด

อ่านว่า โมก-ขะ-ทำ

ประกอบด้วยคำว่า โมกข + ธรรม

(๑) “โมกข

เขียนแบบบาลีเป็น “โมกฺข” (มีจุดใต้ กฺ) อ่านว่า โมก-ขะ รากศัพท์มาจาก มุจฺ (ธาตุ = หลุด, พ้น) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ มุ-(จฺ) เป็น โอ แล้วแปลง จฺ เป็น (มุจฺ > โมจ >โมข), ซ้อน กฺ ระหว่าง กับ (โม + กฺ + )

: มุจฺ + = มุจ > โมจ > โมข : โม + กฺ + = โมกฺข แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นที่หลุดพ้น” (2) “ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากราคะเป็นต้น

โมกฺข” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การเปลื้อง, ความพ้น (release, freedom from)

(2) การปลดเปลื้อง, การหลุดพ้น, การช่วยให้หลุดพ้น (release, deliverance, salvation)

(3) ปล่อย, ส่งแสง ส่งเสียง หรือส่งออก, เปล่ง [วาจา] (letting loose, emission, uttering [of speech])

ในบาลียังมี “โมกฺข” อีกความหมายหนึ่ง ใช้เป็นคุณศัพท์ รากศัพท์มาจาก มุจฺ (ธาตุ = หลุด, พ้น) + (ตะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ มุ-(จฺ) เป็น โอ แล้วแปลง จฺ เป็น (มุจฺ > โมจ >โมก), แปลง เป็น

: มุจฺ + = มุจต > โมจต > โมกฺต > โมกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่พ้นจากความต่ำต้อยและปานกลาง” หมายถึง สูงสุด, ที่หนึ่ง, นำหน้า, เลิศ (the headmost, first, foremost)

ในที่นี้ “โมกฺข” มีความหมายตามคำแรก

บาลี “โมกฺข” สันสกฤตเป็น “โมกฺษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

โมกฺษ : (คำนาม) บรมคติ, ความหลุดพ้นแห่งอาตมันจากร่างกาย, และพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป; มรณะ; ความพ้นทุกข์; final emancipation, the liberation of the soul from the body, and its exemption from further transmigration; death; liberation or freedom.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) โมกข-, โมกข์ ๑ : (คำนาม) ความหลุดพ้น, นิพพาน. (ป.; ส. โมกฺษ).

(2) โมกษ-, โมกษะ : (คำนาม) ความหลุดพ้น, นิพพาน. (ส.; ป. โมกฺข).

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “โมกษะ” เป็นอังกฤษว่า salvation; release; deliverance; liberation; the state of disentanglement; release; freedom.

(๒) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

โมกฺข + ธมฺม = โมกฺขธมฺม (โมก-ขะ-ทำ-มะ) แปลว่า “ธรรมคือความหลุดพ้น

โมกฺขธมฺม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “โมกขธรรม” (โมก-ขะ-ทำ)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

โมกขธรรม : ธรรมนำสัตว์ให้หลุดพ้นจากกิเลส, ความหลุดพ้น, นิพพาน.”

คำว่า “โมกขธรรม” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ความเห็น :

คำว่า “โมกฺข” ในบาลีซึ่งในสันสกฤตเป็น “โมกฺษ” เป็นคำที่มีใช้อยู่ก่อนแล้วในลัทธิพราหมณ์ โมกษะของพราหมณ์ คือการได้ไปอยู่กับพรหม

หนังสือพุทธประวัติปริเฉทที่ 1 ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้เรียบเรียง มหามกุฏราชวิทยาลัยพิมพ์เผยแพร่ มีข้อความตอนหนึ่ง (หน้า 40) ว่า

…………..

ต่อมา ในยุคอุปนิษัท พวกพราหมณ์ได้ร้อยกรองคัมภีร์อุปนิษัทขึ้น ว่าด้วยเรื่องอาตมัน อันมีหลักว่าอาตมันน้อยๆ ของคนหนึ่งๆ นั้นแยกออกมาจากปรมาตมัน คือพรหมหรือสภาพความจริงอันเป็นอยู่เองประจำสกลจักรวาล. ผู้ใดประจักษ์ความจริงอันมีอยู่อย่างไรในอาตมันทั้ง ๒ นี้แล้ว ย่อมบริสุทธิ์เข้ารวมกับปรมาตมันหรือพรหม เรียกว่า “โมกษะ” ไม่กลับมาเกิด แก่ ตาย อีกต่อไป.

…………..

แต่ “โมกขธรรม” หรือนิพพานในพระพุทธศาสนามิได้หมายถึงใครไปอยู่กับใคร หรือใครไปอยู่ที่โลกไหนภพภูมิไหน หากแต่หมายถึงภาวะที่จิตหมดเชื้ออันจะเป็นเหตุให้เวียนเกิดเวียนตาย สภาวะหรือคุณภาพของจิตเช่นนี้เมื่อใครปฏิบัติให้ประลุถึงแล้วก็จะมีอยู่ในตัวของแต่ละคนนั่นเอง

เมื่อธาตุขันธ์ผู้นั้นแตกดับ ก็เป็นอันจบเสร็จแค่นั้น ไม่มีอะไรไปสถิตอยู่ที่ภพภูมิไหนๆ อีกต่อไป เพราะถ้าหากยังมีภพมีภูมิให้ไปสถิต ก็แปลว่ายังจะต้องแตกดับต่อไปอีก เพราะไม่มีสิ่งไรๆ ที่เป็นภพหรือเป็นโลกที่มีที่เป็นอยู่แล้วจะไม่แตกดับ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ายังมีภพภูมิให้ไปสถิต

: ก็แปลว่าจิตยังไม่ถึงโมกขธรรม

#บาลีวันละคำ (2,811)

22-2-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย