บาลีวันละคำ

กติกาสังคม (บาลีวันละคำ 2,820)

กติกาสังคม

มีทั้งที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรม

อ่านว่า กะ-ติ-กา-สัง-คม

ประกอบด้วยคำว่า กติกา + สังคม

(๑) “กติกา

รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว, พูด) + อิก ปัจจัย, แปลง ที่สุดธาตุเป็น (กถฺ > กต) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กถฺ + อิก = กถิก > กติก + อา = กติกา แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบไว้ในถ้อยคำ” “ดำเนินไปในถ้อยคำ” มีความหมาย 2 นัย คือ –

(1) การตกลง, ข้อตกลง, สัญญา (agreement, contract, pact)

2 การพูดกัน, การสนทนา, การเจรจา (talking, conversation, talk)

ตามความหมายนี้ ในบาลีใช้คำเต็มว่า “กติกาวตฺต” (กะ-ติ-กา-วัด-ตะ) แปลว่า “ข้อปฏิบัติตามที่ตกลงกัน

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กติกา : (คำนาม) กฎเกณฑ์หรือข้อตกลงที่บุคคลตั้งแต่ ๒ ฝ่ายขึ้นไปกําหนดขึ้นเป็นหลักปฏิบัติ เช่น กติกาชกมวย กติกาฟุตบอล; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) หนังสือสัญญา; ข้อตกลง. (ป.; อ. covenant).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “กติกา” ตรงกับคำอังกฤษว่า covenant

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล covenant เป็นบาลีดังนี้:

(1) paṭissava ปฏิสฺสว (ปะ-ติด-สะ-วะ) = “การฟังตอบ” > การรับว่าจะทำตามที่พูด, การรับปาก

(2) paṭiññāpaṇa ปฏิญฺญาปณ (ปะ-ติน-ยา-ปะ-นะ) = การรับว่าจะปฏิบัติตามที่พูด, การรับปาก

ในภาษาบาลี “กติกา” หมายถึงข้อตกลงที่บุคคลหรือหมู่คณะให้ไว้ต่อกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตรงกับคำที่พูดว่า “สัญญากันไว้ว่า …” ไม่ถึงกับเป็นระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติ ซึ่งถ้าไม่ทำตามจะมีความผิด

ในภาษาไทย คำว่า “กติกา” มีความหมายไปถึง กฎเกณฑ์ ระเบียบ หรือข้อบังคับด้วย ทำนองเดียวกับ rule หรือ law ในภาษาอังกฤษ

(๒) “สังคม

บาลีเป็น “สงฺคม” อ่านว่า สัง-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ > สงฺ + คมฺ = สงฺคมฺ + = สงฺคม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การไปร่วมกัน

สงฺคม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การพบกัน, การเกี่ยวพันหรือติดต่อกัน, การร่วมสมาคม (meeting, intercourse, association)

(2) การร่วมประเวณี (sexual intercourse)

บาลี “สงฺคม” ในสันสกฤตก็เป็น “สงฺคม

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สงฺคม : (คำนาม) ‘สังคม,’ การประสบ, โยคหรือสมาคม; (คำใช้ในดาราศาสตร์) คฺรหโยค ( = คระหะโยค) หรือนักษัตรโยค; meeting, union; (In astronomy) planetary conjunction, or conjunction of planets.”

บาลี “สงฺคม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังคม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังคม, สังคม– : (คำนาม) คนจํานวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบ กฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์สําคัญร่วมกัน เช่น สังคมชนบท; วงการหรือสมาคมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น สังคมชาวบ้าน. (คำวิเศษณ์) ที่เกี่ยวกับการพบปะสังสรรค์หรือชุมนุมชน เช่น วงสังคม งานสังคม. (ป.).”

กติกา + สังคม = กติกาสังคม เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “กติกาของสังคม” หมายถึง กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อปฏิบัติ แบบแผน มารยาท อย่างใดๆ ก็ตามที่ผู้คนในสังคมนั้นๆ ปฏิบัติต่อกันร่วมกัน อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

กติกาสังคม” เป็นคำที่มีผู้นิยมใช้พูดและเขียนกันค่อนข้างแพร่หลาย แต่คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

แถม :

ตามหลักท่านว่า กติกามี 2 อย่าง คือ –

1 “ธมฺมิกา กติกา” กติกาที่เป็นธรรม เช่น พระสงฆ์ตามวัดทุกวัดตกลงกันว่า จะทำวัตรสวดมนต์ทุกวัน วันละ ๒ เวลา คือเช้าเวลาหนึ่ง เย็นอีกเวลาหนึ่ง เป็นต้น

2 “อธมฺมิกา กติกา” กติกาที่ไม่เป็นธรรม เช่น ผู้ประกอบการค้าตกลงกันว่า จะร่วมมือกันกักตุนสินค้าไว้จำหน่ายในราคาแพง เพื่อจะได้มีกำไรมากขึ้น เป็นต้น

…………..

กติกาไม่เป็นธรรมเกิดจากคนไม่มีธรรม

ดูก่อนภราดา!

: ท่านจะสร้างกติกาที่เป็นธรรมได้อย่างไร

: ถ้าท่านไม่สร้างคนที่มีธรรม

#บาลีวันละคำ (2,820)

2-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย