ผรุสวาจา (บาลีวันละคำ 2,826)
ผรุสวาจา
อ่านว่า ผะ-รุ-สะ-วา-จา ก็ได้
อ่านว่า ผะ-รุด-สะ-วา-จา ก็ได้
(ตามพจนานุกรมฯ)
ประกอบด้วยคำว่า ผรุส + วาจา
(๑) “ผรุส”
บาลีอ่านว่า ผะ-รุ-สะ รากศัพท์มาจาก ปร (คนอื่น, สิ่งอื่น) + อุสฺ (ธาตุ = เร่าร้อน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ป ที่ ป-(ร) เป็น ผ (ปร > ผร)
: ปร + อุสฺ = ปรุสฺ + อ = ปรุส > ผรุส แปลตามศัพท์ว่า “คำที่ยังคนอื่นให้เร่าร้อน”
“ผรุส” (นปุงสกลิงค์; คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) หยาบ (rough)
(2) รุนแรง, ห้าว, กระด้าง, ขาดเมตตา [พูดถึงวาจา] (harsh, unkind, rough [of speech])
(3) โหดร้าย (cruel)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ผรุส– : (คำวิเศษณ์) หยาบ, หยาบคาย. (ป.).”
(๒) “วาจา”
รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(จฺ) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วจฺ > วาจ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์
: วจฺ + ณ = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาจา : (คำนาม) ถ้อยคํา, คํากล่าว, คําพูด, เช่น วาจาสุภาพ วาจาอ่อนหวาน วาจาสัตย์. (ป., ส.).”
ผรุส + วาจา = ผรุสวาจา (ผะ-รุ-สะ-วา-จา) แปลว่า “วาจาหยาบ” หมายถึง คำพูดที่หยาบคาย หรือคำด่า
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “ผรุสวาจา” เป็นอังกฤษว่า harsh speech; harsh language.
ในบาลีมีอีกคำหนึ่งที่มีความหมายเหมือน “ผรุสวาจา” นั่นคือ “ผรุสวาท” (ผะ-รุ-สะ-วา-ทะ) ใช้ในภาษาไทย อ่านว่า ผะ-รุ-สะ-วาด หรือ ผะ-รุด-สะ-วาด ก็ได้ (ตามพจนานุกรมฯ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ผรุสวาจา, ผรุสวาท : (คำนาม) คําหยาบ. (ป.).”
ขยายความ :
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค 1 ข้อ 213 หน้า 209 อธิบายลักษณะของ “ผรุสวาจา” ไว้ว่า –
…………..
ปรสฺส มมฺมจฺเฉทกกายวจีปโยคสมุฏฺฐาปิกา เอกนฺตผรุสเจตนา ผรุสวาจา ผรุสํ วตฺติ เอตายาติ กตฺวา.
แปลตามสำนวนผู้เขียนบาลีวันละคำว่า –
เจตนาหยาบล้วนๆ ที่เป็นเหตุผลักดันให้เกิดการกระทำและคำพูดชนิดที่ตัดทางที่คนอื่น (ที่ถูกด่า) จะชื่นชมยินดี โดยไขความว่า “เจตนาเป็นเหตุให้คนเรากล่าวคำหยาบ” (นี่แหละ) ชื่อว่า “ผรุสวาจา”
…………..
แค่ไหนอย่างไรจึงจะถือว่าเป็น “ผรุสวาจา” ตามหลักธรรม ท่านแสดงว่า มีองค์ประกอบ 3 ข้อ คือ –
(1) อกฺโกสิตพฺโพ ปโร = มีตัวผู้ที่จะถูกด่า ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนด้วยกันเสมอไป อาจเป็นสัตว์ หรือสภาพดินฟ้าอากาศ หรืออะไรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
(2) กุปิตจิตฺตํ = ผู้ด่ามีจิตเคียดแค้นขุ่นเคือง (จิตใจมีเมตตารักใคร่ แต่ปากแกล้งทำเป็นด่าไปอย่างนั้นเอง ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบข้อนี้)
(3) อกฺโกสนา = ลงมือด่า ด้วยการเปล่งวาจาออกมา หรือด้วยกิริยาท่าทางอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ (นึกด่าอยู่ในใจ แต่ไม่ได้แสดงออก ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบข้อนี้)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เราด่าเขาแต่หูเราได้ยินก่อน
: คนเดือดร้อนคือเราใช่เขาไม่
: เขาไม่รับคำด่าจะว่าไร
: เราด่าใครด่าเขาหรือเราเอง
#บาลีวันละคำ (2,826)
8-3-63