บาลีวันละคำ

เกียรติยศ (บาลีวันละคำ 2,836)

เกียรติยศ

หนึ่งในสามยศ

อ่านว่า เกียด-ติ-ยด

ประกอบด้วยคำว่า เกียรติ + ยศ

(๑) “เกียรติ

บาลีเป็น “กิตฺติ” อ่านว่า กิด-ติ รากศัพท์มาจาก กิตฺตฺ (ธาตุ = กล่าวถึง, พูดด้วยดี) + อิ ปัจจัย

: กิตฺต + อิ = กิตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความดีอันเขากล่าวถึง” หมายถึง คําเล่าลือ, คําสรรเสริญ, ชื่อเสียง, ความรุ่งโรจน์, เกียรติยศ (fame, renown, glory, honour)

บาลี “กิตฺติ” สันสกฤตเป็น “กีรฺติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กีรฺตฺติ” และ “กีรฺติ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กีรฺตฺติ, กีรฺติ : (คำนาม) เกียรติ, ความบันลือ, ศรี (ยศสฺหรือสง่า), อนุเคราะห์, อนุกูลย์; ธันยวาท; ศัพท์, เสียง; อาภา, โศภา; โคลน, สิ่งโสโครก; ความซ่านทั่ว; มูรติทิพยศักดิ์ของพระกฤษณ; fame, renown, glory; favour; approbation; sound; light, lustre; mud, dirt; diffusion, expansion; one of the Mātrikās or personified divine energies of Krishṇa.”

บาลี “กิตฺติ” สันสกฤต “กีรฺติ” ภาษาไทยแผลงเป็น “เกียรติ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เกียรติ, เกียรติ-, เกียรติ์ : (คำนาม) ชื่อเสียง, ความยกย่องนับถือ, ความมีหน้ามีตา. (ส. กีรฺติ; ป. กิตฺติ ว่า คำเล่าลือ, คำสรรเสริญ).”

(๒) “ยศ

บาลีเป็น “ยส” (- เสือ) อ่านว่า ยะ-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ยชฺ (ธาตุ = บูชา) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: ยชฺ + = ยช > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องบูชา

(2) ยา (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ยา เป็น (ยา > )

: ยา + = ยาส > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปทุกแห่ง” (ยศมีทั่วไปหมดทุกสังคม)

(3) ยสุ (ธาตุ = พยายาม) + ปัจจัย, ลบสระ อุ ที่สุดธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”) (ยสุ > ยส)

: ยสุ + = ยสุ > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เขายกย่องหรือแวดล้อม” ขยายความว่า “มีผู้ยกย่องหรือแวดล้อมด้วยเหตุอันใด ก็พยายามทำเหตุอันนั้น”

ยส” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความรุ่งเรือง, ชื่อเสียง, กิตติศัพท์, ความสำเร็จ, ยศหรือตำแหน่งสูง (glory, fame, repute, success, high position)

ยส” (ส เสือ) ภาษาไทยเขียนตามสันสกฤตเป็น “ยศ” (ศ ศาลา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ยศ : (คำนาม) ความยกย่องนับถือเกียรติของตน, เกียรติคุณ, ฐานันดรที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีสูงต่ำตามลำดับกันไป; เครื่องหมายพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้มีฐานันดร มีสูงต่ำตามลำดับกันไป, เครื่องกําหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล. (คำวิเศษณ์) ที่แสดงฐานะหรือชั้น เช่น พัดยศ. (ส.; ป. ยส)”

เกียรติ + ยศ = เกียรติยศ

อธิบาย :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ยศ” ไว้ดังนี้ –

ยศ : ความเป็นใหญ่และความยกย่องนับถือ; ในภาษาไทย มักได้ยินคำว่า เกียรติยศ ซึ่งบางครั้งมาคู่กับ อิสริยยศ และอาจจะมี ปริวารยศ หรือ บริวารยศ มาเข้าชุดด้วย รวมเป็น ยศ ๓ ประเภท.”

และที่คำว่า “เกียรติยศ” บอกไว้ดังนี้ –

เกียรติยศ : ยศคือเกียรติ หรือกิตติคุณ, ความเป็นใหญ่โดยเกียรติ.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เกียรติยศ : (คำนาม) เกียรติโดยฐานะตําแหน่งหน้าที่หรือชาติชั้นวรรณะ.”

ขยายความ :

ผู้รู้ท่านขยายความว่า “ยศ” มี 3 ประเภท คือ –

(1) อิสริย (อิด-สะ-ริ-ยะ) แปลว่า ความเป็นผู้ปกครอง, ความเป็นนาย, ความเป็นใหญ่, อำนาจปกครอง (rulership, mastership, supremacy, dominion)

เรียกเป็นศัพท์ว่า “อิสริยยศ” หมายถึง ยศที่เกิดจากความเป็นใหญ่ มีตำแหน่งหน้าที่ และมีสิทธิอำนาจที่ควบมากับตำแหน่งหน้าที่นั้น

(2) กิตฺติ (กิด-ติ) แปลว่า ชื่อเสียง, เกียรติยศ, ความรุ่งโรจน์, เกียรติ (fame, renown, glory, honour)

เรียกเป็นศัพท์ว่า “เกียรติยศ” หมายถึง ยศที่เกิดจากความมีชื่อเสียง เป็นที่สรรเสริญยกย่องนับถือของคนทั่วไป

(3) ปริวาร (ปะ-ริ-วา-ระ) แปลว่า สิ่งที่แวดล้อม, ผู้ติดตามไปเป็นกลุ่ม, บริวาร, สาวก, ผู้ติดสอยห้อยตาม, กระบวน (surrounding, suite, retinue, followers, entourage, pomp)

เรียกเป็นศัพท์ว่า “บริวารยศ” หมายถึง ยศที่เกิดจากความมีพวกพ้องญาติมิตรมาก มีผู้คนคอยเป็นกำลังสนับสนุนมาก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การกล่าวตู่พุทธพจน์

: ไม่เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล

—————-

ขยายความคำว่า “กล่าวตู่พุทธพจน์

คำว่า “กล่าวตู่พระพุทธเจ้า” หรือ “ตู่พุทธพจน์” หมายความว่า อ้างผิดๆ ถูกๆ, กล่าวสิ่งที่ตรัสว่ามิได้ตรัส กล่าวสิ่งที่มิได้ตรัสว่าได้ตรัสไว้, พูดให้เคลื่อนคลาดหรือไขว้เขวไปจากพุทธดำรัส, พูดใส่โทษ, กล่าวข่มขี่, พูดกด เช่นคัดค้านให้เห็นว่าไม่จริงหรือไม่สำคัญ (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต)

#บาลีวันละคำ (2,836)

18-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย