บาลีรัตนสูตรและคำแปล
บาลีรัตนสูตรและคำแปล
—————
ทำความเข้าใจกันก่อน
พระบาลีรัตนสูตรพร้อมทั้งคำแปลต่อไปนี้ มีเจตนาให้อ่านเพื่อเจริญศรัทธาและเป็นอุปการะในการศึกษาพระธรรมวินัยเท่านั้น
ไม่ได้มีความประสงค์จะชี้ชวนให้ท่านผู้ใดนับถือเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ สวดแล้วไม่ต้องทำอะไร บ้านเมืองสงบสุขหายโรคหายภัยขึ้นมาได้เอง
แต่เมื่ออ่านแล้ว ใคร่ครวญแล้ว เห็นได้ด้วยปัญญาของตนเองว่าเป็นพระสูตรที่มีค่าควรแก่การศึกษา และเมื่อศึกษาแล้วได้ความเลื่อมใสอันประกอบด้วยปัญญา ต่อจากนั้นจะสวดสาธยายเพื่อเพิ่มพูนศรัทธา เพื่อหล่อเลี้ยงกำลังใจ เพื่อปลูกสติ เพื่อตั้งมั่นในความไม่ประมาท เพื่อให้มีกำลังใจในอันที่จะทำกิจตามหน้าที่ของตนๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี จะสวดด้วยเจตนาเช่นนั้น ผมก็ขออนุโมทนาสาธุ
ต่อไปนี้เป็นพระบาลีรัตนสูตร คำแปลภาษาไทยผมแปล-ปรับปรุงจากพระไตรปิฎกภาษาไทยพอให้อ่านเข้าใจได้ตามสติปัญญา
………..
รตนสุตฺตํ
………..
(1)
ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ
ภุมฺมานิ วา ยานิ ว อนฺตลิกฺเข
สพฺเพว ภูตา สุมนา ภวนฺตุ
อโถปิ สกฺกจฺจ สุณนฺตุ ภาสิตํ.
หมู่ภูตเหล่าใดอยู่ภาคพื้นดิน
หรือเหล่าใดอยู่ภาคพื้นนภากาศ
มาประชุมกันแล้วในที่นี้
ขอหมู่ภูตทั้งหมดจงมีใจดี
และจงฟังสุภาษิตโดยเคารพ
(2)
ตสฺมา หิ ภูตา นิสาเมถ สพฺเพ
เมตฺตํ กโรถ มานุสิยา ปชาย
ทิวา จ รตฺโต จ หรนฺติ เย พลึ
ตสฺมา หิ เน รกฺขถ อปฺปมตฺตา.
เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหมดจงตั้งใจฟัง
จงแผ่เมตตาในหมู่ประชาที่เป็นมนุษย์
มนุษย์เหล่าใดย่อมนำพลีกรรมไปทั้งกลางวันและกลางคืน
เพราะฉะนั้น ขอท่านจงอย่าละเลยช่วยรักษามนุษย์เหล่านั้น
(3)
ยํ กิญฺจิ วิตฺตํ อิธ วา หุรํ วา
สคฺเคสุ วา ยํ รตนํ ปณีตํ
น โน สมํ อตฺถิ ตถาคเตน
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือโลกอื่น
หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์
ทรัพย์และรัตนะนั้นที่เสมอด้วยพระตถาคตไม่มีเลย
แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
(4)
ขยํ วิราคํ อมตํ ปณีตํ
ยทชฺฌคา สกฺยมุนี สมาหิโต
น เตน ธมฺเมน สมตฺถิ กิญฺจิ
อิทมฺปิ ธมฺเม รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
พระศากยมุนีมีพระหฤทัยตั้งมั่นทรงบรรลุธรรมใด
เป็นที่สิ้นกิเลส ปราศจากราคะ เป็นอมตธรรมประณีต
สิ่งไรๆ ที่เสมอด้วยธรรมนั้นไม่มี
แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
(5)
ยมฺพุทฺธเสฏฺโฐ ปริวณฺณยี สุจึ
สมาธิมานนฺตริกญฺญมาหุ
สมาธินา เตน สโม น วิชฺชติ
อิทมฺปิ ธมฺเม รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด –
ทรงสรรเสริญสมาธิอันใดว่าเป็นธรรมอันสะอาด
ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวสมาธิอันใดว่าให้ผลโดยทันที
สมาธิอื่นที่เสมอด้วยสมาธิอันนั้นไม่มี
แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
(6)
เย ปุคฺคลา อฏฺฐ สตํ ปสฏฺฐา
จตฺตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนฺติ
เต ทกฺขิเณยฺยา สุคตสฺส สาวกา
เอเตสุ ทินฺนานิ มหปฺผลานิ
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
บุคคลเหล่าใด ๘ จำพวก ๔ คู่
อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว
บุคคลเหล่านั้นเป็นสาวกของพระสุคต ควรแก่ทักษิณาทาน
ทานทั้งหลายที่เขาถวายในบุคคลเหล่านั้นย่อมมีผลมาก
แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
(7)
เย สุปฺปยุตฺตา มนสา ทฬฺเหน
นิกฺกามิโน โคตมสาสนมฺหิ
เต ปตฺติปตฺตา อมตํ วิคยฺห
ลทฺธา มุธา นิพฺพุตึ ภุญฺชมานา
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
พระอริยบุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระพุทธโคดม
ประกอบดีแล้ว (ด้วยศีล)
มีใจมั่นคง (ด้วยสมาธิ)
ปราศจากความอาลัย (ด้วยปัญญา)
พระอริยบุคคลเหล่านั้นบรรลุพระอรหัตที่ควรบรรลุ หยั่งลงสู่พระนิพพาน
ได้ความดับกิเลสเปล่าๆ (ไม่ต้องใช้ทรัพย์ซื้อ) เสวยผลอยู่
แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
(8)
ยถินฺทขีโล ปฐวึ สิโต สิยา
จตุพฺภิ วาเตภิ อสมฺปกมฺปิโย
ตถูปมํ สปฺปุริสํ วทามิ
โย อริยสจฺจานิ อเวจฺจ ปสฺสติ
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
เสาเขื่อนที่ฝังลงดิน
ไม่หวั่นไหวเพราะลมทั้งสี่ทิศ ฉันใด
ผู้ใดพิจารณาเห็นอริยสัจทั้งหลาย
ผู้นั้นเราเรียกว่าเป็นสัตบุรุษ
ไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรม ฉันนั้น
แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
(9)
เยรียสจฺจานิ* วิภาวยนฺติ
คมฺภีรปญฺเญน สุเทสิตานิ
กิญฺจาปิ เต โหนฺติ ภุสปฺปมตฺตา
น เต ภวํ อฏฺฐมมาทิยนฺติ
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
(*เย อริยสจฺจานิ …)
พระโสดาบันจำพวกใดทำให้แจ้งอริยสัจ
ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งทรงแสดงดีแล้ว
ถึงแม้ว่าพระโสดาบันจำพวกนั้นจะเป็นผู้ประมาทอย่างแรงกล้า
ท่านก็ไม่ถือเอาภพที่ ๘ (คือเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ)
แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
(10)
สหาวสฺส ทสฺสนสมฺปทาย
ตยสฺสุ ธมฺมา ชหิตา ภวนฺติ
สกฺกายทิฏฺฐิ วิจิกิจฺฉิตญฺจ
สีลพฺพตํ วาปิ ยทตฺถิ กิญฺจิ
จตูหปาเยหิ จ วิปฺปมุตฺโต
ฉ จาภิฐานานิ อภพฺโพ กาตุํ
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา
และสีลัพพตปรามาส อย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่
สังโยชนธรรมเหล่านั้นย่อมเป็นอันพระโสดาบันละได้แล้ว
พร้อมกับทัสสนสัมปทา (คือโสดาปัตติมรรค) ทีเดียว
อนึ่ง พระโสดาบันเป็นผู้พ้นแล้วจากอบายทั้ง ๔
ไม่อาจที่จะทำอภิฐาน ๖ (คืออนันตริยกรรม ๕ กับการเข้ารีต)
อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
(11)
กิญฺจาปิ โส กมฺมํ กโรติ ปาปกํ
กาเยน วาจายุท เจตสา วา
อภพฺโพ โส ตสฺส ปฏิจฺฉทาย
อภพฺพตา ทิฏฺฐปทสฺส วุตฺตา
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ.
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
ถึงแม้ว่าพระโสดาบันนั้นยังทำบาปกรรม
ทางกาย วาจา หรือใจไปบ้าง (เพราะความประมาท)
ท่านก็มิใช่ผู้ที่จะปกปิดบาปกรรมนั้นไว้เลย
ข้อที่พระโสดาบันผู้เห็นพระนิพพานไม่ปกปิดบาปกรรมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้แล้ว
แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
(12)
วนปฺปคุมฺเพ ยถา ผุสฺสิตคฺเค
คิมฺหานมาเส ปฐมสฺมิ คิมฺเห
ตถูปมํ ธมฺมวรํ อเทสยิ
นิพฺพานคามึ ปรมํ หิตาย
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
พุ่มไม้งามในป่า ยอดมีดอกบานสะพรั่ง
ในต้นเดือนคิมหะแห่งฤดูคิมหันต์ ฉันใด
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ
อันให้ถึงพระนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยอดแก่สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น
แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
(13)
วโร วรญฺญู วรโท วราหโร
อนุตฺตโร ธมฺมวรํ อเทสยิ
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ
ประทานธรรมอันประเสริฐ
ทรงนำมาซึ่งธรรมอันประเสริฐ
เป็นผู้ยอดเยี่ยม ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ
แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
(14)
ขีณํ ปุราณํ นวํ นตฺถิ สมฺภวํ
วิรตฺตจิตฺตายติเก ภวสฺมึ
เต ขีณพีชา อวิรุฬฺหิฉนฺทา
นิพฺพนฺติ ธีรา ยถายมฺปทีโป
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
พระอริยบุคคลเหล่าใด –
กรรมเก่าสิ้นไป กรรมให้เกิดใหม่ไม่มี
พระอริยบุคคลเหล่าใดมีจิตอันหน่ายแล้วในภพต่อไป
พระอริยบุคคลเหล่านั้นสิ้นพืช (คือกิเลสที่นำไปเกิด) แล้ว
ความพอใจ (ที่จะเกิดอีก) เป็นอันไม่งอกอีกแล้ว
เป็นผู้มีปัญญา ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ฉะนั้น
แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
(ท้าวสักกเทวราชตรัสเสริมเป็นคาถาว่าดังนี้)
(15)
ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ
ภุมฺมานิ วา ยานิว อนฺตลิกฺเข
ตถาคตํ เทวมนุสฺสปูชิตํ
พุทฺธํ นมสฺสาม สุวตฺถิ โหตุ.
หมู่ภูตเหล่าใดอยู่ภาคพื้นดิน
หรือเหล่าใดอยู่ภาคพื้นนภากาศ
มาประชุมกันแล้วในที่นี้
พวกเรานอบน้อมพระตถาคตพุทธะ
ผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว
ขอความสวัสดีจงมีเถิด
(16)
ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ
ภุมฺมานิ วา ยานิว อนฺตลิกฺเข
ตถาคตํ เทวมนุสฺสปูชิตํ
ธมฺมํ นมสฺสาม สุวตฺถิ โหตุ.
หมู่ภูตเหล่าใดอยู่ภาคพื้นดิน
หรือเหล่าใดอยู่ภาคพื้นนภากาศ
มาประชุมกันแล้วในที่นี้
พวกเรานอบน้อมพระธรรมอันเป็นทางดำเนินถึงความดับทุกข์
อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว
ขอความสวัสดีจงมีเถิด
(17)
ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ
ภุมฺมานิ วา ยานิว อนฺตลิกฺเข
ตถาคตํ เทวมนุสฺสปูชิตํ
สงฺฆํ นมสฺสาม สุวตฺถิ โหตุ.
หมู่ภูตเหล่าใดอยู่ภาคพื้นดิน
หรือเหล่าใดอยู่ภาคพื้นนภากาศ
มาประชุมกันแล้วในที่นี้
พวกเรานอบน้อมพระสงฆ์ผู้ดำเนินตามทางดับทุกข์
ผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว
ขอความสวัสดีจงมีเถิด
รตนสุตฺตํ นิฏฺฐิตํ.
จบรัตนสูตร
————–
รตนสูตร ขุททกปาฐะ ขุททกนิกาย
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๗
รตนสูตร สุตตนิปาต ขุททกนิกาย
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๓๑๔
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๙ มีนาคม ๒๕๖๓
๑๘:๒๗
…………………………….