บาลีวันละคำ

คลองจักษุ (บาลีวันละคำ 2,884)

คลองจักษุ

แปลงมาจากบาลี

อ่านว่า คฺลอง-จัก-สุ

ประกอบด้วยคำว่า คลอง + จักษุ

(๑) “คลอง

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

คลอง : (คำนาม) ทางนํ้าหรือลํานํ้าที่เกิดขึ้นเองหรือขุดเชื่อมกับแม่นํ้าหรือทะเล; ทาง, แนว, เช่น คลองธรรม.”

(๒) “จักษุ

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “จกฺขุ” (จัก-ขุ) รากศัพท์มาจาก จกฺขฺ (ธาตุ = ดู, เห็น) + อุ ปัจจัย

: จกฺขฺ + อุ = จกฺขุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะที่ดู คือยินดีรูป” (2) “อวัยวะที่มองเห็นได้” หมายถึง ดวงตา, นัยน์ตา, ประสาทตา (the eye)

ในภาษาไทยมีใช้ทั้ง “จักขุ” และ “จักษุ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) จักขุ, จักขุ– : (คำนาม) ตา. (ป.; ส. จกฺษุ).

(2) จักษุ : (คำนาม) ดวงตา. (ส.; ป. จกฺขุ).

พจนานุกรมฯ บอกว่า บาลี “จกฺขุ” สันสกฤตเป็น “จกฺษุ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำว่า “จกฺษุ” มีแต่ “จกฺษุสฺ” บอกไว้ว่า

จกฺษุสฺ : (คำนาม) ‘จักษุส,’ จักษุ, ตา; the eye.”

คลอง” คำไทย + “จักษุ” รูปคำสันสกฤต เป็น “คลองจักษุ” เป็นคำประสม แปลจากหน้าไปหลัง ในที่นี้ “คลอง” หมายถึง “ทาง” คือแปลว่า “ทางแห่งดวงตา

คลองจักษุ” เป็นคำที่แปลงมาจากคำบาลีว่า “จกฺขุปถ” (จัก-ขุ-ปะ-ถะ)

คำว่า “จกฺขุ” แสดงรากศัพท์และความหมายมาแล้วข้างต้น

ปถ” (ปะ-ถะ) รากศัพท์มาจาก ปถฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย

: ปถฺ + = ปถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นเครื่องเดินไป” (2) “ที่เป็นที่ไป” (3) “ที่อันผู้มีกิจน้อยใหญ่เกิดขึ้นดำเนินไป” หมายถึง หนทาง, ถนน, ทาง (path, road, way)

จะเห็นได้ว่า “ปถ” มีความหมายตรงกับ “คลอง” ในภาษาไทย

จกฺขุ + ปถ = จกฺขุปถ (จัก-ขุ-ปะ-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ทางแห่งดวงตา” หมายถึง ระยะของการมองเห็น; ทัศนวิสัย (the range of vision; sight)

คำว่า “จกฺขุปถ” นี่เองที่คำไทยเก่าแปลงเอามาใช้ว่า “คลองจักษุ” ซึ่งหมายถึง ระยะที่สายตามองเห็น มักใช้เป็นภาษาเขียน ไม่ใช่ภาษาพูด

คลองจักษุ” มีความหมายว่า สิ่งนั้นมาอยู่ในรัศมีที่สามารถมองเห็นได้ถนัด เรียกว่า “มาอยู่ในคลองจักษุ” แล้วค่อยๆ เคลื่อนห่างออกไป และไกลไปทุกทีจนกระทั่งมองไม่เห็น หรือจนกระทั่งสิ่งนั้นถูกสิ่งใดสิ่งหนึ่งบดบังทำให้มองไม่เห็นอีกต่อไป เรียกว่า “ลับคลองจักษุ

ระยะที่มองเห็นดังว่ามานี้แหละคือความหมายของคำว่า “คลองจักษุ

ถ้าพูดเป็นคำแปล ก็ตรงกับวลีในภาษาไทยที่ว่า “… จนลับตา” หรือ “… จนลับสายตา” เช่น –

มองตามเครื่องบินไปจนลับตา

เขามองเธอเดินจากไปจนลับสายตา

หมายถึง มองจนมองไม่เห็นอีกแล้วจึงเลิกมอง

คลองจักษุ” เป็นคำเก่า แต่น่าแปลกใจที่คำนี้ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

จกฺขุปถ” ถ้าจะใช้ทับศัพท์ในภาษาไทย อาจใช้เป็น “จักขุบถ” (จัก-ขุ-บด) หรือ “จักษุบถ” (จัก-สุ-บด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีลูกคำ คือคำที่ขึ้นต้นด้วย “จักขุ-” หลายคำ คือ จักขุทวาร จักขุนทรีย์ จักขุประสาท จักขุวิญญาณ จักขุสัมผัส

แต่ไม่มี “จักขุบถ

และพจนานุกรมฯ มีคำว่า “จักษุ” แต่ไม่มีลูกคำ

เป็นอันว่า ทั้ง “จักขุบถ” “จักษุบถ” และ “คลองจักษุ” ไม่ได้เก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความงามที่เห็นด้วยดวงตา

อาจคร่ำคร่าชราไป

: แต่ความงามที่เห็นด้วยดวงใจ

เป็นอมตะนิรันดร์กาล

#บาลีวันละคำ (2,884)

5-5-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย