บาลีวันละคำ

ฉันทนา (บาลีวันละคำ 3,437)

ฉันทนา

เรียนบาลีจากเพลง

อ่านว่า ฉัน-ทะ-นา

ฉันทนา” เขียนแบบบาลีเป็น “ฉนฺทนา

พึงทราบว่า ในคัมภีร์บาลี รูปศัพท์คำนี้ที่พบทั่วไปจะเป็น “ฉนฺท” อ่านว่า ฉัน-ทะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) ฉนฺทฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + (อะ) ปัจจัย 

: ฉนฺทฺ + = ฉนฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความปรารถนา” 

(2) ฉทฺ (ธาตุ = ปิด, บัง, ระวัง) + (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (ฉท > ฉํท > ฉนฺท)

: ฉทฺ + = ฉท > ฉํท > ฉนฺท (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “บทประพันธ์ที่ปกปิดโทษคือความไม่ไพเราะ” 

ฉนฺท” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความปรารถนา; ความอยาก, ความประสงค์, ความพอใจ (impulse, excitement; intention, resolution, will; desire for, wish for, delight in)

(2) ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย (consent, declaration of consent to an official act by an absentee) ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ

(3) ฉันทลักษณ์, กฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งฉันท์, ตำราฉันท์; บทร้อยกรอง (metre, metrics, prosody; poetry) ความหมายนี้คือที่ภาษาไทยพูดว่า “กาพย์กลอนโคลงฉันท์” บาลีไม่ได้เรียกแยกชนิดเหมือนไทย คงเรียกรวมทุกอย่างว่า “ฉนฺทฉันท์” แต่มีชื่อเฉพาะสำหรับฉันท์แต่ละชนิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คาถา” 

แล้ว “ฉนฺทนา” มาอย่างไร?

แม้รูปคำ “ฉนฺทนา” จะไม่นิยมใช้ในคัมภีร์ แต่ศัพท์ว่า “ฉนฺทนา” ก็อธิบายรากศัพท์โดยบาลีไวยากรณ์ได้ นั่นคือ มาจาก ฉนฺทฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ฉนฺทฺ + ยุ > อน = ฉนฺทน + อา = ฉนฺทนา แปลตามศัพท์ว่า “ความปรารถนา” 

ฉนฺทนา” ใช้เป็นชื่อคน มีความหมายว่า “ผู้มีความปรารถนา” หรือ “ผู้เป็นที่ปรารถนา

อธิบายขยายความ :

ครั้งหนึ่ง สตรีที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองไทย ที่มักเรียกกันว่า “สาวโรงงาน” มีผู้นิยมเรียกขานกันทั่วไปว่า “ฉันทนา” หมายความว่า ถ้าเรียกสตรีคนไหนว่า “ฉันทนา” หรือ “สาวฉันทนา” ก็จะเป็นที่เข้าใจกันว่า หมายถึง สตรีที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือ “สาวโรงงาน”

มีผู้อธิบายความเป็นมาไว้ดังนี้ –

…………..

คำว่า “ฉันทนา” ไม่ได้แปลว่าสาวโรงงานแต่อย่างใด และไม่มีความหมายเฉพาะตัวโดยตรง แต่น่าจะมาจากคำว่า “ฉันท์” หรือ “ฉันทะ” ที่แปลว่า ความพอใจ ความรักใคร่ ความชอบใจ ความยินดี ฉันทนาจึงหมายถึงผู้ที่น่าพอใจ ผู้ที่น่ายินดี ผู้มีความรักใคร่ เป็นชื่อเฉพาะที่นิยมในการตั้งชื่อ เพราะเมื่อออกเสียงแล้วมีความไพเราะ ส่วนสาเหตุที่ทำให้คำนี้มีความเชื่อมโยงถึงสาวโรงงานนั้นมีที่มาจากเพลงเพลงหนึ่งที่ได้รับความนิยมในอดีต

เพลงที่พูดถึงนี้ชื่อ “ฉันทนาที่รัก” เป็นผลงานการประพันธ์ของ “สุชาติ เทียนทอง” แต่งขึ้นในปี 2521 และสร้างชื่อเสียงให้ “รักชาติ ศิริชัย” ต้นฉบับผู้ขับร้องเพลงนี้โด่งดังเป็นพลุแตกตั้งแต่ปี 2522 เป็นเพลงยุคแรกๆ ที่มีการพูดถึงชีวิตของสาวโรงงาน โดยเนื้อเพลงเล่าถึงความรู้สึกของผู้ชายคนหนึ่งขณะเขียนจดหมายรักถึงสาวโรงงานทอผ้าคนหนึ่งที่ตนหลงรักชื่อ “ฉันทนา” 

ด้วยกระแสความนิยมอย่างล้นหลาม ชื่อฉันทนาจึงกลายเป็นคำเรียกแทนสาวโรงงานมาจนถึงทุกวันนี้

……………………………….

ที่มา: เหตุผลที่เรียก “สาวโรงงาน” ว่า “ฉันทนา”

https://www.ch3thailand.com/news/scoop/16031

……………………………….

ขอนำเนื้อร้องเพลง “ฉันทนาที่รัก” มาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ –

…………..

ชื่อเพลง: ฉันทนาที่รัก

ปีที่แต่ง: 2521

ผู้แต่ง : สุชาติ เทียนทอง (2481 – 2528)

ผู้ขับร้องต้นฉบับ : รักชาติ ศิริชัย (บุญช่วย จิวิสาย, 2498)

…………………………..

ปิดไฟใส่กลอน จะเข้ามุ้งนอน คิดถึงใบหน้า

นั่งเขียนจดหมาย แล้วรีบทิ้งไปโรงงานทอผ้า

ถึงคนชื่อฉันทนา ที่เคยสบตากันเป็นประจำ

ลายมือไม่ดี ผมขอโทษที เพราะความรู้ต่ำ

หากคำพูดใด ไม่ถูกหัวใจ หรือไม่ชื่นฉ่ำ

ขอจงยกโทษถ้อยคำ ที่ผมเพลี่ยงพล้ำ บอกรักคุณมา

หากผิดพลั้งไป อภัยเถิดฉันทนา

ผมคนบ้านป่า ถ้อยวาจาไม่หวานกินใจ

ภาพถ่ายลายเซ็น ผมส่งให้เป็น ของขวัญปีใหม่

หากคุณเกลียดชัง เมื่ออ่านด้านหลัง แล้วโยนทิ้งได้

หรือเอาไปฉีกเผาไฟ อย่าเก็บเอาไว้ให้มันบาดตา

หากคุณการุณย์ ก็ส่งรูปคุณ ให้ดูแทนหน้า

ช่วยเซ็นรูปไป ว่ามอบด้วยใจสาวโรงทอผ้า

ผมจะเอาไว้บูชา มอบความศรัทธา รักจนวายปราณ

จะปักหัวใจ หัวใจ รักคุณนานนาน

รักสาวโรงงาน สาวโรงงานชื่อฉันทนา 

…………………………..

…………………………..

ดูก่อนภราดา!

: ร้องเพลงประกอบด้วยธรรม ควร

: แสดงธรรมประกอบด้วยเพลง ไม่ควร

#บาลีวันละคำ (3,437)

9-11-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *