บาลีวันละคำ

ทารสังคหะ (บาลีวันละคำ 3,293)

ทารสังคหะ

สงเคราะห์คู่ครอง

ทารสังคหะ” อ่านว่า ทา-ระ-สัง-คะ-หะ

คำในพระสูตร: ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห (ปุด-ตะ-ทา-รัด-สะ-สัง-คะ-โห) 

แยกศัพท์เป็น ทาร + สังคหะ 

(๑) “ทาร” 

อ่านว่า ทา-ระ รากศัพท์มาจาก ทรฺ (ธาตุ = แตก, ทำลาย) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา ตามกฎ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ทรฺ > ทาร

: ทรฺ + = ทรณ > ทร > ทาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหตุให้แตกกัน” (คือเป็นผู้แยกสามีออกจากครอบครัวของเขา) 

ทาร” เป็นปุงลิงค์ คือศัพท์เพศชาย แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ทาโร” แปลว่า “อันว่าเมีย” 

นักเรียนบาลียังวิจารณ์กันด้วยว่า “ทาโร” แปลว่า “เมีย” แต่ทำไมจึงเป็นปุงลิงค์ คือศัพท์เพศชาย ทำไมไม่เป็น “ทารา” หรือ “ทารี” อันเป็นรูปของอิตถีลิงค์ คือศัพท์เพศหญิง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปล “ทาร” ว่า a young woman, esp. married woman, wife (สตรีสาว, โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีที่แต่งงานแล้ว, ภรรยา) 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] แสดงมงคล 38 ในมงคลสูตร มงคลข้อ 12.–13. คำบาลีว่า “ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห” แยกเป็น “ปุตฺตสงฺคห” แปลว่า “สงเคราะห์บุตร” แปลเป็นอังกฤษว่า cherishing of children และ “ทารสงฺคห” แปลว่า “สงเคราะห์ภรรยา” แปลเป็นอังกฤษว่า cherishing of wife 

ก็เป็นอันยืนยันตรงกันว่า “ทาร” คือ ภรรยา คือ wife

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ทาร– : (คำแบบ) (คำนาม) เมีย เช่น ทารทาน คือ การให้เมียเป็นทาน. (ป., ส.).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

ทาร– : (คำแบบ) (คำนาม) เมีย เช่น สทารสันโดษ คือ การยินดีเฉพาะเมียของตน. (ป., ส.).”

สรุปว่า พจนานุกรมทุกฉบับ บอกตรงกันหมดว่า “ทาร” คือ “เมีย” คือ wife

แต่คำนี้มีแง่คิด ดังจะแสดงข้างหน้า

(๒) “สังคหะ

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺคห” อ่านว่า สัง-คะ-หะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ > สงฺ + คหฺ = สงฺคหฺ + = สงฺคห แปลตามศัพท์ว่า “การจับยึดไว้พร้อมกัน” 

สงฺคห” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การรวม, การรวบรวม, การสะสม (collecting, gathering, accumulation) 

(2) การประกอบ, การเก็บรวบรวม, การกอปรด้วย, การจัดชั้นหรือประเภท (comprising, collection, inclusion, classification) 

(3) การรวม, การประกอบความรู้สึก, องค์ (inclusion, constitution of consciousness, phase) 

(4) การประมวล, การรวบรวมคัมภีร์ (recension, collection of the Scriptures) 

(5) อัธยาศัยดี, ความกรุณา, ความเห็นใจ, ความเป็นมิตร, การช่วยเหลือ, การค้ำจุน, การป้องกัน, การอนุเคราะห์ (kind disposition, kindliness, sympathy, friendliness, help, assistance, protection, favour) 

ในที่นี้ “สงฺคห” ใช้ในความหมายตามข้อ (5) 

บาลี “สงฺคห” สันสกฤตเป็น “สงฺคฺรห” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “สงฺคฺรห” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สงฺคฺรห : (คำนาม) ‘สังคระหะ, สงเคราะห์,’ รจนาและสังเขป; ปริคณนา, ปริสังขยา, นามาวลี, รายชื่อ; ปริมาณ, สมุหะ, คณะ; การระงับ; การหยิบฉวย-จับกุม-หรือถือเอา; ประสาทน์; การปรนปรือหรือให้ความสุขด้วยประการต่างๆ; การคุ้มครองหรือรักษา; ที่เก็บติปาฐะ; สัญญา; ความสูง; เวค, ความเร็ว; การกำหมัด; อุตสาหะ; compilation and abridgment; a catalogue, a list, a list of names; quantity, collection; restraining; seizing, laying hold of, or taking; propitiating, pleasing or satisfying; protecting or guarding; a place where anything is kept; agreement or contract; assent or promise; loftiness; velocity; clenching the fist; effort.”

บาลี “สงฺคห” สันสกฤต “สงฺคฺรห” ภาษาไทยใช้เป็น “สงเคราะห์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สงเคราะห์ : (คำนาม) การช่วยเหลือ, การอุดหนุน, เช่น ฌาปนกิจสงเคราะห์; การรวบรวม เช่น หนังสือนามสงเคราะห์. (คำกริยา) อุดหนุน เช่น สงเคราะห์เด็กกำพร้า. (ส. สงฺคฺรห; ป. สงฺคห).”

ทาร + สงฺคห = ทารสงฺคห (ทา-ระ-สัง-คะ-หะ) แปลว่า “การสงเคราะห์คู่ครอง” 

อภิปรายขยายความ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า “ทาร” ไม่ควรแปลว่า “เมีย” ซึ่งเจาะจงเฉพาะหญิงที่เป็นภรรยา (wife) เสมอไป บางกรณีต้องแปลว่า “คู่ครอง” ซึ่งกินความรวมถึงชายที่เป็น “ผัว” (husband) ด้วย โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงหลักธรรม เช่น – 

ทารสงฺคห” ในมงคล 38 ควรแปลว่า “สงเคราะห์คู่ครอง

สทารสันโดษ” ควรแปลว่า “การยินดีเฉพาะคู่ครองของตน” 

เหตุผลคือ – 

(๑) มงคล 38 เป็นหลักธรรมที่สอนให้มนุษย์ทั่วไปปฏิบัติ คือทั้งชายและหญิงสามารถปฏิบัติได้ครบทุกข้อ ไม่ใช่สอนเฉพาะผู้ชาย ถ้าแปล “ทารสงฺคห” (มงคลข้อ 13) ว่า “สงเคราะห์ภรรยา” ก็จะกลายเป็นว่ามงคลข้อนี้ปฏิบัติได้เฉพาะผู้ชายที่เป็นสามี แต่ผู้หญิงที่เป็นภรรยาปฏิบัติไม่ได้ 

แต่ถ้าแปล “ทารสงฺคห” ว่า “สงเคราะห์คู่ครอง” มงคลข้อนี้ก็ปฏิบัติได้ทั้งสามีและภรรยา

(๒) “สทารสันโดษ” เป็นหลักเบญจธรรมที่คู่กับเบญจศีล กล่าวคือ – 

(1) เมตตากรุณา คู่กับ ปาณาติบาต 

(2) สัมมาอาชีวะ (หรือ ทาน) คู่กับ อทินนาทาน

(3) สทารสันโดษ (หรือ กามสังวร) คู่กับ กาเมสุมิจฉาจาร

(4) สัจจะ คู่กับ มุสาวาท

(5) สติสัมปชัญญะ (หรือ อัปปมาทะ) คู่กับ สุราเมรยฯ

จะเห็นได้ว่า ทั้งชายและหญิงสามารถปฏิบัติเบญจธรรมได้ทุกข้อ แต่ถ้าแปล “สทารสันโดษ” (เบญจธรรมข้อ 3) ว่า “การยินดีเฉพาะเมียของตน” ก็จะกลายเป็นว่าเบญจธรรมข้อนี้ปฏิบัติได้เฉพาะผู้ชาย แต่ผู้หญิงปฏิบัติไม่ได้ 

แต่ถ้าแปล “สทารสันโดษ” ว่า “การยินดีเฉพาะคู่ครองของตน” เบญจธรรมข้อนี้ก็ปฏิบัติได้ทั้งชายและหญิง

อนึ่ง โปรดสังเกตว่า ในหลักธรรมดังกล่าวนี้ ถ้าประสงค์จะให้หมายถึงเฉพาะ “ภรรยา” หรือ “เมีย” – 

ทารสงฺคห” ก็น่าจะใช้คำว่า “ภริยาสงฺคห

สทารสันโดษ” ก็น่าจะใช้คำว่า “สภริยาสันโดษ

ถ้าใช้อย่างนี้ก็จะยืนยันได้ชัดเจนว่าหมายถึงเฉพาะ “ภรรยา” หรือ “เมีย” 

การที่ท่านใช้คำว่า “ทาร” (“ทารสงฺคห” “สทารสันโดษ”) ย่อมเป็นอันแสดงเจตจำนงชัดเจนว่า “ทาร” ในที่เช่นนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะภรรยา แต่หมายถึงทั้งภรรยาและสามี หรือหมายถึง “เมีย” ก็ได้ และหมายถึง “ผัว” ก็ได้ นั่นคือหมายถึงคนที่ครองคู่กัน

จริงอยู่ ในข้อความทั่วไป “ทาร” หมายถึง a young woman, married woman, wife (สตรีสาว, สตรีที่แต่งงานแล้ว, ภรรยา) ดังที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษแปลไว้ แต่ในบางบริบท “ทาร” มุ่งถึง “คู่ครอง” มากกว่าที่จะเจาะจงเฉพาะ “ภรรยา” หรือ “เมีย” ดังที่มักเข้าใจกัน (แคบๆ) เช่นในคำว่า “ทารสงฺคห” และ “สทารสันโดษ” เป็นต้น 

หลักฐานอีกแห่งหนึ่งคือ สิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 199 แสดงวิธีที่บิดามารดาสงเคราะห์บุตรไว้ 5 ข้อ ในข้อที่ 4 คำบาลีว่า –

“ปฏิรูเปน  ทาเรน  สญฺโญเชนฺติ.” 

ท่านใช้คำว่า “ทาร” ซึ่งว่าควรแปลว่า “คู่ครอง” นั่นคือ ถ้าเป็นลูกชายก็หา “ภรรยา” ที่สมควรให้ ถ้าเป็นลูกสาว ก็หา “สามี” ที่สมควรให้ 

ถ้า “ทาร” หมายถึง “เมีย” อย่างเดียว ธรรมะข้อนี้พ่อแม่ก็ปฏิบัติต่อลูกสาวไม่ได้ เพราะลูกสาวต้องมี “ผัว” ไม่ใช่มีเมีย แต่ถ้าแปล “ทาร” ว่า “คู่ครอง” พ่อแม่ก็ปฏิบัติธรรมะข้อนี้ได้ทั้งแก่ลูกชายและลูกสาว 

“ปฏิรูเปน  ทาเรน  สญฺโญเชนฺติ.” จึงควรแปลว่า “หาคู่ครองที่สมควรให้”

ด้วยเหตุผลดังแสดงมา ผู้เขียนบาลีวันละคำขอประกาศว่า คำว่า “ทาร” นอกจากจะแปลว่า “เมีย” แล้ว ในที่หลายๆ แห่งต้องแปลว่า “คู่ครอง” ซึ่งครอบคลุมทั้ง “เมีย” และ “ผัว” จึงจะชอบด้วยเหตุผล

ทารสงฺคห” เขียนแบบไทยเป็น “ทารสังคหะ” อ่านว่า ทา-ระ-สัง-คะ-หะ แปลว่า “การสงเคราะห์คู่ครอง

ทำความเข้าใจ :

คำบาลีในพระสูตรว่า “ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห” รวมมงคลไว้ 2 ข้อ คือ “ปุตฺตสงฺคห” (สงเคราะห์บุตร) เป็นมงคลข้อที่ 12 และ “ทารสงฺคห” (สงเคราะห์ภรรยา) เป็นมงคลข้อที่ 13 

คำบาลีในพระสูตรท่านพูดรวมกันว่า “ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห” แต่ในทางปฏิบัติต้องแยกเป็น 2 ข้อ เพราะ “ปุตฺต” (บุตร) และ “ทาร” ( = คู่ครอง) อยู่ในฐานะต่างกัน วิธีสงเคราะห์ก็ต่างกัน สงเคราะห์บุตรทำอย่างหนึ่ง สงเคราะห์คู่ครองทำอีกอย่างหนึ่ง จึงต้องแยกเป็น 2 ข้อ

ถ้าเทียบกับมงคลข้อก่อน คือ “มาตาปิตุอุปัฏฐาน” คำบาลีในพระสูตรท่านก็พูดรวมกันว่า “มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ” (การบำรุงมารดาและบิดา) แต่ไม่แยกเป็น 2 ข้อ เพราะ “มาตา” (มารดา) และ “ปิตุ” (บิดา) อยู่ในฐานะเดียวกัน วิธีบำรุงมารดาและวิธีบำรุงบิดาทำเหมือนกัน บำรุงมารดาอย่างไรก็บำรุงบิดาอย่างนั้น บำรุงบิดาอย่างไรก็บำรุงมารดาอย่างนั้นในทางปฏิบัติจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น จึงเป็นมงคลข้อเดียว ไม่แยกเป็น 2 ข้อเหมือน “ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห

…………..

ในพระไตรปิฎกท่านแสดงวิธีสงเคราะห์คู่ครองไว้ดังนี้ –

……………………………….

ปญฺจหิ  โข  คหปติปุตฺต  ฐาเนหิ  สามิเกน  ปจฺฉิมา  ทิสา  ภริยา  ปจฺจุปฏฺฐาตพฺพา  สมฺมานนาย  อวิมานนาย  อนติจริยาย  อิสฺสริยโวสฺสคฺเคน  อลงฺการานุปฺปทาเนน. 

อิเมหิ  โข  คหปติปุตฺต  ปญฺจหิ  ฐาเนหิ  สามิเกน  ปจฺฉิมา  ทิสา  ภริยา  ปจฺจุปฏฺฐิตา  ปญฺจหิ  ฐาเนหิ  สามิกํ  อนุกมฺปนฺติ  สุสํวิหิตกมฺมนฺตา  จ  โหติ  สุสงฺคหิตปริชนา  จ  อนติจารินี  จ  สมฺภตญฺจ  อนุรกฺขติ  ทกฺขา  จ  โหติ  อนลสา  สพฺพกิจฺเจสุ. 

……………………………….

สามีพึงสงเคราะห์ภรรยา ดังนี้ 

(1) สมฺมานนาย.

ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา

by honouring her.

(2) อวิมานนาย.

ไม่ดูหมิ่น

by being courteous to her.

(3) อนติจริยาย.

ไม่นอกใจ

by being faithful to her.

(4) อิสฺสริยโวสฺสคฺเคน.

มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้

by handing over authority to her.

(5) อลงฺการานุปฺปทาเนน.

หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

by providing her with ornaments.

ภรรยาพึงสงเคราะห์สามี ดังนี้ –

(1) สุสํวิหิตกมฺมนฺตา  จ  โหติ.

จัดงานบ้านให้เรียบร้อย

The household affairs are to be well managed.

(2) สุสงฺคหิตปริชนา  จ.

สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี

She should be hospitable and helpful to friends and relations of both hers and his.

(3) อนติจารินี  จ.

ไม่นอกใจ

She should be faithful to him.

(4) สมฺภตญฺจ  อนุรกฺขติ.

รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้

She should take care of the goods he brings home.

(5) ทกฺขา  จ  โหติ  อนลสา  สพฺพกิจฺเจสุ.

ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง

She should be skilful and industrious in all her duties.

ที่มา: สิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค 

พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 201 

คำแปลและภาษาอังกฤษ: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [265] ทิศ 6

…………..

อนึ่ง โปรดสังเกตว่า ในพระไตรปิฎกที่แสดงการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างสามี-ภรรยานี้ “สามี” ท่านใช้คำว่า “สามิก” “ภรรยา” ท่านใช้คำว่า “ภริยา” อันเป็นคำที่คู่กัน คือ “สามิก” คู่กับ “ภริยา” ซึ่งแปลว่า “ภรรยา” หรือ “เมีย” ตรงตัว 

สามิก” ไม่ได้คู่กับ “ทาร” และในที่นี้เมื่อพูดถึงฝ่ายภรรยาหรือฝ่าย “เมีย” ท่านใช้คำว่า “ภริยา” ไม่ได้ใช้คำว่า “ทาร” ทั้งนี้เพราะ “ทาร” เป็นคำรวมที่หมายถึง “คู่ครอง” คือหมายถึงทั้งสามีและภรรยา แต่ในที่นี้ต้องการแยกหน้าที่ระหว่างสามีและภรรยาซึ่งวิธีปฏิบัติไม่เหมือนกัน จะใช้คำว่า “ทาร” ไม่ได้อยู่เอง เพราะจะไม่สามารถแยกได้ว่าจะหมายถึง “ทาร” ที่เป็น “ผัว” หรือ “ทาร” ที่เป็น “เมีย” ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงหน้าที่ของ “เมีย” ท่านจึงใช้คำว่า “ภริยา” ซึ่งระบุชัดเจนว่าเป็น “เมีย” เท่านั้น 

ข้อนี้จึงเป็นการยืนยันว่าอีกทางหนึ่งว่า “ทาร” หมายถึง “คู่ครอง” คือหมายถึงทั้งสามีและภรรยา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนที่รักเราจริง 

คือไม่ทิ้งเมื่อเรามีทุกข์

: คนที่เห็นกันเมื่อยามสุข 

อาจทำให้เรายิ่งทุกข์เมื่อยามมีภัย

—————–

ตามไปอ่านบาลีวันละคำทั้งหมดได้ที่ลิงก์นี้:

#บาลีวันละคำ (3,293) (ชุดมงคล 38)

18-6-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *