บาลีวันละคำ

มรณบัตร (บาลีวันละคำ 3,005)

มรณบัตร

ไม่ใช่ “ใบมรณบัตร”

อ่านว่า มอ-ระ-นะ-บัด

ประกอบด้วยคำว่า มรณ + บัตร

(๑) “มรณ

บาลีอ่านว่า มะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: มรฺ + ยุ > อน = มรน > มรณ แปลตามศัพท์ว่า “ความตาย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มรณ” ว่า death, as ending this [visible] existence, physical death; dying (ความตาย, ในฐานสิ้นชีวิต [ที่เห็นได้] นี้, ความตายทางกาย; การถึงแก่กรรม)

(๒) “บัตร

บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน

ปตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ปีกนก, ขนนก (the wing of a bird, a feather)

(2) ใบไม้ (a leaf)

(3) แผ่นโลหะบางๆ เล็กๆ ที่พิณ (a small thin strip of metal at the lute)

บาลี “ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปตฺร : (คำนาม) ‘บัตร์’ ใบ, แผ่น; ยานทั่วไป; หางนก; ภู่ศร, ภู่หรือขนนกอันท่านติดไว้ที่ลูกศรหรือลูกดอก; ใบนารล, ‘นารลบัตร์’ ก็เรียก; ใบหนังสือ; ทองใบ; ฯลฯ ; ธาตุทั่วไปอันแผ่แล้วเปนแผ่นบาง; จดหมาย; ลายลักษณ์อักษรทั่วไป; a leaf; a vehicle in general; the wing of a bird; the feather of an arrow; the leaf of the Laurus cassia; the leaf of a book, goldleaf &c.; any thin sheet or plate of metal; a letter; any written document.”

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า ปตฺต > ปตฺร ใช้ในภาษาไทยว่า บัตร

คำว่า “บัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บัตร : (คำนาม) แผ่นเอกสารแสดงสิทธิของผู้ใช้เป็นต้น มักทำด้วยกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น บัตรประจำตัว บัตรเลือกตั้ง บัตรสมนาคุณ; ภาชนะทำด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระบะสำหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย; ใบไม้, กลีบดอกไม้ เช่น ปทุมบัตร; ขนปีก, ปีก เช่น หากันกระสันโบย บัตรเรียกมารังเรียง (สมุทรโฆษ). (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”

มรณ + บัตร = มรณบัตร

บทนิยามคำว่า “มรณบัตร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

มรณบัตร : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) หนังสือสําคัญที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตายออกให้เป็นหลักฐานแสดงรายการคนตายแก่ผู้แจ้ง.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

มรณบัตร : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) หนังสือสำคัญที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกให้เป็นหลักฐานการตายของบุคคล.”

ความแตกต่างก็คือ พจนานุกรมฯ ฉบับ 42 บอกว่า “นายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตาย”

พจนานุกรมฯ ฉบับ 54 แก้คำว่า “ผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตาย” เป็น “นายทะเบียนผู้รับแจ้ง” คือตัดคำว่า “แห่งท้องที่ที่มีคนตาย” ออกไป

ดังจะให้เข้าใจว่า “นายทะเบียนผู้รับแจ้ง” ไม่จำเป็นจะต้องเป็นนายทะเบียน “แห่งท้องที่ที่มีคนตาย” คือจะเป็นนายทะเบียนท้องที่ไหนก็ได้

เช่น คนตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่จังหวัดราชบุรี

แต่ไปตายที่จังหวัดนราธิวาส

แล้วญาติไปแจ้งตายที่จังหวัดเชียงราย

ดังนี้ นายทะเบียนจังหวัดเชียงรายก็สามารถออก “มรณบัตร” ให้ได้

เช่นนี้ใช่หรือไม่ ขอแรงท่านผู้สันทัดกฎหมายชี้แนะด้วย

บทนิยามท่อนท้าย พจนานุกรมฯ ฉบับ 42 บอกว่า “ออกให้เป็นหลักฐานแสดงรายการคนตายแก่ผู้แจ้ง”

พจนานุกรมฯ ฉบับ 54 แก้เป็น “ออกให้เป็นหลักฐานการตายของบุคคล”

คือแก้ “หลักฐานแสดงรายการคนตาย” เป็น “หลักฐานการตายของบุคคล” และตัดคำว่า “แก่ผู้แจ้ง” ออกไป ดังจะให้เข้าใจว่า จะออกให้แก่ผู้แจ้งหรือออกให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้แจ้งก็ได้ คือจะออกให้ใครก็ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นจะต้องออกให้ “แก่ผู้แจ้ง” โดยเฉพาะ หรือแม้จะไม่มีใครมารับไป แต่ทิ้งไว้เฉยๆ หนังสือสำคัญนั้นก็มีสถานะเป็น “มรณบัตร” สมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว

อันนี้เป็นเพียงข้อสังเกตลีลาภาษาระหว่างพจนานุกรมฯ 2 สมัยเพื่อให้เห็น “วิธีคิด” ของคนในแต่ละสมัย

แต่ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำอาจชี้แนะไว้ในที่นี้ได้ก็คือ คำว่า “มรณบัตร” เขียนอย่างนี้ใช้อย่างนี้ ถูกต้องแล้ว ขอแรงอย่าใช้เป็น “ใบมรณบัตร” อย่างที่มักจะใช้กันเช่นนั้นเลย

จำไว้สั้นๆ “มีบัตรไม่ต้องมีใบ มีใบไม่ต้องมีบัตร

ถ้าอยากจะใช้คำว่า “ใบ” ก็ใช้ว่า “ใบมรณะ”

แต่ถ้าไม่อยากใช้แบบนั้น ก็ใช้ว่า “มรณบัตร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การเกิดคือใบสมัครตายชัดๆ

: ทุกคนพกมรณบัตรมาตั้งแต่เกิด

#บาลีวันละคำ (3,005)

3-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย