สุวรรณภูมิ [2] (บาลีวันละคำ 3,013)
สุวรรณภูมิ [2]
แผ่นดินทองก็เป็นรองแผ่นดินธรรม
อ่านว่า สุ-วัน-นะ-พูม
ประกอบด้วยคำว่า สุวรรณ + ภูมิ
(๑) “สุวรรณ”
บาลีเป็น “สุวณฺณ” อ่านว่า สุ-วัน-นะ ประสมกันขึ้นจาก สุ + วณฺณ
(ก) “สุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ดี, งาม, ง่าย
(ข) “วณฺณ” (วัน-นะ) รากศัพท์มาจาก วณฺณฺ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + อ (อะ) ปัจจัย
: วณฺณ + อ = วณฺณ (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แสดงออก”
“วณฺณ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :
(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)
(1) สี (colour)
(2) รูปร่าง (appearance)
(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)
(4) ความงาม (beauty)
(5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)
(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)
(7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)
(8) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)
(9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)
(10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)
(11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)
บาลี “วณฺณ” สันสกฤตเป็น “วรฺณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วรฺณ : (คำนาม) ‘วรรณ,’ ชาติ, วรรค, จำพวก, พวก; สี; เครื่องตกแต่งช้าง; ลักษณะ, คุณสมบัติ; เกียรติ, ประสิทธิ; สดุดี; สุวรรณ; พรต; การจัดเพลงหรือกาพย์; ราคินีหรือคีตวิธา; โศภา, ความงาม; เครื่องแต่งตัวลคร; สุคนธ์; อักษร; รูป, ทรง; เภท, ประเภท; a trible, a class, caste, an order; colour, tint; an elephant’s housings, quality, property; fame, celebrity; praise; gold; religious observance; the arrangement of a song or poem; a musical mode; beauty, luster; theatrical dress or embellishment; perfume; a letter of the alphabet; form; figure; sort, kind.”
สุ + วณฺณ = สุวณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สีดี” หรือ “สีงาม” หมายถึง ทองคำ (gold)
“สุวณฺณ” สันสกฤตเป็น “สุวรฺณ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “สุวรรณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุวรรณ, สุวรรณ– : (คำนาม) ทอง. (ส. สุวรฺณ; ป. สุวณฺณ).”
(๒) “ภูมิ”
บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย
: ภู + มิ = ภูมิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)
ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ภูมิ” เหมือนบาลี ถ้าอยู่ท้ายคำอ่านว่า พูม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า พู-มิ-
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ภูมิ” ในภาษาไทยไว้ว่า (1) แผ่นดิน, ที่ดิน (2) พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้ (3) สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย
ในที่นี้ “ภูมิ” หมายถึง แผ่นดิน, ที่ดิน
สุวณฺณ + ภูมิ = สุวณฺณภูมิ (สุ-วัน-นะ-พู-มิ) แปลความได้หลายนัย เช่น –
(1) ดินแดนแห่งทองคำ = แดนทอง, ถิ่นทอง
(2) แผ่นดินอันมีค่าดุจทองคำ = แผ่นดินทอง
(3) ดินแดนที่สวยงาม = ถิ่นงาม
อภิปรายขยายความ :
ในคัมภีร์กล่าวถึง “สุวณฺณภูมิ” ไว้หลายแห่ง เมื่อเอาชมพูทวีปเป็นต้นทางการเดินทางไปยังสุวรรณภูมิต้องไปทางเรือ คัมภีร์มโนรถปูรณี (อรรถกถาแห่งคัมภีร์อังคุตรนิกายในพระไตรปิฎก) ระบุว่า จากลังกาทวีป (ศรีลังกา) ถึงสุวรรณภูมิระยะทางประมาณเจ็ดร้อยโยชน์
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า ดินแดนที่เรียกว่า “สุวณฺณภูมิ” ก็คือเอเชียอาคเนย์หรือแหลมทอง
“สุวณฺณภูมิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุวรรณภูมิ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุวรรณภูมิ : (คำนาม) ดินแดนแหลมทองซึ่งเชื่อกันว่ามีอาณาบริเวณครอบคลุมพม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์”
ณ วันนี้ ถ้าใครเอ่ยคำว่า “สุวรรณภูมิ” จะต้องเข้าใจกันว่าหมายถึง “สนามบินสุวรรณภูมิ” จะไม่มีใครรู้จักหรือนึกถึง “สุวรรณภูมิ” ที่หมายถึงดินแดนแหลมทองที่เรียกชื่อเช่นนี้มาแต่โบราณกาล
สนามบินสุวรรณภูมิ เรียกชื่อเป็นทางการว่า “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ตั้งอยู่ที่ถนนเทพรัตนและทางพิเศษบูรพาวิถี ในเขตตำบลหนองปรือและตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ห่างจากใจกลางกรุงเทพมหานครประมาณ 25 กิโลเมตร เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2549
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 เวลา 20:30) บอกกล่าวถึงชื่อ “สุวรรณภูมิ” ไว้ดังนี้
…………..
ชื่อสุวรรณภูมิ มีความหมายว่า “แผ่นดินทอง” เป็นชื่อที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2543 โดยใช้แทนชื่อเดิมคือ “หนองงูเห่า” พระองค์เสด็จพระราชดาเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2545
ตัวสะกดชื่อของสนามบินในอักษรโรมัน คือ “Suvarnabhumi” ซึ่งเป็นการสะกดตามหลักการเทียบอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบภาษาบาลีและสันสกฤต มิได้ใช้ระบบการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งจะสะกดได้ว่า “Suwannaphum”
…………..
ข้อสังเกต :
ชื่อ “Suvarnabhumi” ถ้าอ่านตามรูปอักษรที่ปรากฏ ต้องอ่านว่า สุ-วัร-นะ-พู-มิ ไม่ใช่ สุ-วัน-นะ-พูม อย่างที่เราเรียกกัน
คำบาลี “สุวณฺณภูมิ” ถ้าเขียนเป็นอักษรโรมัน สะกดเป็น Suvaṇṇabhūmi (สุ-วัน-นะ-พู-มิ)
โปรดสังเกต –
(1) จุดใต้ n บังคับให้ ṇ เป็น ณ เณร ไม่ใช่ น หนู
(2) ขีดบน u บังคับให้ ū เป็นสระ อู ไม่ใช่สระ อุ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทอง-รับประกันได้ว่าจะไม่อดตาย
: ธรรม-รับประกันได้ว่าจะไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตาย
#บาลีวันละคำ (3,013)
11-9-63