บาลีวันละคำ

Avatar คืออะไรในบาลี (บาลีวันละคำ 3,017)

Avatar

คืออะไรในบาลี

ผู้เขียนบาลีวันละได้เห็นสิ่งที่เรียกกันว่า Avatar และมีผู้เขียนทับศัพท์ว่า อวาตาร์ ก็เกิดความสงสัยว่ามันคืออะไร

เปิดพจนานุกรม สอ เสถบุตร มีคำที่สะกด avatar บอกไว้ดังนี้ –

avatar (แอฝะทา-) n.

อวตาร, การจุติลงมาเกิดในเมืองมนุษย์, ผู้ที่จุติลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ คือ พระราม, การเวียนเกิดเวียนตาย

เมื่อพจนานุกรมฯ บอกว่า avatar คือ “อวตาร” ก็ไม่ต้องสงสัย avatar ก็คือ “อวตาร” ในบาลีสันสกฤตนั่นเอง

อวตาร” เขียนเป็นอักษรโรมันเป็น avatara อ่านว่า อะ-วะ-ตา-ระ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + ตรฺ ธาตุ = ข้าม) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ตรฺ > ตาร)

: อว + ตรฺ = อวตรฺ + = อวตรณ > อวตร > อวตาร แปลตามศัพท์ว่า “การข้ามลง” “ที่เป็นเครื่องข้ามลง

แต่ในคัมภีร์บาลียังไม่พบศัพท์ “อวตาร” คำที่มาจากรากศัพท์เดียวกันที่มีในคัมภีร์ คือ “โอตาร” (โอ-ตา-ระ)

โอตาร” มีกระบวนการทางไวยากรณ์เหมือน “อวตาร” ต่างกันแต่แปลง “อว” เป็น “โอ

: อว + ตรฺ = อวตรฺ + = อวตรณ > อวตร > อวตาร > โอตาร

อว” แปลง เป็น “โอ” พบได้ทั่วไปในบาลี หรือจะกล่าวก็ได้ว่า อุปสรรคคำนี้มี 2 รูป เป็น “อว” รูปหนึ่ง เป็น “โอ” อีกรูปหนึ่ง ในที่นี้บาลีใช้รูป “โอ

โอตาร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) จุติ, การเข้าถึง, ใกล้เข้ามา (descent to, approach to, access)

(2) โอกาส, จังหวะ (chance, opportunity)

(3) การเข้าถึง (access)

(4) ความโน้มเอียงไปทาง, ความเป็นกันเอง, ความคุ้นเคย, การเข้าใกล้ (inclination to, being at home with, approach, familiarity)

(5) แสวงหาอะไรบางอย่าง, สอดแนม, เสาะหา; โทษ, ความผิด, มลทินหรือการตำหนิข้อบกพร่อง, ช่องโหว่ (being after something, spying, finding out; fault, blame, defect, flaw)

บาลี “โอตาร” สันสกฤตใช้เป็น “อวตาร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อวตาร : (คำนาม) การจุติของเทพดา; การเอาร่างของพระวิษณุ; (คำเยินยอ) ‘พระอวตาร,’ ผู้เลื่อมใสหรือสูงศักดิ์; descent of a deity from heaven; incarnation of Vishṇu; (a flattery) ‘Avatāra,’ a pious or distinguished person.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

อวตาร : (คำกริยา) แบ่งภาคมาเกิดในโลก (ใช้แก่พระนารายณ์) เช่น พระนารายณ์อวตารเป็นปลา. (ส.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

อวตาร : การลงมาเกิด, การแบ่งภาคมาเกิด, เป็นความหมายในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เช่น พระนารายณ์อวตาร คือแบ่งภาคลงมาจากสวรรค์มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นต้น.”

…………..

อภิปราย :

บาลีสันสกฤตกับภาษาอังกฤษนั้น นักภาษาเรียกว่าเป็นภาษาในตระกูล Indo-European languages คือมีรากคำเดียวกัน แต่รูปคำอาจแปลกกันออกไป

Avatar กับ Avatara เป็นตัวอย่าง

ถ้าพูดแบบเข้าข้างกัน ก็อาจบอกว่า Avatar ในคำอังกฤษก็เอาไปจาก Avatara ในบาลีสันสกฤตนั่นเอง

คนไทยเราคุ้นกับบาลีสันสกฤตและเอาบาลีสันสกฤตมาใช้เป็นคำไทยมากมาย Avatara เราก็เอามาใช้เป็น “อวตาร” ออกเสียงว่า อะ-วะ-ตาน

แต่พอมีผู้นำคำว่า Avatar มาพูด คนไทยสมัยนี้ไม่ได้นึกถึงคำว่า “อวตาร” และส่วนมากก็ไม่ได้นึกด้วยว่า Avatar ก็คือ Avatara ในบาลีสันสกฤตนั่นเอง

คำทับศัพท์ที่เห็นเขียนกันก็เขียนเป็น อวาตาร์ ได้ยินหลายคนออกเสียงเป็น อะ-วา-ต้า ด้วยซ้ำไป

กลิ่นน้ำพริกปลาทูไม่มี

กลิ่นโรตีเหือดระเหย

กลิ่นนมเนยเข้ามาแทน

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ยินเสียงแว่วๆ แต่ดังกระหึ่มมาแต่ไกลว่า “ทุกอย่างเป็นอนิจจัง พระพุทธศาสนาสอนว่า อย่ายึดมั่นถือมั่น”

แล้วก็เห็นภาพผู้คนนั่งกอดเข่านิ่งเฉยทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ทุกคนภาวนาว่า “ทุกอย่างเป็นอนิจจัง”

แล้วก็พลันนึกถึงความเชื่อในบางศาสนาที่ว่า เมื่อโลกเกิดกลียุคทุกข์เข็ญ พระเป็นเจ้าจะอวตารลงมาปราบยุคเข็ญเป็นคราวๆ ไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การลงมือแก้ปัญหาด้วยสติปัญญาของมนุษย์

ในที่สดอาจจะเป็นความสูญเปล่า

: แต่การนั่งกอดเข่ารอให้ผู้มีบุญอวตารลงมาดับเข็ญ

ไม่ใช่เป็นแค่ “อาจจะ-” แต่หายนะแน่นอน

#บาลีวันละคำ (3,017)

15-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย