ผลาผล (บาลีวันละคำ 3,031)
ผลาผล
คือผลอะไร
อ่านว่า ผะ-ลา-ผน
(ไม่ใช่ ผะ-หฺลา-ผน อย่างที่หลายคนคิด)
ประกอบด้วยคำว่า ผล + อผล
(๑) “ผล”
บาลีอ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: ผลฺ + อ = ผล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร”
“ผล” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)
(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)
(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)
ในที่นี้ “ผล” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)
บาลี “ผล” สันสกฤตก็เป็น “ผล”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ผล : (คำนาม) ‘ผล,’ ผลทั่วไป; ผล, อวสาน; บุณโยทัย, สมบัทหรือความรุ่งเรือง; ลาภ, กำไร; รางวัล; โล่; ใบพร้า; หัวลูกศร; ผลจันทน์เทศ; ฤดูของสตรี; ทาน, การให้; ผาล; คุณย์; ผลที่ได้จากการหาร; เนื้อที่ในวงก์กลม, เกษตรผลหรือเนื้อนา, ฯลฯ; สมีกรณ์, สามยะ, หรือบัญญัติตราชู; fruit in general; fruit, result or consequence; prosperity; gain, profit; reward; a shield; the blade of a knife; the head of an arrow; a nutmeg; the menstrual discharge; gift, giving; a ploughshare; the quotient of a sum; the area of a circle, the area of the field, &c.; an equation.”
“ผล” ในภาษาไทยอ่านว่า ผน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่าเป็นคำนาม มาจากบาลีสันสกฤต บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(๑) ส่วนของพืชที่เจริญมาจากรังไข่ เช่น ผลมะม่วง ผลมะปราง.
(๒) สิ่งที่เกิดจากการกระทำ เช่น ผลแห่งการทำดี ผลแห่งการทำชั่ว.
(๓) ประโยชน์ที่ได้รับ เช่น ทำนาได้ผล เรียนได้ผล.
(๔) ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล, คู่กับ มรรค.
(๕) ลักษณนามเรียกผลไม้ เช่น มะม่วง ๒ ผล มะปราง ๓ ผล.
(๖) จำนวนที่ได้จากการคำนวณ เช่น ๕ กับ ๗ บวกกัน ได้ผลเท่ากับ ๑๒, ผลลัพธ์ ก็ว่า.
(๒) “อผล”
บาลีอ่านว่า อะ-ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก น (ไม่, ไม่ใช่) + ผล แปลง น เป็น อ ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ– เช่น –
: น + มนุสฺส = นมนุสฺส > อมนุสฺส > อมนุษย์ (ไม่ใช่มนุษย์)
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน– เช่น
: น + อาคต (มาแล้ว) = นอาคต > อนาคต (ยังไม่มา, ยังมาไม่ถึง)
ในที่นี้ “ผล” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงต้องแปลง น เป็น อ
: น + ผล = นผล > อผล แปลตามศัพท์ว่า “ไม่ใช่ผล” คือไม่ใช่ผลไม้
ผล + อผล = ผลาผล (ผะ-ลา-ผะ-ละ) แปลตามศัพท์ว่า “ผลไม้และไม่ใช่ผลไม้”
ขยายความ :
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ผลาผล” ว่า all sorts of fruit, lit. what is not [i. e. unripe], fruit without discrimination (ผลไม้ทุกชนิด, ตามตัว. สิ่งที่ไม่ [คือไม่สุก], ผลที่ปราศจากการเลือกเฟ้น)
นักเรียนบาลีของไทยนิยมแปล “ผลาผล” ว่า “ผลน้อยและผลใหญ่” (หรือ “ผลใหญ่และผลน้อย”) หมายถึง ผลไม้ทุกชนิด
คำว่า “ผลาผล” ตามรูปศัพท์แปลว่า “ผลไม้และไม่ใช่ผลไม้” ถ้าสมมุติว่ามีคนไปเที่ยวเก็บผลไม้ในป่า แล้วพูดว่า “เที่ยวเก็บผลาผล” ก็น่าจะหมายความว่า เก็บผลไม้และ “ของอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผลไม้”
แต่ตามสำนวนบาลีหาได้มุ่งจะแสดงความหมายเช่นนั้นไม่ หากแต่หมายถึง เก็บเฉพาะผลไม้ และเก็บผลไม้ทุกชนิดที่จะพึงเก็บได้ ไม่ใช่เก็บสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ผลไม้
ด้วยเหตุนี้ นักเรียนบาลีจึงแปล “ผลาผล” ว่า “ผลน้อยและผลใหญ่” (หรือ “ผลใหญ่และผลน้อย”) ซึ่งหมายถึง ผลไม้ทุกชนิด ไม่ได้หมายถึง “ผลไม้และสิ่งที่ไม่ใช่ผลไม้” ตามรูปศัพท์ที่ตาเห็น
ตามคำแปลดังนี้ชวนให้เข้าใจว่า “ผล” หมายถึง ผลไม้ใหญ่ๆ “อผล” หมายถึง ผลไม้น้อยๆ แต่พึงทราบว่า เวลาแปลไม่ได้แยกคำแยกความหมายแบบนั้น หากแต่รวมทั้งศัพท์นั่นแหละจึงจะมีความหมายว่า “ผลไม้ใหญ่น้อย” ซึ่งหมายถึงผลไม้ทุกชนิด และ “อ-” ในคำว่า “อผล” ก็ไม่ได้แปลว่า “น้อย” (หรือ “ใหญ่”) ตามความหมายเมื่อแปลทั้งศัพท์
คำว่า “อผล” ในสำนวนบาลีนิยมใช้เมื่อพูดรวมกับ “ผล” คือ ผล + อผล = ผลาผล ไม่พบที่ใช้ “อผล” เดี่ยวๆ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ผลาผล : (คำนาม) ลูกไม้ใหญ่น้อย. (ป.).”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าอ่านคำเพียงแค่ที่ตายล
: อย่าอ่านคนเพียงแค่เขาพูดไม่กี่คำ
#บาลีวันละคำ (3,031)
29-9-63