บาลีวันละคำ

เสขิยวัตร (บาลีวันละคำ 3,067)

เสขิยวัตร

75 ใน 227

ศีลของพระภิกษุที่มาในพระปาติโมกข์ ซึ่งพระต้องประชุมกันฟังทุกกึ่งเดือน มีจำนวนที่รู้ทั่วกันว่า “227 สิกขาบท” ดังที่มักพูดกันว่า “พระมีศีล 227”

ศีล 227 แบ่งเป็นกลุ่มหรือเป็นหมวดได้ดังนี้ –

(๑) ปาราชิก 4 สิกขาบท

(๒) สังฆาทิเสส 13 สิกขาบท

(๓) อนิยต 2 สิกขาบท

(๔) นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 สิกขาบท (เรียกสั้นว่า นิสสัคคีย์)

(๕) สุทธิกปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท (เรียกสั้นว่า ปาจิตตีย์)

(๖) ปาฏิเทสนียะ 4 สิกขาบท

(๗) เสขิยะ หรือเสขิยวัตร 75 สิกขาบท

(๘) อธิกรณสมถะ 7 สิกขาบท

รวม 227 สิกขาบท

เสขิยวัตร” เป็น 75 ใน 227

คำว่า “เสขิยวัตร” อ่านว่า เส-ขิ-ยะ-วัด ประกอบด้วย เสขิย + วัตร

(๑) “เสขิย

อ่านว่า เส-ขิ-ยะ คำเดิมมาจาก เสข + อิย ปัจจัย

(ก) “เสข” รากศัพท์มาจาก สิกฺขฺ (ธาตุ = ศึกษา, ฝึกหัด) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ สิ-(กฺข) เป็น เอ แล้วลบ กฺ (สิกฺขฺ > เสกฺข > เสข)

: สิกฺขฺ + = สิกฺขณ > สิกฺข > เสกฺข > เสข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ศึกษาอยู่” หมายถึง

(1) เกี่ยวด้วยการฝึกอบรม, ยังต้องศึกษา, ยังไม่สมบูรณ์ (belonging to training, in want of training, imperfect)

(2) ผู้ยังต้องศึกษา แสดงถึงผู้ที่ยังมิได้บรรลุพระอรหันต์ (one who has still to learn, denotes one who has not yet attained Arahantship)

(ข) เสข + อิย ปัจจัย

: เสข + อิย = เสขิย แปลว่า “กฎที่พึงศึกษา” หมายถึง กฎเกณฑ์เกี่ยวเนื่องกับการฝึกอบรม (rule connected with training)

(๒) “วัตร

(1) บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = ถือเอา, ประพฤติ) + (อะ) ปัจจัย

: วตฺต + = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ควรถือประพฤติ

(2) บาลีเป็น “วต” (วะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(ก) วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: วตฺ + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การที่เป็นไปตามปกติ

(ข) วชฺ (ธาตุ = ปรุงแต่ง, กระทำ) + (อะ) ปัจจัย, แปลง เป็น

: วชฺ > วต + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การอันเขาปรุงแต่ง

วตฺต” หรือ “วต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัตร” หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน (observance, vow, virtue, that which is done, which goes on or is customary, duty, service, custom, function)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัตร, วัตร– : (คำนาม) กิจพึงกระทํา เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น, หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ, ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร; ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร, การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร, การจำศีล. (ป. วตฺต; ส. วฺฤตฺต).”

เสขิย + วตฺต = เสขิยวตฺต > เสขิยวัตร แปลว่า “วัตรที่พึงศึกษา

คำว่า “ศึกษา” หรือ “สิกขา” ในพระพุทธศาสนามิได้หมายความเพียงแค่ว่าเรียนให้รู้ไว้ แต่หมายถึงเรียนให้เข้าใจชัดแล้วปฏิบัติให้ได้จริง

เสขิยวัตร” นี้เรียกเป็น “เสขิยะ” ด้วย

ขยายความ :

หนังสือ “วินัยมุข เล่ม ๑” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตอนอธิบายเสขิยะมีข้อความเบื้องต้นดังนี้ –

…………..

ศัพท์นี้เป็นชื่อของธรรมที่ได้แก่วัตร หรือธรรมเนียมอย่างเดียว แปลว่าควรศึกษา จัดเป็นหมวดได้ ๔ หมวด

หมวดที่ ๑ เรียกว่าสารูป ว่าด้วยธรรมเนียมควรประพฤติในเวลาเข้าบ้าน,

หมวดที่ ๒ เรียกโภชนปฏิสังยุต ว่าด้วยธรรมเนียมรับบิณฑบาตและฉันอาหาร,

หมวดที่ ๓ เรียกธรรมเทสนาปฏิสังยุต ว่าด้วยธรรมเนียมไม่ให้แสดงธรรมแก่บุคคลแสดงอาการไม่เคารพ,

หมวดที่ ๔ เรียกปกิณณกะ ว่าด้วยธรรมเนียมถ่ายอุจจาระปัสสาวะ.

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “เสขิยวัตร” ไว้ดังนี้ –

…………..

เสขิยวัตร : วัตรที่ภิกษุจะต้องศึกษา, ธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทที่ภิกษุพึงสำเหนียกหรือพึงฝึกฝนปฏิบัติ มี ๗๕ สิกขาบท จำแนกเป็น สารูป ๒๖, โภชนปฏิสังยุต ๓๐, ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ๑๖ และปกิณกะคือเบ็ดเตล็ด ๓, เป็นหมวดที่ ๗ แห่งสิกขาบท ในบรรดาสิกขาบท ๒๒๗ ของพระภิกษุ ท่านให้สามเณรถือปฏิบัติด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เมื่อยังอยู่ภายนอก

การศึกษาพระธรรมวินัยเป็นทางเลือก

: แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในพระศาสนาแล้ว

การศึกษาพระธรรมวินัยเป็นหน้าที่

#บาลีวันละคำ (3,067)

4-11-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย