อาราธนา – นิมนฺตน (บาลีวันละคำ 65)
อาราธนา – นิมนฺตน
อ่านว่า อา-รา-ทะ-นา / นิ-มัน-ตะ-นะ
ใช้ในภาษาไทยว่า “อาราธนา” / “นิมนต์” ออกเสียงว่า อา-ราด-ทะ-นา / นิ-มน
ทั้งสองคำนี้ในภาษาไทย ใช้ในความหมายเดียวกัน คือ “การเชื้อเชิญพระสงฆ์ให้ (มา หรือ ไป) ทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง”
แต่ในภาษาบาลี มีความหมายต่างกัน
– “อาราธนา” แปลว่า การทำให้พอใจ (satisfying) การทำให้สำเร็จ (accomplishing) ความพอใจ (satisfaction) ความสำเร็จ (accomplishment)
– “นิมนฺตน” แปลว่า การเชื้อเชิญ (invitation)
ในภาษาไทยยังนิยมแยกใช้ต่างกันอีกเล็กน้อย คือ
“อาราธนา” มักใช้ในภาษาเขียน เช่น “ขออาราธนาพระคุณเจ้าไปเจริญพระพุทธมนต์”
ส่วน “นิมนต์” มักใช้เป็นภาษาพูด เช่นจะใส่บาตร เห็นพระมาจึงบอกท่านว่า “นิมนต์เจ้าค่ะ” (ไม่พูดว่า “อาราธนาเจ้าค่ะ”)
ในภาษาไทย แต่เดิมใช้ว่า “อาราธนา” หรือ “นิมนต์” คำใดคำหนึ่งเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีผู้เอาคำทั้งสองมาใช้ควบกันเป็น “อาราธนานิมนต์” ซึ่งว่ากันตามหลักแล้วก็เป็นการใช้คำซ้ำซ้อนเกินจำเป็น
“อาราธนา–นิมนต์” ภาษาบาลีใช้ได้ทั้งกับนักบวชและฆราวาส
ในภาษาไทย ใช้กับพระสงฆ์เท่านั้น
: นิมนต์พระ ระวัง อย่าพูดว่า “เชิญพระ“
บาลีวันละคำ (65)
9-7-55
อาราธนา อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ความยินดี; ความสำเร็จ.
นิมนฺตน นป.
การนิมนต์, การเชื้อเชิญ.
อาราธนา (ประมวลศัพท์)
การเชื้อเชิญ, นิมนต์, ขอร้อง, อ้อนวอน (มักใช้สำหรับพระสงฆ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์)
นิมนตน์
เชิญ หมายถึงเชิญพระ เชิญนักบวช
อาราธน์, อาราธนา
[อาราด, อาราดทะนา] ก. เชื้อเชิญ, นิมนต์, อ้อนวอน, (ใช้แก่พระภิกษุสามเณรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์); ขอ. (ป., ส.).
นิมนต์
- เชิญ, เชื้อเชิญ, (ใช้แก่พระภิกษุและสามเณร). (ป. นิมนฺต; ส. นิมนฺตฺร).
(พจน.42)
อาราธน –นา (บาลี-อังกฤษ)
(นปุง. และ อิต.) การทำให้พอใจ, การทำให้สำเร็จ; ความพอใจ, ความสำเร็จ satisfying, accomplishing; satisfaction, accomplishment (ตรงกันข้าม วิราธนา ความล้มเหลวหรือไม่สำเร็จ opp. virādhanā failure)
นิมนฺตน
(นปุง.) การนิมนต์, การเชื้อเชิญ invitation