บทความเรื่อง ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย
………………………………….
บทความชุด: ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย
………………………………….
แค่ไหนเรียกว่าลักทรัพย์ (๐๐๖)
……………………
ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสก ต้องปาราชิก
ที่มา: นวโกวาท (ปาราชิก ๔ สิกขาบทที่ ๒)
ต้นเรื่องในพระไตรปิฎก: ทุติยปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑
พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๘๔
……………………
ชาวบ้านผูกวัวให้กินหญ้าที่ทุ่งนาข้างบ้าน ตัวเองเข้าไปทำธุระในบ้าน
ภิกษุรูปหนึ่งผ่านมา คิดจะลักวัว จึงเข้าไปแก้เชือก
สำหรับท่านที่ไม่คุ้นกับการทำนา-เลี้ยงวัว โปรดนึกภาพนะครับ เชือกมี ๒ ปลาย ปลายหนึ่งผูกไว้ที่สายตะพาย (นึกถึงคำว่า “สนตะพาย” ด้วยก็ได้) ควบติดไว้กับคอวัวสำหรับจูงวัว อีกปลายหนึ่งผูกไว้กับหลักในนา
ภิกษุแก้เชือกปลายที่ผูกกับหลัก แล้วจูงวัวไป
เดินไปได้ไม่กี่ก้าว เจ้าของโผล่มาพอดี
ภิกษุรูปนั้นจึงพูดขึ้นว่า วัวมันดึงเชือกหลุด อาตมากำลังจะจูงเอาไปเข้าบ้านให้โยม
จบข่าว
……………………
ถามว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกฐานลักทรัพย์หรือไม่
ถ้าเจ้าของวัวไปแจ้งความว่าภิกษุลักวัว ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้นกฎหมายจะเอาผิดได้หรือไม่
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมา กฎหมายถือว่าความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้วหรือยัง
……………..
เมื่อเป็นเรื่องของภิกษุ ก็ต้องศึกษาจากหลักพระธรรมวินัย
ในคัมภีร์มหาวิภังค์ ทุติยปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก (มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๑๑๔) ท่านแสดงหลักไว้ว่า –
……………..
ปทสา เนสฺสามีติ ปฐมํ ปาทํ สงฺกาเมติ อาปตฺติ ถุลฺลจฺจยสฺส ฯ
ภิกษุคิดว่าจักพาให้เดินไป แล้วให้ก้าวเท้าที่ ๑ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ทุติยํ ปาทํ สงฺกาเมติ อาปตฺติ ถุลฺลจฺจยสฺส ฯ
ให้ก้าวเท้าที่ ๒ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ตติยํ ปาทํ สงฺกาเมติ อาปตฺติ ถุลฺลจฺจยสฺส ฯ
ให้ก้าวเท้าที่ ๓ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จตุตฺถํ ปาทํ สงฺกาเมติ อาปตฺติ ปาราชิกสฺส ฯ
ให้ก้าวเท้าที่ ๔ ต้องอาบัติปาราชิก
……………..
ถ้าใครลักทรัพย์ของผู้อื่น ในทางกฎหมายเราเข้าใจกันว่าต้องได้ทรัพย์นั้นไปไว้ในครอบครอง ความผิดจึงจะสำเร็จ
แต่ในกรณีลักสัตว์สี่เท้า-เช่นวัวเป็นต้น หลักฐานทางพระวินัยท่านตัดสินอาบัติปาราชิกข้อนี้ด้วยการที่-เท้าที่ ๔ ของวัวก้าวออกจากที่-เท่านั้น
จากเหตุการณ์ข้างต้น คำว่า “เดินไปได้ไม่กี่ก้าว” ส่อความว่า วัวก้าวเท้าที่ ๔ ไปแล้วอย่างแน่นอน
ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติปาราชิก ฐาน “ถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้” เรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เอาวัวไปครอบครองที่ไหนเลย ทั้งเจ้าของวัวก็มาอยู่ตรงนั้นแล้ว
ลักทรัพย์กรณีเช่นนี้ ท่านใช้เกณฑ์ว่า “ฐานา จาเวติ” = ทำให้เคลื่อนจากฐานครบตามเกณฑ์
สัตว์ ๔ เท้า ท่านว่ามี ๔ ฐานตามจำนวนเท้า
กรณีวัวยืนตัวเปล่าอยู่เฉยๆ ภิกษุคิดจะลัก ทำให้วัวก้าวเท้าออกจากที่ครบ ๔ เท้า จึงต้องอาบัติปาราชิก
ในกรณีที่วัวถูกล่ามตามเรื่องข้างต้น คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก ขยายความไว้ว่า –
พนฺธิตฺวา ฐปิตสฺส จตฺตาโร ปาทา พนฺธนญฺจาติ ปญฺจฏฺฐานานิ ฯ
โคที่เขาผูกไว้ มีฐาน ๕ คือ เท้าทั้ง ๔ และเครื่องผูก
ถ้ายังไม่ได้แก้เชือกที่ล่ามไว้ แม้จะให้วัวขยับขาออกจากที่เดิมแล้ววนอยู่ตรงนั้นสักกี่รอบ ก็ยังไม่ครบองค์ประกอบ
แก้เชือกปุ๊บ เป็นปาราชิกทันที
แต่ถ้าแก้เชือกก่อน (ปกติถ้าจะลักวัวที่เขาล่ามไว้ ขโมยก็ต้องแก้เชือกก่อนอยู่แล้ว) ตอนแก้เชือกยังไม่เป็น
วัวก้าวเท้าที่ ๔ ปุ๊บ เป็นปาราชิก
นี่คือความละเอียดอ่อนของพระธรรมวินัย
ยังมีอีก กรณีวัวไม่ได้ล่าม ถ้าวัวนอนอยู่ ท่านว่า –
นิปนฺนสฺส เอกเมว ฐานํ ฯ
สำหรับโคที่นอนอยู่ มีฐานเดียวเท่านั้น
เถยฺยจิตฺเตน อุฏฺฐาเปนฺตสฺส อุฏฺฐิตมตฺเต ปาราชิกํ ฯ
ภิกษุมีเจตนาจะลัก ไล่ให้วัวลุกขึ้น พอวัวลุกขึ้นเท่านั้นเป็นปาราชิก
ทีนี้กรณีวัวอยู่ในคอก
ถ้าล่ามวัวไว้ในคอก ใช้เกณฑ์เดียวกับวัวนอกคอก คือมีฐาน ๕
แต่ถ้าไม่ได้ล่าม คือปล่อยให้อยู่ในคอกตามสบาย
กรณีอย่างนี้ท่านใช้คอกเป็นฐาน
คือภิกษุจะต้อนวัวให้เดินวนอยู่ในคอกสักกี่รอบก็ไม่เป็นปาราชิก
แต่ทันทีที่ทำให้วัวออกไปพ้นคอก เป็นปาราชิก
ก็ต้องพูดคำเดิม – นี่คือความละเอียดอ่อนของพระธรรมวินัย
……………………
รายละเอียดเรื่องลักทรัพย์ยังมีอีกมาก ยกมาพูดพอเป็นตัวอย่าง
คงจำกันได้ กรณีท่านธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กับปัญหาเรื่องทรัพย์สินของวัด ที่ถกเถียงกันว่าเป็นปาราชิกหรือไม่เป็น
คล้ายๆ กับกรณีพระที่ถูกฟ้อง ต้องเข้าไปอยู่ในคุก เราก็ถกเถียงกันว่ายังเป็นพระอยู่ หรือสึกแล้ว
พวกเราเป็นอันมากถกเถียงกันโดยที่ไม่ได้ศึกษากฎเกณฑ์ของพระธรรมวินัย
จึงต้องขอร้องกันว่า ช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัยหน่อยเถิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระภิกษุสามเณร
การศึกษาพระธรรมวินัยเป็นหน้าที่โดยตรง
เรื่องที่ผมยกมาเสนอเป็นตัวอย่างนี้ สำหรับชาวบ้านย่อมอ้างได้ว่า-จะศึกษาหรือไม่ศึกษาขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคน
ไม่สนใจก็ไม่มีใครว่าอะไร
แต่พระภิกษุสามเณรจะอ้างแบบนั้น หาชอบไม่
จะศึกษาเรื่องอื่นๆ ก็ไม่เป็นไร
แต่ต้องศึกษาพระธรรมวินัยด้วย
และต้องศึกษาในฐานะเป็นวิชาแกน
ไม่ใช่วิชาเลือก
ถ้าพระภิกษุสามเณรไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาพระธรรมวินัย
พระศาสนาก็ไปไม่รอด
รอด ก็ไม่เป็นพระศาสนาที่บริสุทธิ์
และขอความกรุณาอย่าออกรับแทนนะครับว่า – ทุกวันนี้พระภิกษุสามเณรก็ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ ไม่ใช่ไม่ศึกษา
เรียนนักธรรมก็มี
เรียนบาลีก็มี
เรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็มี
จะเอายังไงกับท่านอีกเล่า
ผมยังคงยืนยันว่า เหล่านั้นเป็นการเรียนที่เบี่ยงเบน คือเรียนเพื่อสอบได้ เพื่อเอาใบรับรอง
พอสอบได้แล้ว ได้ใบรับรองแล้ว ก็เลิก
ระหว่างที่เรียน ก็ได้ความรู้ไปด้วย อันนี้ไม่เถียง
แต่เพราะเจตนาของการเรียนอยู่ที่สอบได้หรือสอบผ่าน ความรู้เป็นแค่ผลพลอยได้ ดังนั้นพอสอบผ่านแล้ว ส่วนมากก็ลืม
อย่างที่พูดล้อๆ กันว่า – ความรู้คืนครูบาอาจารย์ไปหมดแล้ว
ทดสอบง่ายๆ ตัวอย่างการลักทรัพย์ที่ผมยกมาข้างต้น ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา คัมภีร์นี้ใช้เป็นแบบเรียนของหลักสูตรบาลีชั้น ป.ธ.๖ และ ป.ธ.๗
ถามท่านที่สอบผ่าน ป.ธ.๖ และ ป.ธ.๗ มาแล้วว่า ยังจำเรื่อง จำกรณี จำประเด็นต่างๆ ได้ดีไหม
ผมเองก็ลืมครับ รับสารภาพ
แต่เพราะใจรัก จึงได้ฟื้นฟูอยู่เนืองๆ
ศึกษาพระธรรมวินัยต้องเรียนแบบฟื้นฟูอยู่เนืองๆ ครับ
ไม่ใช่สอบผ่านแล้วเลิก
แล้วก็ต้องฟื้นฟูแบบ-เป็นกิจประจำชีวิต
ไม่ใช่กิจที่ทำในยามว่าง
……………………
ญาติมิตรจะสังเกตได้ว่า ผมพยายามกระตุก กระตุ้น กระทุ้ง กระแทก กระทบ ขอร้องให้พระภิกษุสามเณรตลอดจนคณะสงฆ์เอาใจใส่กับวิชาการทางพระศาสนามาตลอด
เหนื่อยนะครับ
แล้วก็เสี่ยงต่อการถูกเกลียดชังด้วย
เวลานี้ก็ถูกมองว่า-ทำตัวรู้ดีกว่าพระ
ชอบสอนพระ ทั้งๆ ที่มีศีลน้อยกว่าพระ
ซ้ำบอกกันว่า คนแบบผมนี่แหละเป็นอันตรายต่อพระศาสนายิ่งกว่าคนต่างศาสนาเสียอีก
เจ็บนะ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๐ กันยายน ๒๕๖๒
๑๐:๔๔
————–
นิปนฺนสฺส เอกเมว ฐานํ ฯ
สำหรับช้างที่นอนอยู่ มีฐานเดียวเท่านั้น
เถยฺยจิตฺเตน อุฏฺฐาเปนฺตสฺส อุฏฺฐิตมตฺเต ปาราชิกํ ฯ
เมื่อภิกษุไล่ให้ช้างลุกขึ้นด้วยไถยจิต พอช้างลุกขึ้นแล้ว เป็นปาราชิก
สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ ทุติยปาราชิกวัณณนา หน้า ๕๓๖
เคเห พนฺธิตฺวา ฐปิตสฺส จตฺตาโร ปาทา พนฺธนญฺจาติ ปญฺจฏฺฐานานิ ฯ
โคที่เขาผูกขังไว้ใกล้เรือน มีฐาน ๕ คือ เท้าทั้ง ๔ และเครื่องผูก
อพทฺธสฺส สกลํ เคหํ ฯ
เรือนทั้งสิ้นเป็นฐานของโคที่ไม่ได้ผูก
วเชปิ พทฺธสฺส ปญฺจฏฺฐานานิ ฯ
โคที่เขาผูกไว้ในคอกก็มีฐาน ๕
อพทฺธสฺส สกโล วโช ฯ
คอกทั้งสิ้นเป็นฐานของโคที่ไม่ได้ผูก
ตํ วชทฺวารํ อติกฺกาเมติ ปาราชิกํ ฯ
ภิกษุให้โคนั้นล่วงเลยประตูคอกไปต้องปาราชิก
สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ ทุติยปาราชิกวัณณนา หน้า ๕๓๖
———
นักธรรมตรี – นวโกวาท – หน้าที่ 2
ปาราชิกนั้น ภิกษุต้องเข้าแล้วขาดจากภิกษุ. สังฆาทิเสสนั้น
ต้องเข้าแล้ว ต้องอยู่กรรมจึงพ้นได้. อาบัติอีก ๕ อย่างนั้น ภิกษุ
ต้องเข้าแล้ว ต้องแสดงต่อหน้าสงฆ์หรือคณะหรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจึง
พ้นได้.
ปาราชิก ๔
๑. เสพเมถุน ต้องปาราชิก.
๒. ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสก
ต้องปาราชิก.
๓. ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก.
๔. ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรม ( คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ) ที่
ไม่มีในตน ต้องปาราชิก.
——–
ตะพาย
ก. แขวนบ่า, ห้อยเฉียงบ่า, เช่น ตะพายย่าม, สะพาย ก็ว่า; เรียกกิริยาที่เอาเชือกร้อยช่องจมูกวัวควายที่เจาะว่า สนตะพาย, ใช้โดยปริยายแก่คนว่า ถูกสนตะพาย หรือ ยอมให้เขาสนตะพาย หมายความว่า ถูกบังคับให้ยอมทำตามด้วยความจำใจ ความหลง หรือความโง่เขลาเบาปัญญา; เรียกเชือกที่ร้อยจมูกวัวควายว่า สายตะพาย.น. ช่องจมูกวัวควายที่เจาะสําหรับร้อยเชือก; เรียกลายที่เป็นทางแต่จมูกขึ้นไปทั้ง ๒ ข้างแห่งนกกระทา.