บทความเรื่อง ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย
………………………………….
บทความชุด: ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย
………………………………….
ปราภวสูตร : สูตรสำหรับตรวจสุขภาพชีวิต (๐๐๘)
—————————————-
ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ มีคัมภีร์หนึ่งชื่อ สุตตนิบาต
ในคัมภีร์สุตตนิบาตมีพระสูตรหนึ่งชื่อ ปราภวสูตร
ปราภวสูตรเป็นพระสูตรคู่แฝดกับมงคลสูตร
ผมเชื่อว่า ความข้อนี้ชาวพุทธในเมืองไทยส่วนมากไม่เคยรู้มาก่อน
มงคลสูตรนั้นเรารู้จักกันดี พอขึ้นว่า – อะเสวะนา จะ พาลานัง คนส่วนมากก็ย่อมจะคุ้นหู นั่นคือมงคลข้อแรกในมงคลสูตร
………………..
แวะนิดหนึ่งครับ – มีข้อสังเกต
สมัยผมเป็นเด็กวัด – (นี่ก็เห็นทีจะเป็นประโยคประจำตัวผม) – จำได้ว่า เวลาสวดมงคลสูตร พระสมัยโน้นท่านจะขึ้นต้นด้วย “เอวัมเม สุตัง” อันเป็นคำเริ่มต้นพระสูตรทั้งปวง
ต่อมา “เอวัมเม สุตัง” ก็ถูกตัดออก มาขึ้นต้นที่ “พะหู เทวา …”
ครั้นมาถึงทุกวันนี้ “พะหู เทวา …” ก็ถูกตัดออกไปอีก ขึ้นมงคลสูตรกันที่ “อะเสวะนา จะ พาลานัง” เลยทีเดียว
ผมขอพยากรณ์ไว้ว่า อีกไม่เกิน ๒๐ ปี พระสมัยหน้าโน้นจะขึ้นบทมงคลสูตรที่ “เอตาทิสานิ กัต๎วานะ” อันเป็นคาถาสุดท้าย
เวลานี้บทสวดมนต์ต่างๆ ถูกตัดถูกลดลงไปอย่างน่าใจหาย
อ้างว่า เวลาจำกัด จะต้องรีบไปทำกิจนั่นนี่โน่น
อย่างบท “ธชัคคสูตร” (พระสูตรยอดธง) เวลานี้พระในเมืองไทยแทบจะสวดไม่ได้อยู่แล้ว ทั้งๆ ที่เป็นพระสูตรไม่ยาวเท่าไร เพราะตัดบทเต็มของพระสูตรออกไปหมด เจาะสวดเอาเฉพาะพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ที่ท่านแทรกสอดไว้ในธชัคคสูตร
เวลานี้ไปฟังสวดมนต์ที่งานบุญไหนๆ ญาติโยมไม่ได้ยินคำว่า … ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา … กันอีกแล้ว เพราะพระท่านไม่สวด
ที่ไม่สวดก็เพราะสวดไม่ได้
ที่สวดไม่ได้ ก็เพราะไม่ได้ท่อง
พระศาสนาเสื่อมลงไปต่อหน้าต่อตากันเลยทีเดียว
พระคุณเจ้ารูปไหนมาได้อ่านเรื่องนี้ แล้วเกิดอุตสาหะฟื้นฟูท่องบ่นบทสวดมนต์ฉบับเต็มๆ ขึ้นมา กระผมจะกราบเท้าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง
………………..
ไปต่อ
ต้นเหตุที่พระพุทธเจ้าตรัสมงคลสูตรก็คือ เทวดาสงสัยว่าอะไรคือมงคล จึงชวนกันมาเฝ้าทูลถามพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ตรัสข้อปฏิบัติ ๓๘ ประการ ว่านี่แลคืออุดมมงคล (เอตัมมังคะละมุตตะมัง)
เทวดาได้ฟังมงคล ๓๘ แล้วก็ชื่นใจกลับไปสวรรค์
กลับไปแล้ว เกิดฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสมงคลอันเป็นเหตุแห่งความเจริญ แล้วเหตุแห่งความเสื่อมเล่าคืออะไร
วันรุ่งขึ้นเทวดาก็พากันมาเฝ้าอีก คราวนี้ทูลถามถึงความเสื่อมและเหตุแห่งความเสื่อม
พระพุทธองค์จึงได้ตรัสปราภวสูตร – พระสูตรอันว่าด้วยความเสื่อม
ที่ว่ามานี้กล่าวความตามที่คัมภีร์ชั้นอรรถกถาท่านอธิบายไว้
ผมจึงว่า ปราภวสูตรเป็นพระสูตรคู่แฝดกับมงคลสูตร
แต่น่าแปลก เรารู้จัก “มงคลสูตร”-เหตุแห่งความเจริญกันเป็นอย่างดี
แต่แทบจะไม่มีใครเคยได้ยินชื่อ “ปราภวสูตร”-เหตุแห่งความเสื่อม
พระสงฆ์ท่านสวดมงคลสูตรกันทั่วไป ชาวบ้านที่ชอบสวดมนต์ก็สวดได้กันมาก
แต่พระท่านไม่เคยเอาปราภวสูตรมาสวดเลย ไม่ว่าจะสวดกันเองหรือสวดให้ชาวบ้านฟัง
สาเหตุหนึ่งคงจะเป็นเพราะมองกันไปว่า-เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยความเสื่อม ไม่เป็นที่เจริญใจ
ถ้าเทียบกับมงคลสูตร ปราภวสูตรก็เท่ากับอวมงคลหรืออัปมงคล – คงจะคิดแบบนี้ จึงไม่สวด
ผมว่าเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง
ถ้าเปรียบเทียบมงคลสูตรว่าเป็นการบำรุงสุขภาพ
ปราภวสูตรก็เปรียบเหมือนการตรวจสุขภาพ
เรานิยมตรวจสุขภาพกันทั่วไป เพื่อจะได้รู้ว่าร่างกายยังเป็นปรกติดี หรือว่ามีโรคอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้าตรวจพบอะไรผิดปรกติ ก็จะสามารถป้องกันแก้ไขได้ทันท่วงที
ปราภวสูตรเป็นพระสูตรแสดงเหตุแห่งความเสื่อมของการครองชีวิต จึงควรที่จะนำมาสวดสาธยาย เป็นการตรวจสอบสุขภาพชีวิตว่า เราได้ไปกระทำการใดๆ อันเป็นทางแห่งความเสื่อมเข้าบ้างหรือเปล่า
ถ้ากำลังทำอยู่ ก็จะได้หยุดยั้ง เลิกทำ
ถ้าทำท่าจะเฉียดๆ เข้าไปบ้าง ก็จะได้หลบเลี่ยงหลีกออกห่าง
ไม่ใช่ว่า-มุ่งตะบึงไปหาความเจริญ แต่ลืมระวังความเสื่อม
พระพุทธองค์ตรัสแสดงเหตุ-หรือพฤติกรรมอันเป็นเหตุแห่งความเสื่อมในชีวิตไว้ ๑๒ ข้อ
ถ้าไม่มีเหตุอะไรมาตัดรอน ผมจะพยายามศึกษาแล้วนำมาถ่ายทอดสู่กันฟังในโอกาสต่อไป
แต่ในระหว่างนี้ ญาติมิตรท่านใดสะดวกที่จะศึกษาด้วยตัวเองไปก่อน ก็เชิญได้เลยนะครับ ไม่ต้องรอฟังจากผมท่าเดียว
………………..
ตามไปศึกษาที่ลิงก์นี้ก็ได้ครับ
………………..
สำหรับวัดต่าง กระผมขอเสนอแนะให้พระภิกษุสามเณรท่องบ่นบทสวดปราภวสูตรเพิ่มขึ้นอีกพระสูตรหนึ่ง แล้วบรรจุไว้ในรายการทำวัตรสวดมนต์ประจำวันที่จะมีการสวดพระสูตรต่างๆ หมุนเวียนกันไป เมื่อถึงวาระก็ให้สวดปราภวสูตรเพิ่มขึ้นอีกพระสูตรหนึ่ง
เรื่องอย่างนี้ ถ้าคณะสงฆ์สั่งก็เรียบร้อย
สั่งเช้า สวดเย็นนั้นเลยก็ยังได้ (อิอิ)
แต่โยมเสนอแนะไปลอยๆ อย่างนี้
ยากมากที่พระท่านจะทำตาม
แต่ก็นั่นแหละ – “ลมพัด ใบไม้ไหว”
พูดอะไรออกไป คงมีคนได้ยินบ้าง
สำหรับญาติมิตรทั่วไป โดยเฉพาะท่านที่นิยมสวดมนต์ ผมขอเสนอแนะให้เพิ่มสวดปราภวสูตรเข้าไปอีกพระสูตรหนึ่งในบรรดาบทสวดที่ท่านสวดกันอยู่แล้วเป็นประจำ
เพื่อความสะดวก ผมได้คัดตัวบทพระบาลีปราภวสูตรออกมาจากพระไตรปิฎก จัดทำเป็นบาลีไทยคือเขียนแบบคำอ่าน เพื่อสะดวกแก่การท่องบ่น แนบต่อท้ายโพสต์นี้มาด้วยแล้ว
โปรดมีกำลังใจในการท่องบ่น ในการสวด และในการศึกษาหาความรู้ในพระธรรมวินัย แล้วโปรดอนุโมทนาบุญโดยทั่วกันเทอญ
—————-
ปะราภะวะสุตตัง
เอวัมเม สุตัง ฯ เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม ฯ อะถะโข อัญญะตะรา เทวะตา อะภิกกันตายะ รัตติยา อะภิกกันตะวัณณา เกวะละกัปปัง เชตะวะนัง โอภาเสต๎วา เยนะ ภะคะวา เตนุปะสังกะมิ อุปะสังกะมิต๎วา ภะคะวันตัง อะภิวาเทต๎วา เอกะมันตัง อัฏฐาสิ ฯ เอกะมันตัง ฐิตา โข สา เทวะตา ภะคะวันตัง คาถายะ อัชฌะภาสิ
ปะราภะวันตัง ปุริสัง / มะยัง ปุจฉามะ โคตะมัง
ภะคะวันตัง ปุฏฺฐุมาคัมมะ / กิง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
สุวิชาโน ภะวัง โหติ / สุวิชาโน ปะราภะโว
ธัมมะกาโม ภะวัง โหติ / ธัมมะเทสสี ปะราภะโว ฯ
อิติ เหตัง วิชานามะ / ปะฐะโม โส ปะราภะโว
ทุติยัง ภะคะวา พ๎รูหิ / กิง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อะสันตัสสะ ปิยา โหนติ / สันเต นะ กุรุเต ปิยัง
อะสะตัง ธัมมัง โรเจติ / ตัง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อิติ เหตัง วิชานามะ / ทุติโย โส ปะราภะโว
ตะติยัง ภะคะวา พ๎รูหิ / กิง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
นิททาสีลี สะภาสีลี / อะนุฏฐาตา จะ โย นะโร
อะละโส โกธะปัญญาโณ / ตัง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อิติ เหตัง วิชานามะ / ตะติโย โส ปะราภะโว
จะตุตถัง ภะคะวา พ๎รูหิ / กิง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
โย มาตะรัง ปิตะรัง วา / ชิณณะกัง คะตะโยพพะนัง
ปะหุ สันโต นะ ภะระติ / ตัง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อิติ เหตัง วิชานามะ / จะตุตโถ โส ปะราภะโว
ปัญจะมัง ภะคะวา พ๎รูหิ / กิง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
โย พ๎ราห๎มะณัง สะมะณัง วา / อัญญัง วาปิ วะนิพพะกัง
มุสาวาเทนะ วัญเจติ / ตัง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อิติ เหตัง วิชานามะ / ปัญจะโม โส ปะราภะโว
ฉัฏฐะมัง ภะคะวา พ๎รูหิ / กิง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
ปะหูตะวิตโต ปุริโส / สะหิรัญโญ สะโภชะโน
เอโก ภุญชะติ สาทูนิ / ตัง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อิติ เหตัง วิชานามะ / ฉัฏฐะโม โส ปะราภะโว
สัตตะมัง ภะคะวา พ๎รูหิ / กิง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
ชาติถัทโธ ธะนะถัทโธ / โคตตะถัทโธ จะ โย นะโร
สัญญาติง อะติมัญเญติ / ตัง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อิติ เหตัง วิชานามะ / สัตตะโม โส ปะราภะโว
อัฏฐะมัง ภะคะวา พ๎รูหิ / กิง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อิตถีธุตโต สุราธุตโต / อักขะธุตโต จะ โย นะโร
ลัทธัง ลัทธัง วินาเสติ / ตัง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อิติ เหตัง วิชานามะ / อัฏฐะโม โส ปะราภะโว
นะวะมัง ภะคะวา พ๎รูหิ / กิง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
เสหิ ทาเรหิ อะสันตุฏโฐ / เวสิยาสุ ปะทุสสะติ
ทุสสะติ ปะระทาเรสุ / ตัง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อิติ เหตัง วิชานามะ / นะวะโม โส ปะราภะโว
ทะสะมัง ภะคะวา พ๎รูหิ / กิง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อะตีตะโยพพะโน โปโส / อาเนติ ติมพะรุตถะนิง
ตัสสา อิสสา นะ สุปะติ / ตัง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อิติ เหตัง วิชานามะ / ทะสะโม โส ปะราภะโว
เอกาทะสะมัง ภะคะวา พ๎รูหิ / กิง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อิตถิง โสณฑิง วิกีริณิง / ปุริสัง วาปิ ตาทิสัง
อิสสะริยัส๎มิง ฐะเปติ / ตัง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อิติ เหตัง วิชานามะ / เอกาทะสะโม ปะราภะโว
ท๎วาทะสะมัง ภะคะวา พ๎รูหิ / กิง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
อัปปะโภโค มะหาตัณโห / ขัตติเย ชายะเต กุเล
โส จะ รัชชัง ปัตถะยะติ / ตัง ปะราภะวะโต มุขัง ฯ
เอเต ปะราภะเว โลเก / ปัณฑิโต สะมะเวกขิยะ
อะริยะทัสสะนะสัมปันโน / สะ โลกัง ภะชะเต สิวันติ ฯ
————–
* เครื่องหมาย / หมายถึงให้หยุดนิดหนึ่ง เพราะเป็นข้อความคนละวรรคกัน
…………
ที่มา: ปราภวสูตร สุตตนิบาต ขุทกนิกาย
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๓๐๓-๓๐๔
…………
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๔ ตุลาคม ๒๕๖๒
๑๓:๔๙