โกญจนาท (บาลีวันละคำ 3,692)
โกญจนาท
ช้างร้อง ทำไมไปพ้องกับนกกระเรียน
อ่านว่า โกน-จะ-นาด
ประกอบด้วยคำว่า โกญจ + นาท
(๑) “โกญจ”
เขียนแบบบาลีเป็น “โกญฺจ” (มีจุดใต้ ญฺ) อ่านว่า โกน-จะ รากศัพท์มาจาก โกญฺจฺ (ธาตุ = คด) + อ (อะ) ปัจจัย
: โกญฺจฺ + อ = โกญฺจ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “นกที่คด” (คือมีร่างกายคด คอคด) หมายถึง นกกระเรียน (the heron)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โกญจ-, โกญจา : (คำแบบ; คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำนาม) นกกระเรียน เช่น แขกเต้าดุเหว่าแก้ว โกญจา. (โลกนิติ). (ป.).”
หมายเหตุ :
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรากศัพท์ของ “โกญฺจ” ว่า + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = โกญฺจา
(๒) “นาท”
บาลีอ่านว่า นา-ทะ รากศัพท์มาจาก นทฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ น-(ทฺ) เป็น อา (นทฺ > นาท)
: นทฺ + ณ = นทณ > นท > นาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การส่งเสียง” หมายถึง เสียงดัง, เสียงร้องคำราม, คำราม (loud sound, roaring, roar)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นาท : (คำนาม) ความบันลือ; เสียงบันลือ, เสียงร้อง. (ป., ส.).”
โกญฺจ + นาท = โกญฺจนาท (โกน-จะ-นา-ทะ) แปลว่า (1) “เสียงร้องของช้างชื่อว่าโกญจนาท” (2) “เสียงร้องเหมือนเสียงนกกระเรียน” หมายถึง เสียงช้างร้อง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โกญฺจนาท” ว่า the trumpeting of an elephant [“the heron’s cry”] (เสียงร้องของช้าง [“เสียงนกกระเรียนร้อง”])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โกญจนาท : (คำนาม) การบันลือเสียงเหมือนนกกระเรียน, ความกึกก้อง, (โดยมากใช้แก่เสียงช้าง). (ป.).”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า trumpeting คือ trumpet ที่นักเป่าแตรมักเรียกทับศัพท์ว่า ทรัมเพ็ท (นักเป่าแตรรุ่นเก่าลากเสียงแบบไทยว่า ตะลุ่มเป็ด) พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลเป็นไทยในความหมายหนึ่งว่า “ร้องอย่างช้าง, แปร้นเสียง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “แปร้นแปร๋” บอกไว้ว่า “เสียงดังแหลมอย่างเสียงช้างร้องเมื่อโกรธหรือตกใจ”
เป็นอันว่าคำแปล “โกญฺจนาท” ที่ฝรั่งแปลว่า the trumpeting ไม่ได้เอ่ยอ้างพาดพิงถึงนกกระเรียน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความคิดเห็นไว้ตอนหนึ่งเป็นนัยๆ ว่า คำว่า “โกญฺจ” ดูจะกลมกลืนกับคำว่า “กุญฺช” หรือ “กุญฺชร” ที่เราคุ้นกันดีว่าหมายถึง ช้าง
บางที “โกญฺจนาท” อาจจะเพี้ยนมาจาก “กุญฺชนาท” ที่แปลตรงตัวว่า “เสียงช้างร้อง” นั่นเอง ทำนองเดียวกับ “สีหนาท” ที่หมายถึง “สิงห์คำราม” ที่เราเอามาพูดว่า บันลือสีหนาม แต่ “สีหนาท” หรือ “สิงหนาท” ไม่เพี้ยนเป็นอย่างอื่น ยังคงเป็นสีหะหรือสิงห์
ส่วน “กญฺชนาท” เดิมก็คงแปลตรงตัวว่า “เสียงช้างร้อง” แต่ฟังเพี้ยนเขียนพลาดกลายเป็น “โกญฺจนาท” รูปคำไปพ้องกับ “โกญฺจ” ที่แปลว่า นกกระเรียน จากเดิม “เสียงช้างร้อง” ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับนกกระเรียนเลย ก็เลยต้องแปลคล้อยตามรูปศัพท์ว่า “ร้องเหมือนนกกระเรียน” แล้วก็พยายามอธิบายไปว่า นกกระเรียนร้องเสียงอย่างไร ช้างเวลาเกิดอารมณ์ก็ร้องเสียงอย่างนั้น
ก็คงต้องให้ผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์เคยฟังเสียงช้างร้องและเคยฟังนกกระเรียนร้องมายืนยันว่า เสียงช้างร้องโกญจนาทเหมือนเสียงนกกระเรียนจริงๆ ไม่ใช่แปลลากเข้าหาศัพท์
ช้างคงไม่ต้องอาศัยคะแนนเสียงนกกระเรียนดอกกระมัง?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คะแนนเสียงอาจมีได้ด้วยการวิ่งหา
: แต่ชีวิตที่มีคุณค่ามีได้ด้วยการลงมือทำเอง
#บาลีวันละคำ (3,692)
22-7-65
…………………………….
…………………………….